คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกช่วยเพิ่มอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มมารดาด้อยโอกาส

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การจัดระบบเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะมีกระบวนการการปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ในกลุ่มมารดาที่ด้อยโอกาสพบว่า การที่โรงพยาบาลมีนโยบายและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดากลุ่มด้อยโอกาสด้วย โดยในรายละเอียดพบว่า การปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 34 เท่า เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 24 เท่า และยังพบว่าการปฏิบัติตามบันไดในแต่ละขั้นยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกด้วย ตัวอย่างได้แก่ การปฏิบัติตามบันไดขั้นที่ 6 คือการให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวโดยไม่มีการให้สารน้ำหรือสารอาหารอื่น ๆ ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 4.4 เท่า และการปฏิบัติตามบันไดขั้นที่ 9 คือการไม่ใช้หัวนมหลอกหรือจุกนมเทียมช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ 5.7 เท่า1

เอกสารอ้างอิง

1.        Kivlighan KT, Murray-Krezan C, Schwartz T, Shuster G, Cox K. Improved breastfeeding duration with Baby Friendly Hospital Initiative implementation in a diverse and underserved population. Birth 2020;47:135-43.

ปัจจัยเสี่ยงของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกคือร้อยละ 50  โดยที่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรยูนิเซฟในปี พ.ศ. 2555 พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนร้อยละ 12.3 และในปี พ.ศ. 2559 พบร้อยละ 23.1 ซึ่งสัมพันธ์กับตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งคือ การเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดที่พบว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำเช่นกัน การที่บุคลากรทางการแพทย์จะให้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวควรจะมีความเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือน เพื่อที่จะนำมาใช้ในการคัดกรอง ติดตาม และดูแลมารดาและทารกในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะช่วยให้มารดาในกลุ่มเสี่ยงนี้มีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงขึ้น โดยมีการศึกษาในเอธิโอเปียถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือน1 ได้แก่

-อายุมารดา มารดาวัยรุ่นจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 5.5 เท่า

-ลำดับครรภ์ มารดาครรภ์แรกจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า

-อาชีพของมารดา มารดาที่เป็นข้าราชการจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 4.7 เท่า

-การอ่านออกเขียนได้ของสามี โดยสามีที่ไม่รู้หนังสือจะมีความเสี่ยงที่ภรรยาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า

-การนัดติดตามหลังคลอด มารดาที่ขาดการนัดติดตามหลังคลอดจะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า

-การรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่มารดาเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยหรือขาดความใจ จะมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนเพิ่มขึ้น 3.2 เท่า

เอกสารอ้างอิง

1.        Kelkay B, Kindalem E, Tagele A, Moges Y. Cessation of Exclusive Breastfeeding and Determining Factors at the University of Gondar Comprehensive Specialized Hospital, Northwest Ethiopia. Int J Pediatr 2020;2020:8431953.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์ในหลากหลายด้านรวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยการทบทวนอย่างมีระบบพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อนมแม่จะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 2.19 เท่า ซึ่งหากเป็นมารดาที่คลอดทางช่องคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 2.45 เท่า ขณะที่มารดาที่ผ่าตัดคลอด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยเพิ่มการโอบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 1.44 เท่า และในด้านระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงสามเดือนแรก 2.47 เท่า สำหรับการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงสามเดือนถึงหกเดือน 1.71 เท่า1 ซึ่งโดยสรุปการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจึงช่วยเพิ่มทั้งอัตราและระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

เอกสารอ้างอิง

1.        Karimi FZ, Miri HH, Khadivzadeh T, Maleki-Saghooni N. The effect of mother-infant skin-to-skin contact immediately after birth on exclusive breastfeeding: a systematic review and meta-analysis. J Turk Ger Gynecol Assoc 2020;21:46-56.

การใช้นมแม่ในการรักษาโรค

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่นอกเหนือจากการใช้นมแม่เป็นอาหารสำหรับทารกแล้ว ยังมีการศึกษาการใช้นมแม่ในจุดประสงค์อื่น ๆ ในการรักษาโรคด้วย ได้แก่ การใช้นมแม่เพื่อรักษาหัวนมที่แตก การใช้นมแม่ในการรักษาผิวหนังอักเสบจากผื่นผ้าอ้อม การใช้นมแม่ในการรักษาสิวที่เกิดในทารก และการใช้นมแม่เพื่อช่วยในการบำรุงผิวพรรณ1  ซึ่งพบว่าเป็นทางเลือกในการรักษาที่ได้ผลดี ดังนั้น หากมารดามีความเข้าใจและใช้นมแม่ในการดูแลรักษานอกเหนือจากการให้เป็นอาหารสำหรับทารก ก็จะช่วยให้มีใช้นมแม่อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ยาที่เป็นเคมีภัณฑ์ เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมการใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Karcz K, Makuch J, Walkowiak M, Olejnik I, Krolak-Olejnik B. Non-nutritional “paramedical” usage of human milk – knowledge and opinion of breastfeeding mothers in Poland. Ginekol Pol 2020;91:79-84.

ครอบครัวที่เป็นคู่เพศหญิงกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบันมีการยอมรับเรื่องการข้ามเพศมากขึ้น ดังนั้นคู่ที่อยู่ด้วยกันอาจเป็นคู่เพศหญิงหรือคู่ระหว่างเพศชายก็ได้ แต่ในกรณีที่คู่ที่สร้างครอบครัวเป็นเพศหญิงเหมือนกัน เมื่อมีลูกแล้ว จะมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไรนั้น? มีการศึกษาในเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มารดาที่คลอดจะมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมาก มีการค้นคว้าหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการกระตุ้นน้ำนมมากขึ้น และมารดาที่ไม่ได้คลอดทารกจะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งมีการกระตุ้นน้ำนม และร่วมแสดงบทบาทความเป็นแม่1  ดังนั้น ความเข้าใจลักษณะของความเป็นแม่ในคู่ที่เป็นเพศหญิง จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลและให้คำปรึกษามารดาได้อย่างเหมาะสม  

เอกสารอ้างอิง

1.        Juntereal NA, Spatz DL. Breastfeeding experiences of same-sex mothers. Birth 2020;47:21-8.