รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? หลังคลอด สตรีที่ให้นมบุตรจะมีน้ำหนักลดลงได้ดีกว่าสตรีที่ไม่ได้ให้นมบุตร โดยน้ำหนักจะลดลงราว 0.5-1 กิโลกรัมต่อเดือนในมารดาที่มีดัชนีมวลกายปกติ สำหรับมารดาที่มีน้ำหนักเกินน้ำหนักอาจลดลงได้ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งน้ำหนักของมารดาจะกลับเข้าสู่ปกติก่อนการตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนหลังคลอด 1 อย่างไรก็ตาม ในมารดาบางคนต้องการลดน้ำหนักระหว่างการให้นมบุตร จึงเกิดคำถามว่าทำได้หรือไม่ ต้องตอบว่า โดยทั่วไปในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด ทารกอาศัยนมแม่เป็นแหล่งอาหารหลัก ดังนั้น หากมารดาจำกัดอาหาร อาจมีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารบางตัว ซึ่งอาจเกิดผลเสียแก่ทารกได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักในช่วงหกเดือนแรก อย่างไรก็ตาม หากมารดายังคงต้องการลดน้ำหนัก มีข้อแนะนำ คือ
ไม่ควรให้รับประทานอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่า 1800 กิโลแคลอรี
ไม่ควรให้น้ำหนักลดลงมากกว่า 2 กิโลกรัมต่อเดือน
ควรรับประทานอาหารให้สมส่วนและหลากหลาย โดยเฉพาะ อาหารที่มีแคลเซียม สังกะสี และอาหารที่มีวิตามินบีสูง
หากมีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องรับประทานสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุให้เพียงพอเสริม เพื่อป้องกันผลเสียต่อทารก
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ในสตรีที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน และจะมาเริ่มออกกำลังกายมากในขณะให้นมบุตร อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้ามาก ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย และอาจไม่มีเวลาที่จะใส่ใจในการให้นมบุตรเนื่องจากร่างกายต้องการการพักผ่อน แต่สำหรับสตรีที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว สามารถออกกำลังกายได้ โดยในสตรีที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการผลิตกรดเเลคติก (lactic acid) ที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด และจะมีปริมาณกรดเเลคติกเพิ่มขึ้นในน้ำนมด้วย ซึ่งปริมาณกรดเลคติกที่เพิ่มขึ้นนี้จะกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากมารดาออกกำลังกายแล้วราว 30 นาที ปริมาณกรดเเลคติกที่เพิ่มขึ้นในน้ำนมนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายแก่ทารก แต่อาจเปลี่ยนแปลงรสชาติของน้ำนมแม่ได้ โดยกรดเเลคติกจะมีรสขมและเปรี้ยว 1 ทำให้ทารกอาจปฏิเสธการกินนมแม่ในมารดาหลังจากออกกำลังกายใหม่ๆ ได้ มีข้อแนะนำสำหรับมารดาที่ออกกำลังกายในระหว่างการให้นมบุตร ดังนี้
หากมารดามีน้ำนมเต็มเต้า ควรให้ทารกกินนมก่อนการออกกำลังกาย หรืออาจบีบหรือปั๊มนมเก็บก่อนการออกกำลังกาย ทารกจะกินนมได้ปกติเนื่องจากรสชาตินมไม่เปลี่ยนแปลง
หลังการออกกำลังกาย หากทำได้เว้นระยะการให้นมบุตรราว 30 นาทีจะทำให้ระดับกรดแลคติกในน้ำนมลดลงสู่ระดับปกติ
หากจำเป็นต้องให้นมแม่หลังการออกกำลังกายทันที เช็ดเหงื่อออกจากเต้านมด้วยสำลีชุบน้ำสะอาด บีบน้ำนมในช่วงแรกออกประมาณ 5 มิลลิลิตรหรือ 1 ช้อนชา แล้วจึงให้ทารกกินนมแม่ หากทารกปฏิเสธและมีสีหน้าที่บ่งบอกถึงรสชาติของน้ำนมที่เปรี้ยวหรือขม อาจทิ้งระยะสักครู่โดยโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ แล้วจึงให้ทารกกลับมากินนมอีกครั้ง หรืออาจนำนมแม่ที่บีบเก็บไว้ก่อนการออกกำลังกายมาให้ทารกก่อนก็ได้
??????????? นอกจากนี้ แม้ในมารดาที่ออกกำลังกายโดยการวิ่งจ๊อกกิ้งขณะน้ำนมเต็มเต้าและไม่สวมชุดชั้นในพยุงทรงก็ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่าจะส่งผลทำให้เต้านมหย่อนยาน อย่างไรก็ตาม แนะนำมารดาควรใส่ชุดชั้นในพยุงทรงเพื่อรองรับน้ำหนักเต้านมที่เพิ่มขึ้น และไม่กดทับการระบายของท่อน้ำนม
เอกสารอ้างอิง
Wallace JP, Ernsthausen K, Inbar G. The influence of the fullness of milk in the breasts on the concentration of lactic acid in postexercise breast milk. Int J Sports Med 1992;13:395-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ในมารดาที่รับประทานมังสวิรัติ มักจะมีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี เนื่องจากวิตามินบีมีในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์สูง มีในผักผลไม้ต่ำ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารที่เป็นโปรตีนไม่เพียงพอ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม และสังกะสี ซึ่งชนิดของการรับประทานอาหารมังสวิรัติในแต่ละแบบ จะมีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารที่แตกต่างกัน
มารดางดรับประทานเนื้อแดง (semivegetarian) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ
มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก และอาหารทะเล (ovolactovegetarian) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี
มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่ (lactovegetarian) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี และมีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน
มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก อาหารทะเล และนม (ovovegetarien) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี แคลเซียม เหล็ก มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบีสอง วิตามินบีสิบสอง วิตามินดี และมีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน
มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก อาหารทะเล นม และไข่ (vegan) มารดาจะรับประทานอาหารเฉพาะผัก จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี แคลเซียม เหล็ก มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบีสอง วิตามินบีสิบสอง วิตามินดี และมีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน
มารดาที่รับประทานเฉพาะธัญพืช (macrobiotic) มารดาจะมีความเสี่ยงในการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทั้งในส่วนของทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และโปรตีน
??????????? จะเห็นว่า ความเสี่ยงในมารดาที่รับประทานอาหารในแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี จำเป็นต้องเสริมวิตามินบีให้กับมารดาโดยเฉพาะวิตามินบีสิบสอง ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน จำเป็นต้องรับประทานโปรตีนที่สกัดหรือสังเคราะห์จากพืช เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่เพียงพอ ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุ จำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุโดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม อย่างไรก็ตาม หากมารดาไม่สามารถรับประทานอาหาร วิตามินหรือแร่ธาตุเสริมได้อย่างเพียงพอ อาจมีความจำเป็นต้องเสริมสารอาหารในส่วนที่ขาดให้กับทารกโดยตรงเพิ่มเติมด้วย1
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ในสตรีที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามจะมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ในขณะที่สตรีที่ให้นมบุตรมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งความต้องการพลังงานในระหว่างการให้นมบุตรจะสูงกว่าในระหว่างการตั้งครรภ์และในภาวะปกติ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสตรีที่ให้นมบุตรมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตน้ำนมที่จะเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก ดังนั้น ในการรับประทานอาหารของสตรีที่ให้นมบุตรจำเป็นต้องมีการรับประทานอาหารที่เพิ่มขึ้นทั้งในปริมาณและต้องมีความหลากหลายของสารอาหารให้ครอบคลุมตามความต้องการในระหว่างการให้นมบุตร ในกรณีที่มารดารับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอหรือมีภาวะทุพโภชนาการ จะต้องผลต่อคุณค่าของน้ำนมได้ โดยมีการศึกษาพบว่า ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในนมแม่จะลดระดับลงในมารดาที่มีภาวะทุพโภชนาการ 1 ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาการในมารดา มารดาควรศึกษาถึงความต้องการสารอาหารหรือพลังงานในแต่ละวันของตนเอง เอาใจใส่ และเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมทั้งปริมาณและชนิดของสารอาหาร เพื่อให้นมแม่มีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับทารกที่เป็นที่รักที่สุด
เอกสารอ้างอิง
Miranda R, Saravia NG, Ackerman R, Murphy N, Berman S, McMurray DN. Effect of maternal nutritional status on immunological substances in human colostrum and milk. Am J Clin Nutr 1983;37:632-40.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในขณะที่สตรีให้นมบุตร อาหารที่เป็นแหล่งสำคัญในการบำรุงน้ำนม นอกจากนี้ ภาวะโภชนาการของมารดาที่มีมาก่อนหน้าในระยะที่ให้นมบุตรก็มีความสำคัญด้วย เนื่องจากสารอาหารบางตัวในน้ำนมมารดา ปริมาณของสารอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหารที่มารดาได้รับในแต่ละวันแต่ได้รับจากสารอาหารที่สะสมในร่างกายของมารดา ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำโดยทั่วไปสำหรับอาหารในสตรีที่ให้นมบุตรดังนี้1
ควรรับประทานอาหารให้ครบตามความต้องการพลังงานของร่างกาย คือ คำนวณจากค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการบวกเพิ่มอีก 500 กิโลแคลอรีในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากนม
ควรรับประทานนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้วในช่วงเช้าและเย็นหลังมื้ออาหาร
ควรจัดอาหารว่างในระหว่างมื้อในช่วงสายและในช่วงบ่าย โดยจัดเป็นอาหารที่ย่อยง่ายหรือผลไม้
ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ได้แก่ แครอท มะละกอ และฟักทอง
ไม่ควรจำกัดอาหารหรือกินยาลดน้ำหนักในระหว่างการให้นมบุตร
หากมารดากระหายน้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากระหว่างการให้นมบุตรมารดาต้องการการดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา หรือกาแฟ เนื่องจากคาเฟอีนจะผ่านน้ำนมไปที่ทารก ทำให้ทารกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่ยอมนอน (หากเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรดื่มเกินวันละสองถ้วย เพราะอาจมีอันตรายต่อทารกได้)
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)