คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

สื่อเรื่องนมแม่มีผลต่อนโยบายของรัฐบาลและองค์กร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การสื่อสารที่เผยแพร่ข้อมูลเรื่องนมแม่ ประโยชน์ของนมแม่ ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน รวมทั้งข้อมูลวิธีการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากมีการสื่อไปในสังคมไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม ทั้งที่เป็นรูปแบบของสื่อหนังสือ หนังสือพิมพ์ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ต่อมาก็มีการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และในปัจจุบันการใช้สื่อยังรวมถึงสื่อที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย สื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนในสังคม ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล1 ที่จะส่งต่อการดำเนินงานมาสู่องค์กรภาครัฐ และยังมีผลต่อหน่วยงานในภาคเอกชนด้วย เช่น การสนับสนุนในการสร้างมุมนมแม่ในศูนย์การค้าและที่สาธารณะ ก็สามารถสร้างให้เกิดกระแสในการสนับสนุนการจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการหรือหน่วยงานภาคเอกชนได้ ดังนั้น การมองเห็นความสำคัญของการสื่อสาร โดยสื่อให้ตรงจุดตรงประเด็น และสื่อโดยสื่อที่เอื้อให้คนเข้าถึงและรับรู้ได้ จะสามารถสร้างกระแสและชักนำการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้นได้โดยการก่อให้เกิดนโยบายของจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติของคนในสังคมที่จะเอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. DeMarchis A, Ritter G, Otten J, Johnson D. Analysis of Media Coverage on Breastfeeding Policy in Washington State. J Hum Lact 2018;34:156-63.

 

ทารกแรกเกิดในระยะแรกหลังคลอดทำไมจึงมีน้ำหนักลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หลังคลอดโดยทั่วไปจะมีการชั่งน้ำหนักทารกทันที ซึ่งน้ำหนักทารกที่วัดได้จากการชั่งในครั้งแรกเมื่อหลังคลอดใหม่ ๆ จะมีค่าสูงกว่าน้ำหนักทารกเมื่อชั่งในช่วงเวลาต่อมา สิ่งนี้แสดงว่าทารกมีน้ำหนักลดลง แต่เหตุผลของการลดลงของน้ำหนักทารกแรกเกิดนั้นมีสาเหตุมาจากการชั่งทารกที่คลอดมาตั้งแต่ในระยะแรก ทารกจะแช่อยู่ในน้ำคร่ำ ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายของทารกมีสัดส่วนที่สูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการระบายน้ำออกจากปอดทารกขณะหายใจ ทารกมีการขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ และยังมีการระเหยของน้ำจากผิวหนังของทารกที่จะแห้งขึ้น ขณะทารกกระเพาะทารกยังมีขนาดเล็ก และมีความต้องการนมในปริมาณที่น้อย ทำให้ภาพรวมของน้ำหนักทารกลดลง แล้วทารกจะน้ำหนักลดลงไปถึงเมื่อไร โดยทั่วไปแล้วน้ำหนักทารกจะลดลงในช่วงสัปดาห์แรกและอัตราการลดมักลดไม่เกินร้อยละ 7 แม้ว่าบางรายงานพบว่าทารกปกติมีน้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 7 พบได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทารกทั้งหมด1 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทารกเริ่มปรับตัว กระเพาะทารกเริ่มขยายขนาดขึ้น ทารกจะเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและมากกว่าน้ำหนักแรกคลอดราวสองสัปดาห์หลังคลอด ความเข้าใจธรรมชาติเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในมารดาและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำให้การดูแลให้ทารกได้กินนมแม่ได้ตามปกติโดยปราศจากความกลัวว่าน้ำหนักทารกลดลงเพราะน้ำนมไม่เพียงพอที่พบเป็นปัญหาใหญ่ในการหยุดการให้นมแม่หรือการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกร่วมด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. DiTomasso D, Paiva AL. Neonatal Weight Matters: An Examination of Weight Changes in Full-Term Breastfeeding Newborns During the First 2 Weeks of Life. J Hum Lact 2018;34:86-92.

 

การเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่เกิดขึ้นได้เองจริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่นั้น แม้ว่าจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณในช่วงระยะเวลาหลังคลอด ในสมัยก่อน การคลอดเกิดขึ้นที่บ้าน หลังคลอดมารดาก็มักจะนำทารกมาอยู่ที่อกและกระตุ้นให้ลูกได้กินนม โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นด้วยความผ่อนคลายของมารดาหลังคลอดเมื่อผ่านพ้นระยะของการคลอดที่มีอาการเจ็บครรภ์อย่างต่อเนื่อง มีความถี่ของการเจ็บครรภ์และความรุนแรงของการเจ็บครรภ์ที่มีเพิ่มขึ้นตลอดนั้นได้ลดลงแล้ว ?มีการเปิดโอกาสให้ทารกได้อยู่ร่วมกับมารดาในช่วงเวลาหลังคลอดอย่างเต็มที่ที่จะส่งเสริมกระบวนการการปรับตัวของทารกที่จะคืบคลานจากอกแม่ไปสู่เต้านมในบรรยากาศที่สงบและไม่มีการรบกวนมารดาและทารกในระหว่างกระบวนการนี้ บรรยากาศหรือสถานการณ์เหล่านี้ได้สนับสนุนการดูดนมของทารกได้เองตามสัญชาตญาณ แต่ในปัจจุบัน การคลอดที่มีกระบวนการดูแลที่ต้องมีขั้นตอนในการตรวจทารกและดูแลมารดาที่หลากหลาย ส่งผลกระทบหรือรบกวนการเปิดโอกาสที่จะให้ทารกอยู่กับมารดาโดยสงบ ผ่อนคลาย และให้เวลาให้ทารกปรับตัวพร้อมในการดูดนมลดลง ดังนั้น การจัดการที่จะปรับหรือช่วยเหลือกลไกที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ทารกเริ่มกินนมแม่ได้จึงต้องมีการดูแล สรรสร้างความเข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ให้ทั้งมารดาและบุคลากรทางการแพทย์1 เพื่อที่จะการเริ่มต้นการกินนมแม่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พอเหมาะคือในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดโดยจัดความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่ให้มีลำดับความสำคัญมาเป็นลำดับแรกก่อนการให้การดูแลอื่น ๆ ที่สามารถเลื่อนการดูแลออกไปก่อนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Edwards ME, Jepson RG, McInnes RJ. Breastfeeding initiation: An in-depth qualitative analysis of the perspectives of women and midwives using Social Cognitive Theory. Midwifery 2018;57:8-17.

 

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดการเกิดอาการแพ้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้ลูกได้กินนมแม่ เมื่อนมแม่ได้ผ่านเข้าสู่ระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารในลำไส้ของทารกจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารกที่จะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อและควบคุมระบบการทำงานของภูมิคุ้นกันที่จะช่วยในการป้องกันโรคในระบบภูมิแพ้หรือความบกพร่องในระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านตนเอง ดังนั้น จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกทำงานเป็นปกติและมีความเข้มแข็งลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นผลเสียจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดตามผลในระยะยาว เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันอาจมีผลกระทบต่อปัจจัยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นพื้นฐานตั้งต้น มีความพยายามที่จะศึกษาถึงผลของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตย่างเข้าสู่วัยรุ่นพบว่า ทารกที่กินนมแม่เมื่อเจริญย่างเข้าสู่วัยรุ่นพบมีภาวะผิวหนังอักเสบน้อยกว่า แต่ผลในการลดการเกิดหอบหืดนั้นยังไม่ชัดเจน1 ต้องรอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมที่มากพอที่จะให้การสรุปถึงผลที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม จากพื้นฐานที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของทารกจากการกินนมแม่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและควรค่าแก่การลงทุนในด้านสุขภาพให้แก่ทารกแล้วอย่างไม่มีสิ่งใดที่ต้องลังเล

เอกสารอ้างอิง

  1. Flohr C, Henderson AJ, Kramer MS, et al. Effect of an Intervention to Promote Breastfeeding on Asthma, Lung Function, and Atopic Eczema at Age 16 Years: Follow-up of the PROBIT Randomized Trial. JAMA Pediatr 2018;172:e174064.

 

การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจมีผลดีต่อการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเครียดส่งผลเสียต่อการให้นมลูกโดยภาวะเครียดจะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่มีผลในการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินหรือฮอร์โมนแห่งความรักที่มีผลต่อการหลั่งไหลของน้ำนม ดังนั้น การฝึกให้มารดาผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ในระหว่างช่วงระยะเวลาหลังคลอดจึงเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเป็นผลดีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจของสตรีหลังคลอดมีการบำบัดได้หลากหลายวิธีในการแพทย์ทางเลือก ซึ่งไม่ว่าวิธีใด หากทำให้มารดารู้สึกผ่อนคลายของทั้งร่างกายหรือจิตใจก็น่าจะมีผลช่วยต่อการมาของน้ำนม การไหลของน้ำนม และเมื่อมารดามีจิตใจที่ผ่อนคลายและสบาย ปัญหาที่พบได้บ่อยที่เป็นปัญหาในการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควรคือ การรู้สึกว่าน้ำนมไม่เพียงพอ ก็จะพบน้อยลง ความคิดและการที่จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอื่น ๆ ของมารดาก็จะทำได้ดีขึ้น การบรรลุเป้าหมายของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาจึงพบสูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Fotiou C, Siahanidou T, Vlastarakos PV, Tavoulari EF, Chrousos G. The effect of body and mind stress-releasing techniques on the breastfeeding of full-term babies; a critical analysis of published interventional studies. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:98-105.