คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ข้อมูลพื้นฐานของมารดากับการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเป็นหนึ่งในกระบวนการข้อหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งทั้งองค์การอนามัยโลกและองค์กรยูนิเซฟให้ความสำคัญโดยถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จะนำไปสู่การเพิ่มของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ซึ่งการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะมีความสัมพันธ์กับข้อมูลพื้นฐานของมารดา ได้แก่ มารดาที่มีการศึกษาสูง เศรษฐานะดี สถานภาพสมรส และเป็นมารดาที่เคยมีบุตรมาก่อน1 ดังนั้น หากมารดามีข้อมูลพื้นฐานที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับข้อมูลเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์อาจจะถือว่าควรต้องมีการเอาใจใส่ ติดตาม และดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยให้มารดาได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วและทำให้มีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Habtewold TD, Mohammed SH, Endalamaw A, et al. Higher educational and economic status are key factors for the timely initiation of breastfeeding in Ethiopia: a review and meta-analysis. Acta Paediatr 2020.

การจัดมารดาอาสาช่วยเหลือมารดาครรภ์แรกช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาครรภ์แรกถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร เนื่องจากมารดาขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และมีโอกาสที่จะขาดความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาโดยการจัดมารดาอาสาที่เป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาครรภ์แรกผ่านเว็บไซด์พบว่า การจัดมารดาอาสาช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลักษณะนี้สามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกในมารดาครรภ์แรกได้ถึง 3 เท่า1 ดังนั้น การเอาใจใส่และจัดรูปแบบการสนับสนุนในมารดาครรภ์แรกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Gonzalez-Darias A, Diaz-Gomez NM, Rodriguez-Martin S, Hernandez-Perez C, Aguirre-Jaime A. ‘Supporting a first-time mother’: Assessment of success of a breastfeeding promotion programme. Midwifery 2020;85:102687.

การขาดความเชื่อมั่นมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาที่มีความเชื่อมั่นว่าสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า การที่มารดาที่ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเกิดจากการที่มารดามีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน หรือมารดาได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนเกิดความมั่นใจว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยความเชื่อมั่นจะทำให้มารดามุ่งมั่นและฝ่าฟันอุปสรรคที่พบจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในทางกลับกัน มารดาที่ขาดความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า ซึ่งอาจพิจารณาว่ามารดาเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ดังนั้น จึงอาจนำปัจจัยเรื่องการขาดความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร1 และทำการนัดติดตามมารดากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาที่เหมาะสมและช่วยให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Gonzales AM, Jr. Breastfeeding Self-Efficacy of Early Postpartum Mothers in an Urban Municipality in the Philippines. Asian Pac Isl Nurs J 2020;4:135-43.

มารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีการศึกษาพบว่า มารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์จะมีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า และมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นกว่ามารดาที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดผลนี้ นอกจากจะมีสาเหตุจากความกังวลเรื่องผลเสียของการสูบบุหรี่แล้ว ยังพบว่ายังอาจมีสาเหตุมาจากมารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์มักมีอายุที่น้อยกว่าและมีระดับการศึกษาที่น้อยกว่า1 โดยปัจจัยเหล่านี้ จะสัมพันธ์กับการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยและมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นด้วย การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหานี้ที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลย

เอกสารอ้างอิง

1.        Godleski SA, Shisler S, Eiden RD, Schuetze P. Maternal Smoking and Psychosocial Functioning: Impact on Subsequent Breastfeeding Practices. Breastfeed Med 2020.

ทารกที่กินนมมารดาที่กินเหล้า ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อทารกในครรภ์และทารกที่กินนมแม่ โดยทั่วไปไม่แนะนำให้มารดาดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หากมารดาตั้งครรภ์หรือมีทารกกินนมแม่ ในมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์การหยุดหรือลดการดื่มให้ไม่เกินหนึ่งดื่มมาตรฐานจะลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาผลในระยะยาวของทารกที่กินนมแม่ในมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์พบว่า ทารกที่กินนมแม่ในมารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา จะมีความสามารถในการเรียนรู้ทั้งด้านภาษาและตัวเลขลดลง1 การให้ข้อมูลเหล่านี้แก่มารดาและครอบครัวอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นและลดหรือหยุดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Gibson L, Porter M. Drinking or Smoking While Breastfeeding and Later Academic Outcomes in Children. Nutrients 2020;12.