คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ผลของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            มารดาที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ หากสามารถตั้งครรภ์ได้จะพบการเพิ่มขึ้นภาวะแทรกซ้อนในมารดา ได้แก่ การแท้ง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ การผ่าตัดคลอด และภาวะแทรกซ้อนในทารก ได้แก่ ความพิการแต่กำเนิด การคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และการย้ายไปหอผู้ป่วยทารกวิกฤต1-3 โดยดัชนีมวลกายที่สูงจะทำนายการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และค่าฮอร์โมนเพศชายที่สูงจะทำนายการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์4  ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะส่งผลให้การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า และการที่มารดาที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่มีฮอร์โมนเพศชายสูงอาจมีผลทำให้ขาดการขยายขนาดของเต้านมในระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้การสร้างน้ำนมน้อย ซึ่งจะมีผลต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5-7

เอกสารอ้างอิง

  1. Boomsma CM, Fauser BC, Macklon NS. Pregnancy complications in women with polycystic ovary syndrome. Semin Reprod Med 2008;26:72-84.
  2. Palomba S, Falbo A, Daolio J, Battaglia FA, La Sala GB. Pregnancy complications in infertile patients with polycystic ovary syndrome: updated evidence. Minerva Ginecol 2018;70:754-60.
  3. Li Y, Ruan X, Wang H, et al. Comparing the risk of adverse pregnancy outcomes of Chinese patients with polycystic ovary syndrome with and without antiandrogenic pretreatment. Fertil Steril 2018;109:720-7.
  4. Foroozanfard F, Asemi Z, Bazarganipour F, Taghavi SA, Allan H, Aramesh S. Comparing pregnancy, childbirth, and neonatal outcomes in women with different phenotypes of polycystic ovary syndrome and healthy women: a prospective cohort study. Gynecol Endocrinol 2020;36:61-5.
  5. Joham AE, Nanayakkara N, Ranasinha S, et al. Obesity, polycystic ovary syndrome and breastfeeding: an observational study. Acta Obstet Gynecol Scand 2016;95:458-66.
  6. Vanky E, Nordskar JJ, Leithe H, Hjorth-Hansen AK, Martinussen M, Carlsen SM. Breast size increment during pregnancy and breastfeeding in mothers with polycystic ovary syndrome: a follow-up study of a randomised controlled trial on metformin versus placebo. BJOG 2012;119:1403-9.
  7. Vanky E, Isaksen H, Moen MH, Carlsen SM. Breastfeeding in polycystic ovary syndrome. Acta Obstet Gynecol Scand 2008;87:531-5.

 

เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในผู้ใหญ่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในผู้ใหญ่1 จะแบ่งชนิดของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ตามความรุนแรงของการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจากน้อยไปมาก ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยจะมีรายละเอียดตามแต่ละหัวข้อ ดังนี้  

  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่ไม่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก (non-hyperandrogenic PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
    • การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่มีการตกไข่ (ovulatory PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
    • การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก (hyperandrogenic PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
    • การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่แบบดั้งเดิม (classic PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
    • การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
    • การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Escobar-Morreale HF. Polycystic ovary syndrome: definition, aetiology, diagnosis and treatment. Nat Rev Endocrinol 2018;14:270-84.

 

การตรวจพิเศษของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การตรวจรังไข่ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ลักษณะที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะพบรังไข่มีถุงน้ำจำนวนมากโดยที่ไม่พบ dominant follicle ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 มิลลิลิตร หรือตรวจไม่พบ corpus luteum จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด แต่ลักษณะเหล่านี้อาจพบได้ในวัยรุ่นที่ปกติด้วย จึงไม่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในวัยรุ่น1

            การตรวจพบฮอร์โมนเพศชายสูง ทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะตรวจค่าระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ได้แก่ total testosterone และ free testosterone ซึ่งค่า free testosterone จะช่วยในการวินิจฉัยได้หากค่า total testosterone ไม่สูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.

อาการและอาการแสดงของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           การมีบุตรยาก การที่สตรีที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะส่งผลทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติจากการที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้การตกไข่ผิดปกติหรือไม่มีการตกไข่ ซึ่งทำให้การมีบุตรยาก

          การมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การที่รังไข่ทำงานผิดปกติ ไม่มีการตกไข่ จะส่งผลต่อการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกของสตรีได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (endometrial hyperplasia) ซึ่งหากไม่มีการปรับสมดุลย์จากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจาก corpus luteum จากการตกไข่ จะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.

อาการและอาการแสดงของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          การมีสิว (acne) ลักษณะของการมีสิวที่บ่งถึงการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจะเป็นสิวลักษณะที่มีการอุดตัน หรือสิวอักเสบ (acne vulgaris) โดยพบมากกว่า 10 จุดขึ้นไปบนใบหน้า1,2

        การมีประจำเดือนผิดปกติ โดยลักษณะที่ผิดปกติของประจำเดือนที่แสดงการไม่มีไข่ตก ได้แก่ การมีประจำเดือนมาห่าง (oligomenorrhea) คือมีประจำเดือนมาน้อยกว่าปีละ 9 ครั้ง หรือการมีประจำเดือนขาด (amenorrhea) คือมีประจำเดือนขาดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีแรกของการมีประจำเดือนจะพบมีความผิดปกติของประจำเดือนได้บ่อย ดังนั้น ในวัยรุ่นลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติที่ทำให้สงสัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ควรจะมีความผิดปกติของประจำเดือนที่ต่อเนื่องนานสองปี หรือนานหนึ่งปีหากมีอาการร่วมอย่างอื่นที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
  2. Ibanez L, Oberfield SE, Witchel S, et al. An International Consortium Update: Pathophysiology, Diagnosis, and Treatment of Polycystic Ovarian Syndrome in Adolescence. Horm Res Paediatr 2017;88:371-95.