คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การให้นมทารกเพียงพอป้องกันทารกตัวเหลือง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สาเหตุของภาวะตัวเหลืองที่พบบ่อยในทารกคือ การกินนมไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการกำจัดสารเหลืองที่มากับการขับถ่ายทำได้น้อยลง จึงมีโอกาสเกิดภาวะตัวเหลืองเพิ่มขึ้น การให้ทารกกินนมบ่อยครั้งขึ้นสัมพันธ์กับการที่ทารกกินนมได้มากขึ้น ขับถ่ายสารเหลืองได้เพิ่มขึ้น จึงป้องกันและลดอาการตัวเหลืองได้ มีการศึกษาพบว่าหากให้ทารกกินนมแม่ตั้งแต่ 8 ครั้งต่อวันขึ้นไปจะมีความเสี่ยงที่เกิดภาวะตัวเหลืองน้อยกว่าทารกที่กินนมแม่น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน1,2 ดังนั้น การสื่อสารให้มารดามีความเข้าใจถึงความสำคัญของการให้นมแม่อย่างเพียงพอว่าช่วยป้องกันทารกตัวเหลืองได้ และกระตุ้นให้มารดาให้นมทารกอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน จะช่วยป้องกันและลดภาวะตัวเหลืองในทารกที่นอกเหนือจากการลดความวิตกกังวลของมารดาที่พบว่าทารกมีภาวะตัวเหลืองแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขจำนวนมากที่ต้องใช้ในการให้การดูแลรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Hassan B, Zakerihamidi M. The correlation between frequency and duration of breastfeeding and the severity of neonatal hyperbilirubinemia. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:457-63.
  2. Ketsuwan S, Baiya N, Maelhacharoenporn K, Puapornpong P. The association of breastfeeding practices with neonatal jaundice J Med Assoc Thai 2016;99(suppl.8):s36-42.

ความสำคัญของเชื้อชาติต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เชื้อชาติมีผลต่อความตั้งใจและระยะเวลาของการให้ลูกได้กินนมแม่ ในมารดาและครอบครัวที่มีเชื้อชาติที่แตกต่างกันก็จะมีความเชื่อหรือธรรมเนียมในการปฏิบัติตนเองและการเลี้ยงดูทารกที่แตกต่างกัน ดังนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย จึงทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชนชาติที่แตกต่างกันมีแนวโน้มที่จะมีความแตกต่างกันไปด้วย นอกจากนี้ ประวัติหรือสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในชนชาติหนึ่งอาจมีผลที่แตกต่างกันเมื่อมารดาเป็นคนอีกชนชาติหนึ่ง เช่น ประวัติอดีตของมารดาที่เคยได้รับการใช้ความรุนแรงในคนผิวขาวจะส่งผลทำให้มารดาเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่าที่ควร ขณะที่ประวัติอดีตของมารดาที่เคยได้รับการใช้ความรุนแรงในคนผิวดำจะเพิ่มการวางแผนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก1 เมื่อเป็นเช่นนี้ หากบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี และการตอบสนองต่ออุปสรรคต่าง ๆ ของคนในแต่ละเชื้อชาติที่ให้การดูแล ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะบรรลุสู่ความสำเร็จในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Holland ML, Thevenent-Morrison K, Mittal M, Nelson A, Dozier AM. Breastfeeding and Exposure to Past, Current, and Neighborhood Violence. Matern Child Health J 2018;22:82-91.

การกินนมแม่ป้องกันเบาหวานได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งล้วนแล้วแต่ป้องกันการเสียชีวิตของทารกที่ได้กินนมแม่แล้วทั้งสิ้น ในระยะสั้นช่วยป้องกันอาการท้องเสียจากการติดเชื้อที่ทำให้ทารกเสียชีวิตได้ในช่วงแรกของชีวิต ในระยะยาวช่วยป้องกันการเป็นเบาหวานที่เป็นโรคเรื้อรังที่จะนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคไต ที่มักเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต ดังนั้น หากมารดาได้ลงทุนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันอันตรายจากการเสียชีวิตของทารกตั้งแต่ในระยะแรกและเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่และสูงมากขึ้นด้วยการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ โดยมีการศึกษาว่า หากทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือนจะสามารถลดการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินเมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะวัยรุ่น ซึ่งการลดการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินจะช่วยป้องกันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้1 การเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้ควรมีการส่งเสริมให้มารดาและครอบครัวเข้าใจถึงความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่มากขึ้น ดังคำว่า ?ให้ลูกได้กินนมแม่เสมือนกับให้ลูกได้กินยาอายุวัฒนะ? นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Hui LL, Kwok MK, Nelson EAS, Lee SL, Leung GM, Schooling CM. The association of breastfeeding with insulin resistance at 17 years: Prospective observations from Hong Kong’s “Children of 1997” birth cohort. Matern Child Nutr 2018;14.

ปัญหาเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อมารดาให้นมบุตรในช่วงหลังคลอด โดยทั่วไปข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ ให้นมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก จะเห็นช่วงเวลาที่ให้นมบุตรตามข้อแนะนำเป็นช่วงเวลาที่นาน ในระหว่างช่วงเวลาที่ให้นมบุตรนั้น หากมารดามีโรคประจำตัวหรือมีความเจ็บป่วยขึ้น การใช้ยาก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้น ปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ คือ มารดาจะสามารถรับประทานยาแล้วยังคงให้นมบุตรได้หรือไม่ ความปลอดภัยของยาในระหว่างการให้นมบุตร และเมื่อไรจึงจะมีความจำเป็นต้องหยุดให้นมลูกหากยาที่ได้รับอาจมีผลเสียรุนแรงต่อทารก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่เผยแพร่และให้ความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งหากมีการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตจะพบหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาหลายหน่วยงาน มีทั้งที่ต้องลงทะเบียนเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมหรือค้นหาข้อมูลและแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเผยแพร่ฟรี แต่หน่วยงานที่บุคลากรทางการแพทย์คุ้นเคยได้แก่ LactMed มีการศึกษาในนอร์เวย์พบว่า ยาที่มีคนสอบถามเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรมากได้แก่ ยาต้านภาวะซึมเศร้า และข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ต้องการทราบก็คือ ความปลอดภัยของยาในระหว่างการให้นมบุตร1 แต่สำหรับในประเทศไทย ยาที่ใช้กันมากในระยะหนึ่งเดือนแรกหลังคลอด ได้แก่ ยาขับน้ำคาวปลาและยาสตรีต่าง ๆ ซึ่งขาดความจำเป็นในการใช้และอาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกได้ การให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ องค์กรที่เกี่ยวข้อง สื่อสารมวลชน รวมทั้งเครือข่ายทางสังคมต่าง ๆ ที่ควรร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Jahnsen JA, Widnes SF, Schjott J. Analysis of questions about use of drugs in breastfeeding to Norwegian drug information centres. Int Breastfeed J 2018;13:1.

 

 

การให้รางวัลสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้รางวัลแก่มารดาสำหรับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนดที่ควรจะเป็น มองดูแล้วก็เป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งที่พบว่าสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แต่จากการวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในรายละเอียดพบว่า มุมมองของมารดากับการให้รางวัลหรืออาจเป็นคูปองที่นำไปใช้ประโยชน์ในการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ เมื่อมารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนดจะมองว่า การให้รางวัลนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดหรือเป็นปัจจัยที่ทำให้มารดาเลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เมื่อมารดามีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว มารดามองว่าการได้รับรางวัลนี้เสมือนกับเป็นสิ่งที่ตอบสนองหรือทดแทนการที่ต้องผ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในการที่จะให้นมลูกได้ตามกำหนด1 นโยบายในการให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทนในการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามกำหนด ได้มีการศึกษาพบว่าช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การทำความเข้าใจถึงจิตใจมารดาและเหตุผลที่มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จที่น่าจะเกิดการเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่เป็นหลักมากกว่า บุคลากรทางการแพทย์ควรส่งเสริมให้มารดามีความตั้งใจที่จะเริ่มต้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อน หลังจากนั้นการที่จะให้รางวัลหรือประกาศนียบัตรเพื่อเป็นความภาคภูมิใจของมารดาและครอบครัวที่เป็นเครื่องย้ำเตือนให้มารดาระลึกถึงการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ที่นำสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้หากมีความเข้าใจและตระหนักในเหตุผลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้วเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Johnson M, Whelan B, Relton C, et al. Valuing breastfeeding: a qualitative study of women’s experiences of a financial incentive scheme for breastfeeding. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:20.