คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องในระยะหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีหลายอย่าง ได้แก่ การให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การให้ทารกกินน้ำ การเจ็บหัวนม การเจ็บป่วยของมารดาและทารก และการกลับไปทำงานของมารดา แต่ปัจจัยที่จะช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องก็คือ การให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์1  ซึ่งหากมีการให้คำปรึกษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคที่ต้องเผชิญและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ ดังนั้น การจัดการอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพและทักษะในการให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีการจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในการให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.            Gasparin VA, Strada JKR, Moraes BA, Betti T, Pitilin EB, Santo L. Factors associated with the maintenance of exclusive breastfeeding in the late postpartum. Rev Gaucha Enferm 2020;41:e20190060.

การชักชวนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่านมแม่จะมีประโยชน์และเหมาะสมที่สุดในการเป็นอาหารสำหรับทารก แต่กระบวนการที่จะสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีความสำคัญ การพูดเชิญชวนหรือชักจูงให้มารดาสนใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยบุคลากรทางการแพทย์ยังมีความจำเป็น เปรียบเสมือนการขายของ แม้จะมีสินค้าที่ดีแต่หากขาดการโฆษณาเชิญชวนถึงคุณภาพหรือคุณประโยชน์ที่จะได้จากการใช้สินค้านั้น ความสนใจของคนที่จะตัดสินในการเลือกใช้สินค้านั้นก็อาจจะน้อยลง มีการศึกษาถึงการพูดเชิญชวนสั้น ๆ ให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่ามีผลในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ ผลของการศึกษาพบว่า การพูดเชิญชวนหรือชักจูงให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 ดังนั้น การใส่ใจกับการพูดเพียงเล็กน้อยของบุคลากรทางการแพทย์ก็อาจช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Franco-Antonio C, Calderon-Garcia JF, Santano-Mogena E, Rico-Martin S, Cordovilla-Guardia S. Effectiveness of a brief motivational intervention to increase the breastfeeding duration in the first 6 months postpartum: Randomized controlled trial. J Adv Nurs 2020;76:888-902.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการแพ้อาหารได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมารดาและทารกในหลาย ๆ ด้าน โดยสำหรับทารกจะช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ นอกเหนือจากนี้ การกินนมแม่ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในด้านการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ ลดการเกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด และยังมีการศึกษาที่พบว่า การที่ทารกกินนมแม่โดยเฉพาะการกินหัวน้ำนม (colostrum) จะช่วยป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้ในทารกที่มีความเสี่ยงสูงที่มีผื่นแพ้ในวัยทารก (infantile eczema) ได้1 ดังนั้น ในมารดาที่มีอาการแพ้แล้ววิตกกังวลว่า ทารกจะมีอาการแพ้เหมือนกับมารดาหรือไม่ การให้คำปรึกษาโดยการแนะนำให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม น่าจะส่งผลดีต่อทารกและอาจช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาลงได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Matsumoto N, Yorifuji T, Nakamura K, Ikeda M, Tsukahara H, Doi H. Breastfeeding and risk of food allergy: A nationwide birth cohort in Japan. Allergol Int 2020;69:91-7.

แนวทางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ปรับปรุง 27/5/20

พบเชื้อโควิด 19 ในนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในช่วงระยะตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 สถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคยังคงแนะนำให้มารดาที่มีการติดเชื้อโควิด 19 สามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยอาจจะเลือกให้ทารกกินนมแม่จากเต้า หรือใช้การบีบหรือปั๊มนมแล้วนำมาให้ทารก โดยมารดาต้องมีการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือและดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้น้ำนมให้มีความสะอาดปราศจากเชื้อ เนื่องจากยังไม่พบว่ามีข้อมูลการตรวจพบเชื้อโควิดในนมแม่ แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีรายงานการตรวจพบเชื้อโควิดในนมแม่ในมารดาที่มีการติดเชื้อโควิด ซึ่งพบในช่วงสัปดาห์ที่สองของการให้นม1 ขณะนี้จึงเกิดคำถามว่า “หากมีการพบเชื้อโควิดในนมแม่แล้ว มารดายังสามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไปได้หรือไม่?”

คำตอบในเรื่องนี้ คงต้องใช้หลักเปรียบเทียบประโยชน์ของการที่ทารกได้กินนมแม่ เทียบกับความเสี่ยงของทารกที่จะเกิดอันตรายจากการติดเชื้อโควิด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโรคที่เรามีข้อมูลที่มากกว่าสองโรค คือ ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี และมารดาที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งหากแนวโน้มของข้อมูลเป็น

ในกรณีแรกเหมือนมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี จากข้อมูลของการติดเชื้อเอชไอวี ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น การแนะนำจึงแนะนำให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหากอยู่ในพื้นที่ที่สามารถจัดหานงผงได้เพียงพอ ต่อเนื่อง และมีการเตรียมนมผงได้โดยปลอดภัย แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถจัดหานมผงได้อย่างเหมาะสม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็สามารถทำได้

ในกรณีที่สองเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบี จากข้อมูลของไวรัสตับอักเสบบี การที่ให้ทารกกินนมแม่หรือกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การติดเชื้อที่พบในทารกไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ยังคงแนะนำให้ทารกกินนมแม่แม้มารดาเป็นภาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในนมแม่

ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมอาจต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เรามีความเข้าใจในเรื่องของโรคและการติดเชื้อสู่ทารกมากขึ้น แต่ขณะนี้ การแนะนำการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกในพื้นที่ที่สามารถจัดหานมผงได้อย่างเหมาะสมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องให้ข้อมูลเหล่านี้แก่มารดาและครอบครัวเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน และเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ลักษณะของโรคเพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลมารดาและทารกได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.        Gross R, Conzelmann C, Muller JA, et al. Detection of SARS-CoV-2 in human breastmilk. Lancet 2020.