คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

กระเพาะลูกน้อยยังเล็กเมื่อแรกเกิด

ลูกน้อยเมื่อขณะอยู่ในครรภ์ของมารดาได้รับสารอาหารผ่านทางสายสะดือ ดังนั้น การพัฒนาเพื่อขยายตัวของกระเพาะอาหารจึงเกิดขึ้นเมื่อทารกเริ่มกินนมแม่ ซึ่งในระยะแรกเกิดใหม่ ๆ นั้นขนาดของกระเพาะของทารกจะรับอาหารได้ราว 5-10 มิลลิลิตร หรือขนาดเท่ากับลูกแก้วเท่านั้น จากนั้นจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นขนาดลูกปิงปองเมื่ออายุได้ราว 1 สัปดาห์ การเปรียบเทียบขนาดกระเพาะของทารกนี้ก็เพื่อให้มารดาได้เข้าใจถึงความสอดคล้องของปริมาณน้ำนมที่ผลิตในระยะแรกที่เป็นหัวน้ำนม แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็มักพอดีกับการขยายตัวของกระเพาะของทารก และเมื่อน้ำนมผลิตมากขึ้นก็จะพอดีกับระยะที่กระเพาะได้มีการขยายตัวเพื่อรองรับน้ำนมแล้ว อีกสิ่งที่สะท้อนให้ทราบถึงขนาดของกระเพาะทารกที่เล็กก็คือ หากให้ทารกกินนมแล้วไม่จับเรอ ทารกก็จะแหวะนมได้ง่าย เพราะลมจะเข้าไปในกระเพาะทารกขณะกินนม ร่วมกับการที่หูรูดที่หลอดอาหารยังทำงานไม่ได้ดี เมื่อมีแรงดันที่เพิ่มขึ้นในกระเพาะทารก ทารกจึงแหวะนม ดังนั้นการกินนมที่มีปริมาณมากไปจนทารกแหวะนม จึงได้รับประโยชน์น้อยและอาจเกิดอันตรายจากการสำลักได้

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ลูกเกิดมาเพื่อการกินนมแม่

หลังคลอดการที่มารดามีการสร้างน้ำนมก็เพื่อที่จะให้แก่ทารก ดังนั้นลูกที่เกิดมาก็เพื่อกินนมแม่ที่แม่สร้าง กลไกการกินนมของทารกนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากให้เวลาทารกในการปรับตัว เรียนรู้ และรับรู้จากการสัมผัสบนหน้าอกของมารดา กลิ่นของลานนมและน้ำนม สีของหัวนมที่เข้มขึ้นช่วยส่งเสริมในการมองเห็นของทารกที่ดีขึ้น แต่การให้เวลาแก่ทารกควรปราศจากการรบกวน การให้สิ่งเร้าอื่น ๆ หรือการจับทารกแยกจากอกของมารดา หากมารดาสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยการเริ่มจากให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและทารกอยู่บนอกมารดานานหนึ่งชั่วโมง การได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว จะส่งผลดีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ข้อเท็จจริงในการใช้ยากระตุ้นน้ำนมในระยะแรกหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ก่อนอื่น ควรมาทำความเข้าใจกับการสร้างน้ำนม ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

????? ระยะที่ 1 เริ่มในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ราว 5 เดือน ระยะนี้ต่อมเต้านมจะมีความพร้อมในการสร้างน้ำนม แต่ที่มักไม่พบมีการหลั่งน้ำนมเนื่องจากมารดาจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่สร้างจากรกสูงคอยยับยั้งการหลั่งน้ำนม

ระยะที่ 2 หลังคลอดในระยะแรก ราว 1-3 วันหลังการคลอด เมื่อมีการคลอดรก ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะลดลงในทันที??? ในขณะที่มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูง และมีปริมาณคอร์ติซอล (cortisol) ที่พอเหมาะ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างหัวน้ำนม ในช่วงนี้จะมีการเพิ่มของเลือด ออกซิเจน และน้ำตาลมาเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้น ร่วมกับในเต้านมเริ่มมีการสร้างและหลั่งน้ำนมออกมา ทำให้มารดาตึงคัดเต้านม การสร้างน้ำนมในระยะนี้จะเป็นหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง (colostrum) โดยกลไกการสร้างจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่ลดลงเป็นหลัก

ระยะที่ 3 จะเป็นช่วงตั้งแต่ราว 3-7 วันหลังคลอด ระยะนี้ปริมาณน้ำนมจะมีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นโดยการดูดนมและการให้นมจนเกลี้ยงเต้าจะเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการสร้างน้ำนม จากข้อมูลหลักฐานในปัจจุบัน สารที่มีผลยับยั้งการสร้างน้ำนมอยู่ในน้ำนม ได้แก่ โปรตีนเวย์ (whey) ที่ทำหน้าที่ควบคุมเป็นกลไกย้อนกลับ (feedback inhibitor of lactation) หรือทำหน้าที่เป็นสารยับยั้งการสร้างน้ำนม (lactation inhibitory factor) ในกรณีที่มีน้ำนมอยู่ในเต้านมจะควบคุมให้ผลิตน้ำนมน้อย และในกรณีที่น้ำนมเกลี้ยงเต้าจะควบคุมให้ผลิตน้ำนมมาก

ยาที่มักใช้ในการกระตุ้นน้ำนม ได้แก่ domperidone ยานี้จะออกฤทธิ์ในการกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้น แต่หากมาดูข้อมูลของระดับโปรแลคตินในช่วงหลังคลอดแล้ว จะพบว่า ?ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในช่วงระยะ 7 วันแรกหลังคลอด หากมารดามีการกระตุ้นให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ จะเท่ากับ 100 ng/ml ซึ่งจะใกล้เคียงกับระดับของฮอร์โมนโปรแลคตินเมื่อได้รับยาในระยะหลังคลอดช่วง 7 วันแรก?1-4 ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นในการที่จะใช้ยา domperidone ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่ควรแนะนำให้มารดาให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ ตั้งแต่วันละ 8 ครั้งขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยานี้ เพื่อให้การเลือกใช้ยาทำได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยา domperidone ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาในมารดาที่เป็นโรคหัวใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Walker M. Breastfeeding Management for the Clinician: Using the Evidence. Boston: Jones and Bartlett, 2006: 63-66.2.
  2. Riordan J. Breastfeeding and Human Lactation, 3rd ed. Boston and London: Jones and Bartlett, 2005: 75-77.
  3. Serri O, Chik CL, Ur E, Ezzat S. Diagnosis and management of hyperprolactinemia. CMAJ. 2003 Sep 16;169(6):575-81.
  4. da Silva OP, Knoppert DC, Angelini MM, Forret PA. Effect of domperidone on milk production in mothers of premature newborns: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. CMAJ. 2001;164:17-21.

การใช้ความรุนแรงในครอบครัวสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวในสังคมต่างประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากเพราะมีผลเสียต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน แต่ในประเทศไทยยังใส่ใจกับเรื่องนี้น้อย เนื่องจากค่านิยมในการที่มักไม่ไปยุ่งเกี่ยวหากเป็นเรื่องของสามีภรรยากัน หรือเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ในประเทศไทยเลยอาจจะขาดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเมื่อมาดูถึงผลของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวก่อให้เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วหรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สั้นกว่าที่ควรจะเป็น1 ?ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีผลเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย แต่ยังขาดข้อมูลการศึกษาถึงขนาดและความสำคัญของปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องน่าศึกษาเพื่อการวางแนวทางการช่วยแก้ไขหากพบขนาดปัญหาที่ใหญ่และส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน การวางแผนศึกษาในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวที่จะส่งเสริมสนับสนุนพื้นฐานของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Cha S, Masho SW. Association Between Intimate Partner Violence and Breastfeeding Duration: Results From the 2004-2014 Pregnancy Risk Assessment Monitoring System. J Hum Lact 2018;34:233-41.

 

ผู้ที่ดูแลการฝากครรภ์กับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? คำถามก่อนหน้านี้ที่เราพบว่า มารดาที่คลอดโดยผดุงครรภ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่คลอดโดยสูติแพทย์ มาถึงครั้งนี้แล้วมารดาที่ฝากครรภ์ที่ได้รับการดูแลโดยผดุงครรภ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างจากมารดาที่ฝากครรภ์ที่ได้รับการดูแลโดยสูติแพทย์หรือไม่ มีการศึกษาที่หาคำตอบของคำถามนี้แล้วที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่า มารดาที่ได้รับการดูแลการฝากครรภ์โดยผดุงครรภ์มีโอกาสที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ามารดาที่ได้รับการดูแลการฝากครรภ์โดยสูติแพทย์ นั่นคือหากฝากครรภ์กับผดุงครรภ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่าฝากครรภ์กับสูติแพทย์1 ซึ่งแม้สิ่งนี้ต้องไปดูในรายละเอียดของความซับซ้อนของมารดาที่อาจจะมีความแตกต่างระหว่างมารดาที่ดูแลการฝากครรภ์โดยผดุงครรภ์กับมารดาที่ดูแลการฝากครรภ์โดยสูติแพทย์ แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราหวนมาคำนึงถึงความสำคัญในการให้เวลากับการส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันให้มากขึ้นแม้ว่าจะมีการให้การดูแลมารดาที่มีความซับซ้อนของการตั้งครรภ์สูงกว่า ซึ่งการเอาใจใส่ด้วยความใส่ใจ ไม่ละเลยที่จะให้คำปรึกษา น่าจะช่วยให้ความแตกต่างเหล่านี้หมดหรือลดลงไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Lu J, Perera RA, Wheeler DC, Masho SW. The Impact of the Professional Qualifications of the Prenatal Care Provider on Breastfeeding Duration. Breastfeed Med 2018;13:106-11.