รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การออกกำลังกาย แนะนำให้มารดาออกกำลังกายระดับความหนักปานกลาง1-3 โดยวิธีการคำนวณทำได้จาก 2 วิธี ได้แก่
คำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ซึ่งการออกกำลังกายระดับความหนักปานกลางจะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายเท่ากับร้อยละ 60-70 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (จากสูตรของ Karvonen อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะเท่ากับ 220-อายุ โดยหน่วยเป็นจำนวนครั้งต่อนาที)
คำนวณจากอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง (heart rate reserve) ซึ่งเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดลบด้วยอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก ซึ่งการออกกำลังกายระดับความหนักปานกลางจะมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักบวกกับค่าระดับความหนักที่ร้อยละ 40-59 ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง หน่วยเป็นจำนวนครั้งต่อนาที
ในทางปฏิบัติ อาจจะใช้วิธีง่าย ๆ ในการพิจารณาระดับความหนักปานกลางของการออกกำลังกาย คือ ขณะที่มารดาออกกำลังกาย ร่างกายจะรู้สึกล้า สามารถพูดเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ไม่สามารถร้องเพลงได้
สำหรับลักษณะการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่เป็นการออกกำลังที่ไม่รุนแรงแต่มีความต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายจะมีการเผาพลาญพลังงานโดยใช้ออกซิเจน ได้แก่ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน กิจกรรมเข้าจังหวะ และการว่ายน้ำ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของมารดา โดยข้อควรระวังหากมารดาเลือกการว่ายน้ำ ควรเลือกการว่ายน้ำในน้ำตื้นที่มารดายืนถึง เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากมารดาอาจเกิดอาการตะคริวในขณะว่ายน้ำได้ ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสม ควรมีความสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์
เอกสารอ้างอิง
Colberg SR, Sigal RJ, Yardley JE, et al. Physical Activity/Exercise and Diabetes: A Position Statement of the American Diabetes Association. Diabetes Care 2016;39:2065-79.
Rognmo O, Moholdt T, Bakken H, et al. Cardiovascular risk of high- versus moderate-intensity aerobic exercise in coronary heart disease patients. Circulation 2012;126:1436-40.
Camarda SR, Tebexreni AS, Pafaro CN, et al. Comparison of maximal heart rate using the prediction equations proposed by Karvonen and Tanaka. Arq Bras Cardiol 2008;91:311-4.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แนวทางในการควบคุมระดับน้ำตาลของมารดาให้ได้ตามเกณฑ์ที่แนะนำ จะเริ่มต้นด้วยการใช้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต (lifestyle modification) โดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย1 ซึ่งในกรณีที่ใช้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างเดียวไม่ได้ผล จำเป็นต้องมีการใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดร่วมด้วย
การควบคุมอาหาร โดยมีหลักการในการควบคุมอาหาร 3 ประการ2 ได้แก่
ประการที่หนึ่ง ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งจะมีการคำนวณและควบคุมปริมาณแคลอรีที่ได้รับต่อวันตามค่าดัชนีมวลกายของสตรี
ประการที่สอง สัดส่วนคาร์บอไฮเดรตที่ควรจะได้รับจากอาหาร ควรมีการคำนวณให้ได้รับคาร์บอไฮเดรตในสัดส่วนร้อยละ 40 ในขณะที่ได้รับโปรตีนร้อยละ 20 และไขมันร้อยละ 40 จากพลังงานที่ได้รับจากอาหาร
ประการที่สาม การกระจายการได้รับพลังงานจากอาหาร โดยแนะนำให้มารดาแบ่งมื้ออาหารเพิ่มขึ้น เป็นรับประทานอาหาร 3 มื้อ และมีอาหารว่างระหว่างมื้อ 2-3 มื้อ เพื่อกระจายแบ่งปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารในแต่ละมื้อให้ลดลง ซึ่งจะลดการแกว่งขึ้นลง (fluctuation) ของระดับน้ำตาลที่สูงในกรณีที่ปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารในแต่ละมื้อมีปริมาณมาก
เอกสารอ้างอิง
Brown J, Alwan NA, West J, et al. Lifestyle interventions for the treatment of women with gestational diabetes. Cochrane Database Syst Rev 2017;5:CD011970.
Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูแลรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น เป้าประสงค์เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นจากการที่มารดามีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับทารก ได้แก่ ทารกแรกเกิดตัวโต การคลอดทารกยากจากการติดไหล่ (shoulder dystocia) การบาดเจ็บของทารกระหว่างการคลอด (birth trauma) เช่น การมีกระดูกหักบริเวณไหปลาร้า หรือการมีการบาดเจ็บของข่ายประสาทบริเวณต้นแขน (brachial plexus injury) การเสียชีวิตของทารกแรกคลอด สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับมารดา ได้แก่ การผ่าตัดคลอด การตกเลือดหลังคลอด และภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมระดับน้ำตาลในมารดาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ โดยระดับน้ำตาลที่แนะนำสำหรับมารดาเพื่อที่จะลดการเกิดทารกแรกเกิดตัวโต คือ ระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหารควรจะต่ำกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารที่ 1 ชั่วโมงควรจะต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารที่ 1 ชั่วโมงควรจะต่ำกว่า 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร1
เอกสารอ้างอิง
Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การวินิจฉัย นิยมทำเป็นสองขั้นตอน ได้แก่ การตรวจคัดกรองด้วยการรับประทานน้ำตาล 50 กรัมแล้วทำการตรวจค่าน้ำตาลในพลาสม่า (glucose challenge test หรือ GCT) ค่าการตรวจคัดกรองที่ถือว่าเป็นบวกเมื่อมีค่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป และตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการตรวจทดสอบค่าความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test หรือ OGTT) หลังรับประทานน้ำตาล 100 กรัม โดยใช้เกณฑ์ของกลุ่มข้อมูลเบาหวานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Diabetes Data Group) ซึ่งกำหนดค่าน้ำตาลในพลาสม่าก่อนการกินน้ำตาลเท่ากับ 105 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และค่าน้ำตาลในพลาสม่าหลังกินน้ำตาลที่ชั่วโมงที่ 1,2 และ 3 เท่ากับ 190,165 และ 145 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ตามลำดับ โดยหากค่าผิดปกติตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไปถือว่า การทดสอบเป็นบวกคือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม มีบางข้อแนะนำที่ให้ใช้ค่าผิดปกติเพียง 1 ค่าให้ถือว่าการทดสอบเป็นบวก ซึ่งการใช้เกณฑ์นี้ยังมีจำกัดเฉพาะในบางแห่ง1
เอกสารอ้างอิง
Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การทราบปัจจัยเสี่ยงในมารดาต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะทำให้การวางแผนการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
• การมีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานโดยเฉพาะญาติที่มีความใกล้ชิด (first-degree relatives)
• ประวัติการเสียชีวิตของทารกในช่วงแรกคลอด
• ประวัติคลอดทารกที่มีความพิการ
• ประวัติการคลอดทารกแรกเกิดตัวโต (macrosomia) ซึ่งหมายถึงทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม
• มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มอาการเมตาบอลิก กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (polycystic ovarian syndrome)
• มารดาอายุมาก
• เชื้อชาติเอเชียนอเมริกัน
• อ้วน
• การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์มากเกินไป
• การตรวจพบมีน้ำตาลในปัสสาวะ ตรวจพบค่า Hb A1c สูงตั้งแต่ร้อยละ 5.7 ขึ้นไป
• ตรวจพบค่า High-density lipoprotein cholesterol (HDL) ต่ำกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือค่าไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร(1,2)
เอกสารอ้างอิง
1. Gibson KS, Waters TP, Catalano PM. Maternal weight gain in women who develop gestational diabetes mellitus. Obstet Gynecol 2012;119:560-5.
2. Committee on Practice B-O. ACOG Practice Bulletin No. 190: Gestational Diabetes Mellitus. Obstet Gynecol 2018;131:e49-e64.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)