คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

หลังคลอด ลูกควรโกนผมไฟไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในประเพณีไทยจะมีการโกนผมไฟให้กับทารกเมื่ออายุราว 1 เดือน โดยมีความเชื่อเรื่องทารกจะเลี้ยงง่าย มีความเจริญก้าวหน้า และมีผมที่ดกดำขึ้น เนื่องจากความเชื่อที่ว่าผม คิ้ว เล็บที่มีมาตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์เป็นสิ่งไม่สะอาด เมื่อทารกอายุครบเดือนและมีฤกดิ์ดี ครอบครัวจะตั้งชื่อให้กับทารก ทำการโกนผมไฟ ตัดเล็บมือเล็บเท้า ซึ่งเชื่อว่าหลังผ่านพิธี ทารกจะเป็นลูกคนโดยสมบูรณ์ โดยเบื้องหลังความเชื่อเหล่านี้อาจมาจากการดูแลผมทารกแรกอาจทำได้ไม่สะอาด จึงเป็นแหล่งสะสมของไรและเชื้อโรค ร่วมกับอัตราการเสียชีวิตของทารกก่อนหนึ่งเดือนในสมัยก่อนสูง เมื่อครบหนึ่งเดือนจึงจัดพิธีที่เป็นสิริมงคลแก่ทารกรวมทั้งอาจมีการตั้งชื่อให้ทารก ในปัจจุบันการดูแลความสะอาดของทารกทำได้ดีและถูกสุขลักษณะ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการโกนผมไฟ สำหรับข้อเสียของการโกนผมไฟที่มี ได้แก่ การโกนผมไฟหากโกนไม่ดีเกิดบาดแผล อาจทำให้ทารกมีการติดเชื้อได้ และผมของทารกโดยปกติทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิให้แก่ศีรษะทารก เมื่อโกนแล้ว หากเป็นฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเย็น อาจทำให้ทารกเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ ในระหว่างการจัดงาน หากมีคนแออัด ทารกจะมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากบุคคลที่มาร่วมงานได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงพิธีกรรม การเตรียมการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารก จะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับทารกได้1  

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ลูกจะหิวน้ำไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                หลังคลอดที่โรงพยาบาล แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จะแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน มารดาบางคนอาจสงสัยว่า ลูกกินนมแม่อย่างเดียว จะหิวน้ำไหม จึงเตรียมน้ำใส่ขวดไว้ให้ลูกกินสลับกับการกินนม ซึ่งความเชื่อนี้เป็นความเข้าใจผิดเนื่องจากในนมแม่มีปริมาณที่สูงอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อทารกกินนมแม่จะได้รับปริมาณน้ำที่เพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องกินน้ำเพิ่ม การให้ลูกกินน้ำจะทำให้ลูกกินนมได้ลดลง ทำให้ได้รับประโยชน์จากนมแม่น้อยลง จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกกินน้ำสลับกับการกินนมจากเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว1  

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

ลูกอายุสามเดือน เริ่มให้กินกล้วยบดดีไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การให้ลูกเริ่มกินกล้วยเมื่ออายุเดือนยังไม่เหมาะสม แม้ว่าลูกจะกินกล้วยได้ อิ่มนาน และหลับได้ดี เนื่องจากกล้วยยังย่อยยากกว่านมแม่ ทารกที่กินกล้วยจึงอิ่มและหลับได้นาน ซึ่งอาจทำให้แม่เข้าใจผิดคิดว่าลูกกินกล้วยบดแล้วอิ่มได้ดี แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า นมแม่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่ากล้วย เมื่อลูกกินกล้วยแล้วอิ่มนาน จะกินนมน้อยลง ทำให้ได้รับประโยชน์จากนมแม่น้อยลง ดังนั้น การเริ่มให้ทารกกินกล้วยบดจึงไม่ต้องรีบร้อน รอจนกระทั่งลูกอายุหกเดือน1 การให้นมแม่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารก จึงค่อย ๆ เริ่มอาหารเสริมตามวัยทีละน้อย จะเป็นประโยชน์กับลูกมากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังให้ลูกกินนมแม่ ควรให้ลูกกินน้ำตามเพื่อล้างปากไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ไม่ควรปฏิบัติ เพราะการที่ทารกกินนมแม่ไม่จำเป็นต้องมีการกินน้ำเพื่อการล้างปาก เนื่องจากนมแม่มีประโยชน์มากอย่างที่เป็นที่รู้กันแล้ว และมีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันการติดเชื้อ1 ดังนั้น การกินน้ำตามจะไปเจือจางความเข้มข้นของนมแม่ ทำให้การป้องกันการติดเชื้อลดลงด้วย นอกจากนี้ การให้ทารกกินน้ำ หากให้ในปริมาณที่มาก จะทำให้ทารกอิ่มน้ำ กินนมได้ลดลง น้ำหนักขึ้นน้อยกว่าที่ควรเป็นได้ จากเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ควรมีความเชื่อเรื่องการกินน้ำตามเพื่อล้างปาก หรือปฏิบัติตามที่บอกเล่ากันมาโดยปราศจากการเสาะหาข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับทารกมากกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

การให้นมแม่ ไม่ควรให้ลูกกินในเวลากลางคืนจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่ในช่วงเวลากลางคืนจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดี เนื่องจากฮอร์โมนโพรแลกตินซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในที่ทำหน้าที่สร้างน้ำนมจะมีการหลั่งในปริมาณที่สูงและตอบสนองต่อการกระตุ้นโดยการดูดนมได้ดี เมื่อค่าของฮอร์โมนนี้ได้รับการกระตุ้นให้อยู่ในระดับที่สูง จะส่งผลให้มีการสร้างน้ำนมได้ดี1 โดยทั่วไปทารกหลังคลอดใหม่จะหลับและมีการตื่นบ่อย ซึ่งจะตื่นทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วงกลางคืนหลังเที่ยงคืน ทารกจึงตื่นราว 2-3 ครั้ง เมื่อมารดาทราบดังนี้ ควรพักผ่อนไปพร้อมกับทารก คือ ทารกหลับ มารดาควรหลับด้วย และตื่นมาให้นมทารกหากทารกหิว แต่เมื่อทารกอายุมากขึ้น ทารกจะหลับได้นานขึ้น มารดาก็จะได้นอนพักได้นานขึ้น โดยมารดาไม่จำเป็นต้องตื่นขึ้นมาปลุกทารกเพื่อกินนมทุก 2-3 ชั่วโมง แต่มารดาควรให้นมแม่ตามความต้องการของทารก บางครั้งครอบครัวอาจกลัวมารดาเหนื่อย จึงอาสาจะเลี้ยงทารกให้ในเวลากลางคืนโดยจะชงนมผงดัดแปลงสำหรับทารกให้แทนนมแม่ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ทารกไม่ได้กระตุ้นการสร้างน้ำนมของแม่ และอาจส่งผลทำให้มีการสร้างน้ำนมน้อยลงและไม่เพียงพอได้ ดังนั้น ควรเน้นว่า “ลูกหลับ แม่ควรหลับด้วยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูก”

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.