รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มารดาที่ให้ลูกกินนมแม่จะมีผลดีหลายอย่าง
ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยในปัจจุบัน ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่
รวมทั้งกลุ่มโรคเมตาบอลิก โดยมีการศึกษาในประเทศเกาหลีในมารดา 1983 รายที่อยู่ในวัยทองพบว่า
หากมารดามีประวัติที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 3
เดือนจะป้องกันการเกิดกลุ่มโรคเมตาบอลิกได้ถึงครึ่งหนึ่ง1 ดังนั้น หากพิจารณาประโยชน์ของนมแม่ในด้านเหล่านี้ จะเห็นว่า
การที่มารดาให้ลูกได้กินนมแม่น่าจะทำให้มารดามีอายุที่ยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการลดการเกิดโรคข้างต้น
ซึ่งการลงทุนทางด้านสุขภาพแก่มารดาโดยการให้ลูกกินนมแม่นับเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
เอกสารอ้างอิง
1. Ra JS, Kim SO. Beneficial effects of
breastfeeding on the prevention of metabolic syndrome among postmenopausal
women. Asian Nurs Res (Korean Soc Nurs Sci) 2020.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ขณะรอคลอด มารดาจะมีอาการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งในระยะแรกจะมีอาการเจ็บครรภ์ห่าง ต่อมาอาการเจ็บครรภ์จะถี่ขึ้น อาการปวดจะร้าวไปหลัง และเมื่อลูกเคลื่อนต่ำลงมาใกล้ปากช่องคลอดมาก มารดาจะมีอาการปวดเบ่งเหมือนปวดเบ่งถ่ายเมื่อศีรษะทารกลงมากดบริเวณทวารหนัก การลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอดที่มารดามีอาการเจ็บครรภ์ วิธีที่ใช้บ่อยคือ การใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน โดยยาแก้ปวดในกลุ่มนี้จะลดอาการปวดได้ดี แต่ก็มีข้อเสียคือ ในมารดาอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ง่วง ขาดแรงเบ่งคลอด ขาดสติในการให้นมลูกในระยะแรกหลังคลอด ในทารกอาจทำให้ทารกหายใจช้า ง่วงซึม ไม่สามารถกระตุ้นดูดนมหลังคลอดได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่มนี้ในมารดาที่คาดว่าจะมีการคลอดภายในหนึ่งชั่วโมงหลังการให้ยา มารดามีอาการเจ็บครรภ์คลอด ในปัจจุบันมีค่านิยมในการคลอดตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น จึงมักมีการลดการใช้ยาแก้ปวด และนิยมใช้วิธีทางเลือกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอดแทน ได้แก่ การลูบหน้าท้อง การนวดบริเวณหลัง การปรับจังหวะของการหายใจ การให้สามีหรือพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยดูแลระหว่างการรอคลอด ซึ่งจะมีผลดีต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดด้วย
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดือนหกเดือนแรก หลังจากนั้นกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การกินนมแม่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาการที่ดีของทารก ทารกที่กินนมแม่จะมีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และการติดเชื้ออักเสบของหูส่วนกลางน้อยกว่า สำหรับการติดเชื้อในทางเดินหายใจมีการศึกษาพบว่า ทารกที่กินนมแม่เต็มที่ตามคำแนะนำจะพบมาการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจน้อยกว่า1 ซึ่งแสดงถึงการพบภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมในทางเดินหายใจพบน้อยกว่า ทำให้การหายจากโรคหรือความรุนแรงของโรคน่าจะน้อยกว่า ดังนั้น การสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่เต็มที่จะช่วยปกป้องลดความรุนแรงของการติดเชื้อทางเดินหายใจ และลดค่าใช้จ่ายจากภาวะแทรกซ้อนที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Parizkova P, Dankova N, Fruhauf P, Jireckova J, Zeman
J, Magner M. Associations between breastfeeding rates and infant disease: A
survey of 2338
Czech children. Nutr Diet 2020;77:310-4.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
หลังการคลอดช่วงที่มารดาให้นมลูก มารดาบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยา ซึ่งการจะเลือกใช้ยาของมารดาในระหว่างการให้นมลูกอาจมีผลทั้งต่อการเลือกชนิดของยาที่เหมาะสมที่จะไม่เป็นอันตรายต่อทารก อย่างไรก็ตาม มารดาบางคนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลของการใช้ยาจนทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น การจัดทำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกจึงมีความจำเป็น ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ที่ทันสมัยและให้คำปรึกษามารดาได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการให้ความรู้แก่มารดาในกรณีที่มีความลำบากในการเข้าถึงโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาล หรือร้านขายยาที่มีเภสัชกร ในประเทศไทยยังขาดการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาในระหว่างการให้ลูก สำหรับในต่างประเทศทที่มีการรวบรวมข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกโดยจัดทำข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ออนไลน์พบว่า สองในสามของคนที่เข้ามาหาข้อมูลเป็นมารดาหรือบิดา หนึ่งในสามเป็นบุคลากรทางการแพทย์ การเข้าถึงส่วนใหญ่ผ่านอุปกรณ์มือถือร้อยละ 73 สำหรับกลุ่มของยาที่คนเข้ามาค้นข้อมูลมากที่สุด ได้แก่ ยากลุ่มยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ โดยตัวยา ibuprofen เป็นยาที่มีคนเมาหาข้อมูลมากที่สุด1 จะให้ว่า การจัดทำข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกนอกจากจะเป็นช่องทางที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกมาวิเคราะห์ จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมถึงปัญหาของการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกของมารดาได้
เอกสารอ้างอิง
1. Paricio-Talayero JM, Mena-Tudela D, Cervera-Gasch A,
et al. Is it compatible with breastfeeding? www.e-lactancia.org :
Analysis of visits, user profile and most visited products. Int J Med Inform 2020;141:104199.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรเป็นบทบาทพื้นฐานที่แพทย์ทั่วไปควรปฏิบัติได้ แต่ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันยังมีความหลากหลายทั้งจำนวนชั่วโมงในการจัดการเรียนการสอน และการฝึกทักษะในการให้การดูแลและคำปรึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนจะขึ้นอยู่กับความให้ความสนใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของอาจารย์แพทย์ผู้ที่ดูแลนักศึกษาแพทย์ขณะที่นักศึกษาแพทย์หมุนเวียนเข้าศึกษาในหน่วยงาน ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำเบื้องต้นที่นักศึกษาแพทย์ควรต้องทราบ และปฏิบัติได้ ซึ่งนอกจากการจัดมาตรฐานขั้นต่ำแล้ว ควรมีการประเมินสมรรถนะ (competency-based) เรื่องการให้การดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของนักศึกษาแพทย์ด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้ในการประเมินแล้ว การกำหนดเป้าหมายของสมรรถนะที่นักศึกษาแพทย์ควรจะปฏิบัติได้จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมด้วย
สำหรับแพทย์ประจำบ้านที่มักจะมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ได้แก่ สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โดยแพทย์ประจำบ้านในแต่ละสาขา
ควรมีทักษะเบื้องต้นเหมือน ๆ กัน แต่มีความจำเพาะในความลึกซึ้งในการแก้ปัญหาหรือให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามความเกี่ยวข้องในแต่ละสาขานั้น
ๆ มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า
แพทย์ประจำบ้านในกลุ่มเหล่านี้ยังขาดการจัดการเรียนการสอนในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพียงพอที่จะสร้างให้เกิดความมั่นใจในการดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทักษะการให้คำปรึกษา1 ดังนั้น
จะเห็นว่าไม่ว่าเป็นการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่มีความเชื่อมโยงกันในระหว่างการจัดการเรียนการสอน
ความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องจัดให้แก่แพทย์นั้นยังขาดการจัดการเรียนการสอนที่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งนักศึกษาแพทย์ที่จะจบเป็นแพทย์ทั่วไปและแพทย์ประจำบ้านที่ศึกษาเฉพาะทางให้สามารถให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวด้วยความมั่นใจ
และถือว่าสิ่งนี้เป็นบทบาทของโรงเรียนแพทย์ที่ต้องรับรู้ พัฒนา
และปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Meek JY, Nelson JM, Hanley LE, Onyema-Melton N, Wood
JK. Landscape Analysis of Breastfeeding-Related Physician Education in the
United States. Breastfeed Med 2020.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)