คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

มารดาต้องการลดน้ำหนัก แต่ต้องให้นมลูกทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ขณะที่มารดาตั้งครรภ์มักมีการบำรุงครรภ์โดยรับประทานอาหารมากเกินไป ทำให้มารดามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ไม่เหมาะสมคือ น้ำหนักที่เพิ่มเกินกว่าที่ควร นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ทารกแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดอีกด้วย โดยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกตัวโต คลอดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด การตกเลือดหลังคลอด ซึ่งหากมารดามีน้ำหนักขึ้นที่พอดี หลังคลอดหากมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ น้ำหนักของมารดาจะลดลงเร็ว และมีน้ำหนักเท่ากับก่อนการตั้งครรภ์ในระยะเวลา 3-6 เดือนหลังคลอด ไม่ต้องมาทุกข์ระทม หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปหลังคลอด ดังนั้น หากมารดาต้องการลดน้ำหนัก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดน้ำหนักอยู่แล้ว1 การควบคุมอาหารและออกกำลังกายในระหว่างการให้นมลูกสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการควบคุมอาหารมากจนเกินไปจนร่างกายมารดาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจมีผลต่อสารอาหารในนมแม่ในระยะยาวได้ การลดน้ำหนักในมารดาหลังคลอด แนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และดูแลลูกด้วยตนเองก่อน ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแต่พอดี จะทำให้มารดายังสามารถคงการให้นมแม่ได้ มีรูปร่างที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรง

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

 

อาหารใดที่ห้ามรับประทานในมารดาที่ให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ไม่มีอาหารใดที่เป็นประโยชน์ที่ห้ามในมารดาที่ให้นมบุตรในมารดาและบุตรที่ปกติ แต่ก็อย่างที่ทราบกันแล้วว่า “แม่กินอะไร ลูกก็ได้อย่างนั้น” แม่ที่กินอาหารที่มีประโยชน์ ลูกก็จะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ แม่กินอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ลูกก็จะได้รับสารพิษนั้นด้วย การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะและครบห้าหมู่จะเป็นประโยชน์แก่มารดาที่ให้นมบุตร และแม่ที่ให้นมบุตรควรรับประทานอาหารเพิ่มเพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมโดยปริมาณอาหารที่เพิ่มราว 500 กิโลแคลอรีต่อวัน สำหรับข้อสงสัยที่ว่า แม่กินอาหารรสจัดหรือเผ็ดได้ไหม คำตอบคือกินได้ แต่ก็ไม่ควรมากเกินพอดี เพราะหากเผ็ดมากไปจนระคายเคืองกระเพาะและทางเดินอาหาร แม่เกิดอาการผิดปกติก็จะเกิดผลเสียต่อการให้นมลูกด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังคลอด มารดาควรกินอาหารกระตุ้นน้ำนมไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ก่อนอื่นต้องย้ำอีกทีว่า สิ่งที่กระตุ้นนมแม่ที่ดีที่สุดคือลูก โดยให้ลูกกระตุ้นดูดนมบ่อย ๆ และดูดจนเกลี้ยงเต้า ดังนั้นเมื่อมีการถามว่าควรกินอาหารที่กระตุ้นน้ำนมไหม คำตอบคือ กินได้เพราะไม่มีข้อเสียอื่นใด หากรับประทานเป็นอาหาร และมารดามีการกินอาหารที่หลากหลาย ไม่ได้เลือกเฉพาะอาหารที่กระตุ้นน้ำนมอย่างเดียว ในประเทศไทย อาหารที่เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นน้ำนม ได้แก่อาหารที่มีส่วนประกอบของพืชผักจำพวกหัวปลี ขิง ใบแมงลัก กุยช่าย กะเพรา ตำลึง มะรุม สำหรับผลไม้ ได้แก่ มะละกอ ฟักทอง เป็นต้น โดยอาจทำเป็นเมนูอาหาร แกงเลียงผักรวม ไก่หรือปลาผัดขิง แกงตำลึงเต้าหู้หมูสับ ผัดกุยช่าย แกงป่า แกงส้มมะรุม ฟักทองผัดไข่ แม้ว่ายังขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยถึงประสิทธิผลของอาหารเหล่านี้ในการกระตุ้นน้ำนม มีเพียงการศึกษาขิงที่ผลิตเป็นแคปซูลซึ่งจะช่วยให้น้ำนมมาเร็วในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน1  อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้เป็นอาหารไม่มีโทษ และมีแนวโน้มว่าจะได้ประโยชน์ การพิจารณาอาหารในกลุ่มนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับมารดาที่ให้นมบุตร2

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังคลอด มารดาควรกินอาหารบำรุงน้ำนมไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            แน่นอน มารดาควรกินอาหารที่บำรุงน้ำนม โดยการรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งจะทำให้น้ำนมแม่ที่สร้างขึ้นมีสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ที่สมบูรณ์ครบถ้วน การที่มารดาเลือกรับประทานเฉพาะอาหารบางอย่าง หรือการงดเว้นอาหารที่เชื่อว่าเป็นของแสลง เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้สารอาหารที่มารดาได้รับอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลไปถึงสารอาหารในน้ำนม และทำให้ทารกขาดสารอาหารบางอย่างได้โดยเฉพาะเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายที่มีความต้องการน้อย เช่น ไอโอดีน ซึ่งหากขาด อาจเกิดโรคเอ๋อในทารกได้ ดังนั้น การที่มารดาใส่ใจกับการรับประทานเป็นสิ่งที่ดี แต่การเลือกนั้นควรเป็นการเลือกอาหารที่หลากหลาย มีสารอาหารที่ครบถ้วน สะอาด และถูกสุขลักษณะจะดีที่สุด1  

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังคลอด มารดาควรกินยาช่วยกระตุ้นน้ำนมไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            หลังคลอดสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นนมแม่ได้ดีที่สุดคือลูก การให้ลูกกระตุ้นดูดนมร่วมกับการให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะช่วยให้มีการสร้างน้ำนมที่เพียงพอ การใช้ยาเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนมไม่มีความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดที่ร่างกายของมารดายังมีฮอร์โมนที่มีหน้าที่สร้างน้ำนมอยู่ในระดับสูง การใช้ยาจะมีบทบาทมากในกรณีมารดาหยุดให้นมไปนาน แล้วต้องการกระตุ้นให้มีน้ำนมกลับมาใหม่ ดังนั้น มารดาควรการให้ลูกกระตุ้นดูดนมบ่อย ๆ และดูดนมให้เกลี้ยงเต้าข้างหนึ่งก่อนย้ายไปเต้านมอีกข้างหนึ่งมากกว่าการใช้ยากระตุ้นน้ำนม1  

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.