คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

มารดาที่รู้สึกไม่ชอบที่จะให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โดยทั่วไปมารดาจะมีความผูกพันกับบุตรและมีความต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม มีมารดาบางคนที่รู้สึกไม่ชอบที่จะให้นมแม่ ซึ่งมารดาเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง1 โดยพบว่ามารดาเหล่านี้จะมีความรู้สึกในใจว่า ฉันให้นมแม่เพราะว่านมแม่ดีต่อทารก ฉันควรจะรู้สึกดีที่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่และฉันควรจะดีใจที่ได้ให้ลูกกินนมแม่ แต่ฉันไม่สามารถห้ามความรู้สึกที่ไม่ชอบที่จะให้นมแม่ได้ สาเหตุของการที่มารดารู้สึกไม่ชอบที่จะให้นมแม่ยังไม่ทราบสาเหตุ การศึกษาถึงสาเหตุของการที่มารดารู้สึกไม่ชอบที่จะให้นมแม่ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อจะสามารถแก้ปัญหาและเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Morns MA, Steel AE, Burns E, McIntyre E. Women who experience feelings of aversion while breastfeeding: A meta-ethnographic review. Women Birth 2020.

มารดาที่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ความเชื่อเรื่องการให้ลูกกินนมแม่ทำให้เต้านมหย่อนยานยังคงมีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจากการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า มารดาที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างจะตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า1 ทั้ง ๆ ที่การเกิดเต้านมหย่อนยานนั้นเกิดจากการดูแลเต้านมที่ไม่เหมาะสมมากกว่า เนื่องจากมารดาเมื่อตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะมีขนาดเต้านมที่ขยายและมีน้ำหนักที่มากขึ้น ซึ่งหากเต้านมที่ขยายและมีน้ำหนักที่มากขึ้นขาดการใส่ชุดชั้นในที่พยุงหรือรองรับเต้านมอย่างเหมาะสม การหย่อนยานจากน้ำหนักที่เพิ่มก็จะเกิดขึ้น นอกจากการเลือกใช้ชุดชั้นในที่พอดีกับขนาดของเต้านมแล้ว ยังต้องหลีกเลี่ยงการใช้ชุดชั้นในที่คับหรือมีโครงเหล็ก เพราะอาจไปกดทับการไหลของท่อน้ำนมจนทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตันและเต้านมอักเสบได้ การให้ความรู้แก่มารดาที่ถูกต้องกับมารดาเพื่อแก้ไขความเชื่อผิด ๆ จึงมีความจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

1.        Morley-Hewitt AG, Owen AL. A systematic review examining the association between female body image and the intention, initiation and duration of post-partum infant feeding methods (breastfeeding vs bottle-feeding). J Health Psychol 2020;25:207-26.

ประโยชน์ของการจัดท่าให้นมลูกท่าเอนหลัง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การจัดท่าให้นมลูกในท่าเอนหลังหรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า laid-back position เชื่อว่าเป็นท่าที่จะทำให้ทารกปรับตัวรับกับการดูดนมตามธรรมชาติได้ดี  ซึ่งท่าให้นมลูกในแต่ละท่าที่นิยมทำการสอนให้แก่มารดา ได้แก่ ท่าอุ้มขวางตัก ท่าอุ้มขวางตักประยุกต์ ท่าอุ้มฟุตบอล ท่านอนตะแคงข้าง และท่านั่งหลังตรง จะมีข้อดีหรือข้อจำกัดที่แตกต่างกัน และอาจจะมีความเหมาะสมสำหรับสรีระของมารดาและทารกในแต่ละคู่แตกต่างกันด้วย มีการศึกษาพบว่าการจัดท่าให้นมลูกในท่าเอนหลังจะช่วยลดการเกิดปัญหาของหัวนมและเต้านม ได้แก่ การเจ็บหัวนม หัวนมแตก ท่อน้ำนมอุดตัน และเต้านมอักเสบ1 อย่างไรก็ตาม การสอนท่าให้นมลูกแก่มารดาควรสอนหลาย ๆ ท่า เพื่อให้มารดาได้เลือกใช้ท่าให้นมที่มารดารู้สึกสบาย ทารกเข้าเต้าได้ดี และไม่มีการเจ็บหัวนมหรือเต้านม ซึ่งหากมารดาสามารถเข้าเต้าได้อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเลือกใช้ท่าให้นมลูกท่าใด ๆ ก็ไม่มีความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

เอกสารอ้างอิง

1.        Milinco M, Travan L, Cattaneo A, et al. Effectiveness of biological nurturing on early breastfeeding problems: a randomized controlled trial. Int Breastfeed J 2020;15:21.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเข้าสู่วัยทองเร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเข้าสู่วัยทองเร็ว มารดามักมีอาการของการย่างเข้าสู่วัยทองที่มากกว่าการย่างเข้าสู่วัยทองตามปกติ ซึ่งอาการของวัยทองที่พบ ได้แก่ การมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง การปวดข้อ และการลดลงของมวลกระดูกโอบกอดทารก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของชีวิต และอาจก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวจากความไม่สมดุลจากการเปลี่ยนแปลงของสตรีขณะที่สามีมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและยังมีความต้องการเรื่องเพศสัมพันธ์สูง มีการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การที่มารดามีจำนวนบุตรหลายคน และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเข้าสู่วัยทองเร็ว โดยมารดาที่มีบุตร 2 คนและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ 7 เดือนถึง 1 ปีจะช่วยป้องกันการเข้าสู่วัยทองเร็วร้อยละ 21 มารดาที่มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ 7 เดือนถึง 1 ปีจะช่วยป้องกันการเข้าสู่วัยทองเร็วร้อยละ 32  มารดาที่มีบุตร 2 คนและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่หนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่งจะช่วยป้องกันการเข้าสู่วัยทองเร็วร้อยละ 13  มารดาที่มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่หนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่งจะช่วยป้องกันการเข้าสู่วัยทองเร็วร้อยละ 121  ดังนั้น นี่อาจเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกเหนือจากข้อมูลความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีการให้แก่มารดาในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

1.        Langton CR, Whitcomb BW, Purdue-Smithe AC, et al. Association of Parity and Breastfeeding With Risk of Early Natural Menopause. JAMA Netw Open 2020;3:e1919615.

การให้คำปรึกษาแก่มารดาที่มีทารกตัวเหลืองช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เนื่องจากหากขาดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดและแนวทางการดูแลที่เหมาะสม มารดาและครอบครัวอาจจะเข้าใจผิดหรือคิดไปเองว่าทารกกินนมแม่ไม่พอจำเป็นต้องเสริมอาหารหรือน้ำแก่ทารกที่มีภาวะตัวเหลือง หรือเห็นทารกมีผิวแห้ง ปากแห้งเมื่อทารกมีความจำเป็นต้องส่องไฟเพื่อรักษาอาการตัวเหลือง ซึ่งการแก้ไขความเข้าใจผิดนี้จำเป็นต้องการให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะแรกที่มีการเริ่มต้นการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลือง โดยพบว่า หากมีการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวที่มีทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่ในเวรกะแรกที่ทารกเข้ามานอนโรงพยาบาล ทารกจะได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาและครอบครัวที่ไม่ได้มีการให้คำปรึกษาถึง 4 เท่า1

เอกสารอ้างอิง

1.        Kovaric K, Cowperthwaite M, McDaniel CE, Thompson G. Supporting Breastfeeding in Infants Hospitalized for Jaundice. Hosp Pediatr 2020.