คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การให้คำปรึกษาระหว่างการฝากครรภ์ช่วยในให้มารดาเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยในอัตราและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การสนับสนุนให้มารดาได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วจึงเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ มีการศึกษาถึงผลของกระบวนการให้คำปรึกษาเรื่องการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดพบว่า มารดาที่ได้รับการให้คำปรึกษาในเรื่องการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกมากกว่ามารดาที่ไม่ได้มีการให้คำปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญ1 นี่อาจแสดงให้เห็นว่า หากมารดารับทราบเหตุผลและประโยชน์ของการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วจะมีผลต่อการปฏิบัติซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.            Qurat ul A, Mehmood H, Maroof S, Madiha. Effect of antenatal counselling on early initiation of breastfeeding, an interventional study at two Federal Hospitals, Islamabad Pakistan. J Pak Med Assoc 2020;70:70-3.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อทั้งสุขภาพมารดาและทารก แม้ว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่มีผลการศึกษาจากในหลาย ๆ ประเทศ1 แต่ยังขาดการส่งเสริมและสนับสนุนที่ชัดเจนในนโยบายของประเทศ การประเมินและการติดตามผลของความสำเร็จของการลงทุนเพื่อมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมุมมองความคุ้มค่าในการลงทุนนี้ ควรมีในสำนึกของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ โดยสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงคุณภาพของบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งสะท้อนพื้นฐานของการความรู้ในเรื่องการพัฒนาของประชากรทั่วไปในสังคมด้วย ซึ่งการพัฒนาให้เกิดคุณภาพของบุคลากรและประชากรในสังคมจะต้องอาศัยพื้นฐานของการพัฒนาระบบการศึกษาและการสอนให้บุคลากรและประชากรมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยหากมองย้อนไปที่จุดเริ่มต้น จะพบว่าการเริ่มต้นของการสร้างคุณภาพที่ดีของประชากรก็คือ การเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

1.            Quesada JA, Mendez I, Martin-Gil R. The economic benefits of increasing breastfeeding rates in Spain. Int Breastfeed J 2020;15:34.

กินนมแม่ยิ่งนานยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อาหารทารกแรกเกิดมีผลต่อการเกิดโรคอ้วน มีการศึกษาพบว่า การกินนมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กที่อายุ 2-6 ปี โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นผลมาจากกลไกการกินนมแม่ที่ทารกจะต้องออกแรงดูดนมเมื่อหิวและต้องการที่จะกินนม ซึ่งจะสร้างให้ทารกมีการควบคุมการกินอาหารได้ด้วยตนเอง ทำให้ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน นอกจากนี้ ยังพบว่า ยิ่งทารกมีช่วงระยะเวลาการกินนมแม่ยิ่งนาน ยิ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนในทารกมากขึ้น1 โดยในปัจจุบัน ประชากรของโลกพบมีคนที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจะมีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ และความเจ็บป่วยเรื้อรังที่พบเป็นสาเหตุการตายที่เป็นอันดับต้น ๆ ของในทุกประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดจากโรคนี้

เอกสารอ้างอิง

1.            Qiao J, Dai LJ, Zhang Q, Ouyang YQ. A meta-analysis of the association between breastfeeding and early childhood obesity. J Pediatr Nurs 2020;53:57-66.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เมื่อราว 70 ปีก่อน ก่อนหน้าที่จะมีการแนะนำให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้น มีการสังเกตว่าการแยกลูกของแกะหรือแพะจากแม่หลังคลอดแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ 1-2 ชั่วโมง จะมีผลเสียต่อพฤติกรรมของแม่ที่มีต่อลูก โดยมีการปฏิเสธลูกและมีการดูแลลูกน้อยลง ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการฝังใจที่เกิดขึ้นและสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ต่อมาราว 50 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการศึกษาในมนุษย์ พบว่าการให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะทำให้มารดามีความใส่ใจในการดูแลทารกเมื่อทารกร้องไห้และใช้เวลาในการดูแลทารกมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้นด้วย1 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอด จะช่วยให้เกิดการเริ่มการกินนมแม่ได้เร็ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งการเพิ่มอัตราและระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นกระบวนการนี้จึงควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนประจำในการดูแลมารดาหลังคลอดทุกราย

เอกสารอ้างอิง

1.            Puri BK. Breastfeeding following Kangaroo Mother Care. Rev Recent Clin Trials 2020;15:3-4.

การมีพี่เลี้ยงช่วยลดความเสี่ยงในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าในมารดาที่อ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มารดาที่อ้วนจะมีความเสี่ยงในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า การจัดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในรูปแบบการมีคู่พี่เลี้ยงที่โรงพยาบาลประกบกับมารดาที่อ้วนเพื่อช่วยสนับสนุนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่าช่วยลดความเสี่ยงที่มารดาจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าลงได้1 ดังนั้น การจัดคู่พี่เลี้ยงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการสนับสนุนทางสังคมที่สามารถเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าที่เป็นความเสี่ยงในมารดาที่มีดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์สูงหรือมีภาวะอ้วนได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Pujol von Seehausen M, Perez-Escamilla R, Couto de Oliveira MI, do Carmo Leal M, Siqueira Boccolini C. Social support modifies the association between pre-pregnancy body mass index and breastfeeding initiation in Brazil. PLoS One 2020;15:e0233452.