รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
รูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีหลากหลายวิธี ได้แก่ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างการฝากครรภ์ การช่วยให้มารดาเริ่มการให้นมลูกเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด การสอนให้มารดามีความมั่นใจในการจัดท่าให้นมลูก การแจกเอกสารแผ่นพับในเนื้อหาที่สำคัญที่ช่วยให้มารดาสามารถเข้าถึงการขอรับคำปรึกษาในกรณีที่มารดามีปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนการอนุญาตให้กลับบ้าน การเยี่ยมบ้าน การนัดหรือโทรศัพท์ติดตาม เอาใจใส่และสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งจัดการกลุ่มให้คำปรึกษามารดาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งการจัดรูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หลากหลายนั้นจะช่วยส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า โดยมีตัวอย่างการศึกษาในประเทศโครเอเซียถึงผลการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกันหลายวิธีเปรียบเทียบกับการให้การสนับสนุนอย่างเดียวหรือการดูแลตามปกติพบว่า การใช้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกันหลายวิธีช่วยให้ผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า1 ซึ่งผลที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะมารดาแต่ละคนมีจริตหรือความชอบในการกสนับสนุนที่แตกต่างกัน การมีความหลากหลายของรูปแบบของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยให้การเข้าถึงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกดัวยนมแม่ทำได้ดักว่า
เอกสารอ้างอิง
1. Puharic D, Malicki M, Borovac JA, et
al. The effect of a combined intervention on exclusive breastfeeding in
primiparas: A randomised controlled trial. Matern Child Nutr 2020:e12948.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงมีข้อสงสัยที่เกิดขึ้นว่า
มารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีความรู้สึกอย่างไรกับประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ซึ่งจากข้อสงสัยนี้จึงมีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดพบว่า
ความรู้สึกที่มารดามี ได้แก่ การต้องเลือกความไม่เห็นแก่ตัว การได้พักไม่เพียงพอ
การที่ต้องมีความเพียรพยายาม การต้องเรียนรู้ถึงความหมายของการเป็นแม่
และการรับรู้ถึงความรักและความใกล้ชิด1 การเข้าใจถึงความรู้สึกของมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
จะทำให้บุคลากรที่จะให้การสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือมารดาได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. Pratt BA, Longo J, Gordon SC, Jones
NA. Perceptions of Breastfeeding for Women with Perinatal Depression: A
Descriptive Phenomenological Study. Issues Ment Health Nurs 2020:1-8.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อของมารดาทันทีในระยะแรกหลังคลอดเป็นประโยชน์ต่อทารกในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ช่วยป้องกันทารกตัวเย็น ช่วยให้ทารกรู้สึกปลอดภัย สงบ ลดการใช้พลังงาน ป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ กระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาท รวมทั้งช่วยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 โดยพบว่าเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 2.2 เท่า (95% CI 1.7-2.0) ซึ่งจะช่วยทั้งในมารดาที่คลอดปกติและมารดาที่ผ่าตัดคลอด โดยในมารดาที่คลอดปกติจะเพิ่มสูงกว่า คือ 2.5 เท่า (95% CI 1.8-3.4) ขณะที่ในมารดาที่ผ่าตัดคลอดเพิ่ม 1.4 เท่า (95% CI 0.8-2.7) 1 ดังนั้น หากมีการจัดกระบวนการให้มารดาที่ผ่าตัดคลอดสามารถโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อของมารดาทันทีในระยะแรกหลังคลอดได้ จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยมารดาเพิ่มโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้
เอกสารอ้างอิง
1. Karimi FZ, Miri HH, Khadivzadeh T, Maleki-Saghooni N.
The effect of mother-infant skin-to-skin contact immediately after birth on
exclusive breastfeeding: a systematic review and meta-analysis. J Turk Ger
Gynecol Assoc 2020;21:46-56.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทั้ง ๆ ที่พ่อมีบทบาทสำคัญในการช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
แต่บางคนอาจจะสงสัยว่าพ่อมีบทบาทสำคัญ และจะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างไร
มีการศึกษาทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพ่อพบว่า
การที่พ่อช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
โดยบทบาทของพ่อจะมีตั้งแต่การกระตุ้นเตือนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยป้องกันและจัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่าง
ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ยังมีบทบาทที่ช่วยในงานบ้านและการดูแลทารก
ซึ่งจะทำให้มารดาลดความเหนื่อยล้า และมีเวลาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลยที่จะให้พ่อเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Ogbo FA, Akombi BJ, Ahmed KY, et al.
Breastfeeding in the Community-How Can Partners/Fathers Help? A Systematic
Review. Int J Environ Res Public Health 2020;17.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การขลิบทารกมักทำในทารกเพศชายในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งบางคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขลิบทารกว่าจะทำให้เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่
และมีผลทำให้ทารกต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นไหม มีการศึกษาเพื่อตอบคำถามนี้ในสหรัฐอเมริกาพบว่า
การขลิบทารกแรกเกิดไม่ได้มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว
และไม่ได้ทำให้ทารกนอนโรงพยาบาลนานขึ้น
นอกจากนี้ในทารกที่มีภาวะตัวเหลืองและต้องส่องไฟในการรักษา
การขลิบทารกแรกเกิดก็ไม่ได้ทำให้ทารกนอนโรงพยาบาลนานขึ้นเช่นกัน1 ดังนั้น การขลิบทารกสามารถทำได้ในระยะแรกเกิด
โดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. O’Callahan C, Te S, Husain A,
Rosener SE, Hussain N. The Effect of Circumcision on Exclusive Breastfeeding,
Phototherapy, and Hospital Length of Stay in Term Breastfed Newborns. Hosp
Pediatr 2020.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)