รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบัน แม้มารดาจะมีความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของนมแม่มากขึ้น รวมทั้งกระแสสังคมที่มีการเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ ทำให้การสื่อสารที่จะให้กับมารดาและครอบครัวนั้นดูเหมือนจะง่ายขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคที่พบหลายอย่างที่ยังคงทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงไม่เป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่ตั้งไว้ว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนร้อยละ 50
? ? ? ? ? ? ?บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแกนนำในการรณรงค์จำเป็นต้องสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิที่ทารกจะได้รับนมแม่ โดยการสนับสนุนให้มารดาได้มีความพร้อมในการให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอดพร้อมทั้งติดตามช่วยแก้ปัญหาที่อาจนำมาซึ่งการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม การส่งเสริมนั้นต้องสื่อสารให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของนมแม่ต่อสุขภาพที่ดีของทารกและมารดาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว เพื่อสร้างความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ และสร้างให้บิดาและมารดามีส่วนร่วมในการเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับการปกป้องสิทธิของทารกที่จะได้รับนมแม่ เน้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการสื่อสารทางการตลาดที่ชักจูงและทำให้เกิดมโนคติที่จะเลือกใช้นมผงดัดแปลงในการเลี้ยงดูทารก1 ,2 ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่จะร่วมมือกัน เพื่อสร้างให้บุคลากรของโลกในอนาคตมีสุขภาพที่ดีจากการเริ่มต้นการกินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Wallingford J. Breastfeeding in the 21st century. Lancet 2016;387:2087.
Walters D, Kakietek JJ, Eberwein JD, Pullum T, Shekar M. Breastfeeding in the 21st century. Lancet 2016;387:2087.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาให้นมบุตรอย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับให้นมแม่ต่อเนื่องไปจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก โดยการเอาใจใส่และดูแลให้คำแนะนำ สนับสนุนจากบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและช่วยในเรื่องระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การขาดความต่อเนื่องของการแนะนำและย้ำเตือนถึงประโยชน์ของนมแม่ที่ยังมีมากหากทารกได้กินนมแม่จนถึงสองปีหรือนานกว่านั้น ก็มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สองปีเช่นกัน มีการศึกษาพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สองปีไม่แตกต่างกันในมารดากลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการดูแลและให้คำปรึกษาในช่วงหกเดือนแรกแล้วหยุดการให้การสนับสนุนกับมารดาที่ไม่ได้รับการให้การดูแลหรือคำปรึกษาในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลทารกอย่างต่อเนื่องร่วมกับการให้ข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ติดตามดูแลเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกที่คลินิกเด็กดี ความต่อเนื่องของการให้ข้อมูลเรื่องประโยชน์และความจำเป็นของนมแม่ในช่วงปีที่สองหรือนานกว่านั้นน่าจะช่วยให้ทารกได้กินนมแม่นานขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Silva CF, Nunes LM, Schwartz R, Giugliani ER. Effect of a pro-breastfeeding intervention on the maintenance of breastfeeding for 2 years or more: randomized clinical trial with adolescent mothers and grandmothers. BMC Pregnancy Childbirth 2016;16:97.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ในการส่งเสริมให้มารดาให้ทารกกินนมแม่นั้น การที่มารดาและทารกอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมงจะทำให้มารดาสังเกตอาการที่ทารกเริ่มรู้สึกหิวและต้องการนมได้ รวมทั้งรู้ใจว่าทารกต้องการอะไรเมื่อทารกร้องไห้หรือต้องการสื่อสารกับมารดาในเรื่องอาการไม่สบายตัวหรือขับถ่าย โดยการให้คำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องการให้ทารกนอนร่วมกันกับมารดาจะช่วยสนับสนุนให้มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น 1 ซึ่งหากมีพื้นที่ที่กว้างขวางและปลอดภัย การนอนร่วมเตียงเดียวกันสามารถทำได้ แต่หากเตียงมีพื้นที่จำกัด การนอนในห้องเดียวกันก็ยังช่วยในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การสอบถามมารดาถึงสถานที่ที่บ้านที่มารดาจัดสำหรับให้ทารกนอนร่วมกับมารดาและพิจารณาแนะนำตามความเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เพื่อความปลอดภัย และช่วยให้ทารกได้กินนมแม่ได้มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Smith LA, Geller NL, Kellams AL, et al. Infant Sleep Location and Breastfeeding Practices in the United States, 2011-2014. Acad Pediatr 2016.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การกินนมแม่ มีประโยชน์ที่หลากหลายทั้งทางด้านความเฉลียวฉลาด? และสร้างสุขภาพที่ดีเนื่องจากการได้รับภูมิคุ้มกันจากนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มต้นกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกและระยะเวลาของการกินนมแม่กับโรคสมาธิสั้น (attention-deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) ซึ่งพบว่า การเริ่มต้นกินนมแม่ในระยะแรกไม่มีความสัมพันธ์กับโรคสมาธิสั้น แต่ระยะเวลาการกินนมแม่มีความสัมพันธ์กับโรคสมาธิสั้น โดยทารกที่มีระยะเวลาการกินนมแม่ที่สั้นกว่าจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสมาธิสั้นมากกว่า 1 ดังนั้น มารดาที่อาจกังวลเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นในลูก อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมาธิสั้น โดยให้ลูกกินนมแม่ตามคำแนะนำขององค์กรอนามัยโลก คือ กินนมแม่อย่างเดียวนานหกเดือน หลังจากนั้นกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก
เอกสารอ้างอิง
Stadler DD, Musser ED, Holton KF, Shannon J, Nigg JT. Recalled Initiation and Duration of Maternal Breastfeeding Among Children with and Without ADHD in a Well Characterized Case-Control Sample. J Abnorm Child Psychol 2016;44:347-55.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การส่องไฟเพื่อรักษาอาการทารกตัวเหลืองเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารกมีหลากหลาย ได้แก่ ภาวะเลือดของมารดาและทารกไม่เข้ากัน G6PD การที่ทารกกินนมแม่ไม่เพียงพอ การติดเชื้อ เป็นต้น มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการส่องไฟทารกกับการเกิดมะเร็งในวัยเด็กของทารก ซึ่งเป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง โดยพบมะเร็งในเด็ก 25 คนเทียบกับ 18 คนต่อทารก 100000 คนในกลุ่มเปรียบเทียบ1 และอีกการศึกษาหนึ่งเพิ่มโอกาสพบมะเร็ง 32.6 คนเทียบกับ 21 ต่อทารก 100000 คนในกลุ่มเปรียบเทียบ2 จะเห็นว่า ข้อมูลหลักฐานจากการวิจัยยังมีน้อย และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมีไม่มาก อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาการใช้การส่องไฟในการรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองอย่างสมเหตุสมผล
เอกสารอ้างอิง
Newman TB, Wickremasinghe AC, Walsh EM, Grimes BA, McCulloch CE, Kuzniewicz MW. Retrospective Cohort Study of Phototherapy and Childhood Cancer in Northern California. Pediatrics 2016;137.
Wickremasinghe AC, Kuzniewicz MW, Grimes BA, McCulloch CE, Newman TB. Neonatal Phototherapy and Infantile Cancer. Pediatrics 2016;137.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)