คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

นมแม่ วัคซีนส่วนตัวสำหรับทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นในการดำรงเผ่าพันธุ์ต้องอาศัยการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นลักษณะที่สำคัญที่เป็นเสมือนลักษณะที่บ่งชี้การรอดชีวิต การสืบสานเผ่าพันธุ์ที่จะนำไปสู่การวิวัฒนาการ มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงมีพื้นฐานของการวิวัฒนาการมาเพื่อให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นมแม่จึงมีสภาพที่เป็นทั้งแหล่งอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดรวมทั้งยังเป็นวัคซีนส่วนตัวสำหรับทารกด้วย เพราะนอกจากนมแม่จะมีสารอาหารที่ครบถ้วนและมีการปรับสภาพหรือสัดส่วนให้เหมาะสมสำหรับทารกในแต่ละช่วงวัยแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันเฉพาะตัวที่สร้างมาให้จากมารดาที่ถ่ายทอดมาสู่ทารก โดยพบว่าหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง (colostrum) มีโปรตีนที่มีบทบาทเป็นภูมิคุ้มกันมากกว่า 250 ชนิดเป็นวัคซีนธรรมชาติที่ช่วยปกป้องทารก1 ช่วยในการรอดชีวิต และส่งเสริมให้ทารกมีสุขภาพที่ดี การตระหนักรู้ว่านมแม่เป็นของขวัญของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะใส่ใจและให้ความสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

  1. Vieira Borba V, Sharif K, Shoenfeld Y. Breastfeeding and autoimmunity: Programing health from the beginning. Am J Reprod Immunol 2018;79.

 

ปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะเริ่มให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดมีความสำคัญอย่างมากและถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและควรใส่ใจในการที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะเห็นว่าการรณรงค์ที่ทางสาธารณสุขได้ส่งเสริมคือ การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 162 หนึ่งคือ การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหนึ่งชั่วโมงแรก หกคือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน สองคือ ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ดังนั้น การทราบปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมง จะมีบทบาทและช่วยเหลือในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชั่วโมงแรก ได้แก่ การศึกษาที่สูงกว่า อาชีพอิสระ การมีสุขภาพของมารดาที่ดี และดัชนีมวลกายที่ปกติ ในขณะเดียวกันปัจจัยที่ส่งผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ มารดาที่อายุน้อย อ้วน มารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ มารดาที่มีการศึกษาต่ำ และมารดาที่สูบบุหรี่1 ซึ่งการมีความเข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้เป็นอย่างดี จะช่วยให้การดูแลเอาใจใส่มารดาได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Villar M, Santa-Marina L, Murcia M, et al. Social Factors Associated with Non-initiation and Cessation of Predominant Breastfeeding in a Mother-Child Cohort in Spain. Matern Child Health J 2018.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมที่มีรายได้ปานกลาง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในสังคมที่มีรายได้ปานกลาง การให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังต้องคำนึงถึงความร่วมมือที่จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาต้องกลับไปทำงาน นโยบายที่จะสนับสนุนให้มารดาสามารถลาคลอดได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นโยบายการให้ลูกได้กินนมแม่ขณะพักที่ทำงาน หรือมีเวลาที่จะปั๊มหรือบีบเก็บน้ำนม การสนับสนุนมุมนมแม่หรือสถานที่ที่เหมาะสมในการบีบเก็บน้ำนมของมารดารวมทั้งอุปกรณ์ขณะที่อยู่ที่ทำงาน1ดังนั้น การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจรวมทั้งรายได้ของประชากรจึงส่งผลต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแน่นอนหากครอบครัวของมารดามีรายได้ปานกลางในสังคมที่มีการแข่งขันอย่างมากในตลาดการค้าเสรี การออกนโยบายที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพของประชากรคือ การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จำเป็นต้องมีนโยบายที่สนับสนุนมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกับการสื่อสารรณรงค์ในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ตที่จะช่วยสร้างการขับเคลื่อนของการสร้างคนโดยพื้นฐานของการเพิ่มโอกาสการได้กินนมแม่ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทัดเทียมนานาประเทศ

เอกสารอ้างอิง

  1. Wainaina CW, Wanjohi M, Wekesah F, Woolhead G, Kimani-Murage E. Exploring the Experiences of Middle Income Mothers in Practicing Exclusive Breastfeeding in Nairobi, Kenya. Matern Child Health J 2018.

 

 

 

 

เศรษฐานะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การอาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีเศรษฐานะที่แตกต่างกันมีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่มารดาที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีรายได้น้อยจะมีอัตรากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่า ขณะที่มารดาที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีเศรษฐานะมั่งคั่งจะมีโอกาสที่จะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่า1 สิ่งนี้อาจเกิดจากการที่มีเศรษฐานะดี การศึกษาก็มักจะดี และมักจะมีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า และสามารถให้นมแม่ไปได้ยาวนานกว่า เนื่องจากการกลับไปทำงาน ไม่มีความรีบร้อน ลาพักได้ตามข้อกำหนด ไม่มีความกังวลในเรื่องรายได้หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ว่า จะเป็นปัญหา ดังนั้น การพัฒนาพื้นฐานการศึกษาและลดปัญหาเรื่องความยากจนจึงเป็นส่วนหนึ่งในพื้นฐานที่จะช่วยในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Yourkavitch J, Kane JB, Miles G. Neighborhood Disadvantage and Neighborhood Affluence: Associations with Breastfeeding Practices in Urban Areas. Matern Child Health J 2018.

 

การขาดความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์กับครอบครัวในการส่งเสริมการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อุปสรรคที่มีต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจแบ่งได้หลายแบบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยหากแบ่งเป็นอุปสรรคจากตัวบุคคล ได้แก่ ความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้การสนับสนุนและส่งเสริมการให้นมแม่จากบุคลากรทางการแพทย์ คนในครอบครัว และคนในสังคม อุปสรรคจากระบบการบริการ ได้แก่ การขาดความร่วมมือกันอย่างเพียงพอในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การมีข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงานหรือองค์กร และการจัดบริการการดูแลการคลอดและระบบหลังคลอดที่ไม่เหมาะสม อุปสรรคทางอ้อม ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยมที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ พบว่า อุปสรรคที่สำคัญที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ การขาดความร่วมมือกันอย่างเพียงพอระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัวที่จะช่วยเหลือกันในการที่จะให้ทารกได้กินนมแม่1 ดังนั้น การที่จะแก้ไขหรือทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัวต้องมีการวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดว่า จุดใดที่เป็นจุดที่สำคัญที่เป็นประเด็นที่จะส่งผลต่อความร่วมมือ เช่น จำนวนที่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการให้คำปรึกษา การกำหนดให้การให้บริการการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นภาระงาน มีค่าตอบแทนการให้บริการที่เหมาะสม และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่เหล่านี้ได้มีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน เมื่อทราบถึงและมีความร่วมมือกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ ก็จะส่งผลที่ดีต่ออนาคตที่จะเอื้อให้มารดาฝ่าฟันอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anstey EH, Coulter M, Jevitt CM, et al. Lactation Consultants’ Perceived Barriers to Providing Professional Breastfeeding Support. J Hum Lact 2018;34:51-67.