คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

รูปแบบการดูแลการคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระบวนการตั้งแต่การดูแลครรภ์ จนกระทั่งมารดาคลอด และการดูแลมารดาหลังคลอดล้วนมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบุคลาการทางการแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานพยาบาล1 โดยนับตั้งแต่มารดาเริ่มตั้งครรภ์และเริ่มมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ควรมีการให้ความรู้เรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวรวมถึงบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ปู่ย่า ตายาย ในระหว่างการฝากครรภ์ มารดาควรได้รับการตรวจร่างกายและตรวจเต้านมเพื่อดูความพร้อมในการให้นมแม่และความผิดปกติที่อาจพบในระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อมารดามีการตั้งครรภ์ครบกำหนดและเข้าสู่การคลอด การมีบุคลากรที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยชี้แนะแนวทาง ให้กำลังใจ และให้คำปรึกษากรณีที่มารดามีปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลการคลอดควรพิจารณาตามความเสี่ยงของมารดา หากมีความเสี่ยงต่ำอาจไม่มีความจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารในระหว่างการรอคลอดในช่วงแรกเพื่อไม่ให้มารดาอ่อนเพลียหรือเกิดภาวะเครียดในระหว่างการรอคลอด ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นซึ่งพบเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด ควรเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการสอนมารดาจัดท่าให้นมลูกอย่างเหมาะสมรวมทั้งการสอนมารดาบีบน้ำนมด้วยมือ กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญเมื่อต้องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Simon JA, Carabetta M, Rieth EF, Barnett KM. Perioperative Care of the Breastfeeding Patient. AORN J 2018;107:465-74.

 

 

 

ความสำคัญของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (Baby Friendly Hospital Initiative หรือ BFHI) คือ โรงพยาบาลที่เป็นมิตรแก่ทารกและสนับสนุนการให้ทารกได้กินนมแม่ การเป็นมิตรแก่ทารกคือมีนโยบายในการดูแลให้ทารกมีการคลอดอย่างปลอดภัยและมีการดูแลหลังคลอดอย่างเหมาะสมรวมถึงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งได้รับการศึกษาและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า สามารถช่วยให้มารดาให้นมลูกได้สำเร็จหรือก็คือการช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่ามารดาทั่วโลกน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่คลอดในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก2 ซึ่งทำให้มารดาพลาดโอกาสที่จะให้นมแม่แก่ลูกสำเร็จ และผลคือยังไม่บรรลุเป้าหมายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ดังนั้น การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อเพิ่มโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ร่วมกับมีรูปแบบอื่นในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ บันไดสิบขั้นในการดูแลทารกที่ป่วย การให้ความรู้แก่มารดาในระหว่างการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด การเพิ่มระยะเวลาการลาคลอด การช่วยแก้ปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลากหลายภาคส่วน

เอกสารอ้างอิง

  1. Spaeth A, Zemp E, Merten S, Dratva J. Baby-Friendly Hospital designation has a sustained impact on continued breastfeeding. Maternal and Child Nutrition 2018;14.
  2. Spatz DL. Beyond BFHI: The Spatz 10-Step and Breastfeeding Resource Nurse Model to Improve Human Milk and Breastfeeding Outcomes. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:164-74.

สมุนไพรหลายชนิดช่วยเพิ่มนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โดยทั่วไปนมแม่มักจะมีเพียงพอสำหรับทารก ดังนั้นจึงมักไม่มีความจำเป็นในการที่จะเพิ่มน้ำนมแม่ อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาต่าง ๆ หลายการศึกษามีความพยายามจะหาตัวยาหรือสมุนไพรที่จะช่วยเพิ่มน้ำนมแม่ ซึ่งสมุนไพรที่น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมก็มีหลายตัว ทั้งสมุนไพรที่มีรากฐานมาจากประเทศแถบตะวันตก เช่น Fenugreek, Chamomile, Silymarin และ galega และสมุนไพรจากประเทศทางตะวันออก ซึ่งในประเทศไทยมีการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพบว่า การให้ขิงที่ผลิตในรูปแคปซูลแก่มารดาหลังคลอดสามารถเพิ่มน้ำนมแม่ในสัปดาห์แรกได้1 และมีการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การให้สมุนไพรผสมระหว่าง Fenugreek ขิง และขมิ้นแก่มารดาหลังคลอดสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ดีเริ่มในสัปดาห์ที่สองจนถึงหนึ่งเดือนหลังคลอด2 แม้ความรู้เชิงวิชาการนี้มีความสำคัญ แต่การนำมาปรับใข้ในสภาพชีวิตประจำวันยังมีความลำบาก เนื่องจากในการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นขิงผงแห้ง ขณะที่ในอาหารที่รับประทานจะเป็นขิงสด ซึ่งการคำนวณปริมาณสารที่ออกฤทธิ์เทียบเคียงกันยาก และยังมีความหลายหลากของปริมาณสารออกฤทธิ์ที่อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่ปลูก แต่ก็ต้องถือว่าโชคดี ที่ปริมาณของขิงที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนใหญ่แล้วมักจะมีปริมาณที่สูงกว่าขิงแคปซูลที่ทำการศึกษา ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับการใช้อาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม การกินอาหารไทยที่มีส่วนประกอบของขิงวันละ 1-2 ครั้งต่อวันน่าจะช่วยเรื่องปริมาณน้ำนมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. Bumrungpert A, Somboonpanyakul P, Pavadhgul P, Thaninthranon S. Effects of Fenugreek, Ginger, and Turmeric Supplementation on Human Milk Volume and Nutrient Content in Breastfeeding Mothers: A Randomized Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2018.

 

 

 

การให้คำปรึกษาแนวคิดทางปัญญาช่วยให้มารดาเข้าเต้าได้ดีขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การให้ความรู้แก่มารดาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ยังวมีรูปแบบการให้ความรู้ที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง คือ การให้คำปรึกษาแนวคิดทางปัญญา (cognitive counselling) ซึ่งมีรายงานการศึกษาว่าสามารถช่วยปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับการให้คำปรึกษาได้ มีการนำการให้คำปรึกษาแนวคิดทางปัญญามาใช้ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยให้คำปรึกษามารดาในระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สาม ซึ่งมีการเลือกใช้คะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) เป็นตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของการให้คำปรึกษา ผลการศึกษาพบว่า มารดาที่ได้รับการให้คำปรึกษาแนวคิดทางปัญญาสามารถเข้าเต้าได้ดีกว่ามารดาที่ได้รับการให้ความรู้ตามปกติ1 ซึ่งคำอธิบายอาจเป็นเนื่องจากกระบวนการการให้คำปรึกษาแนวคิดทางปัญญานั้น ได้มีกระบวนการให้มารดาได้คิดวิเคราะห์เหตุผลและหาคำตอบด้วยตนเอง เมื่อได้คำตอบที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ของตนเองมาแล้ว ทัศนคติหรือการปฏิบัติก็จะมีการปรับเปลี่ยนตามความคิดที่ได้ข้อสรุปแล้ว เมื่อนำมาใช้ในการสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงพบว่าสามารถส่งเสริมให้มารดามีพฤติกรรมการเข้าเต้าได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Sreekumar K, D’Lima A, Silveira MP, Gaonkar R. Cognitive Breastfeeding Counseling: A Single Session Helps Improve LATCH Score. J Perinat Educ 2018;27:148-51.

การให้ลูกได้กินนมแม่ป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันของทารกโดยไม่ทราบสาเหตุ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ประโยชน์ของนมแม่มีทั้งด้านมารดาและทารก สำหรับประโยชน์หนึ่งที่น่าสนใจคือ การลดการเสียชีวิตของทารกเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (infant sudden death syndrome หรือ SIDS)1 แม้ว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของทารกจะยังไม่ทราบสาเหตุที่น่าชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่พยายามป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดแก่ทารกโดยแนะนำลักษณะการนอนของทารกที่เหมาะสม ในต่างประเทศโดยทั่วไปในสมัยก่อนมักให้ทารกนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ซึ่งการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำของทารกจะทำให้ศีรษะทารกโหนกนูน ไม่แบน ซึ่งลักษณะของศีรษะเช่นนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การนอนตะแคงหรือนอนคว่ำของทารกมักมีความเสี่ยงจากขาดอากาศหายใจจากการพลิกคว่ำหน้าของทารก ปัจจุบันจะแนะนำให้ทารกนอนหงายเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ นอกเหนือจากนี้ ลักษณะของหมอนและที่นอนที่ใช้ในทารกควรเหมาะสม ไม่นุ่มจนเกินไป และที่นอนไม่ควรมีร่องหรือหลุมที่ทารกจะตกลงไปได้ สำหรับการนอนร่วมเตียงกับมารดาเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรมีพื้นที่ที่กว้างพอและลักษณะที่นอนควรมีความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยก่อน จะให้ทารกนอนหงาย และใช้เบาะรองทารก ซึ่งเบาะที่ใช้รองรับทารกนี้จะนุ่ม ซึ่งทารกจะพลิกไม่ได้ ความเสี่ยงของการเกิดการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากการคว่ำหน้าของทารกน้อย แต่จะพบว่าทารกเมื่อทารกโตขึ้นจะมีศีรษะแบน ซึ่งไม่เป็นที่นิยม เมื่อค่านิยมของลักษณะศีรษะที่โหนกนูนจากต่างประเทศแพร่เข้ามา การจัดท่านอนของทารกของคนไทยจึงเปลี่ยนแปลงไปตามแบบตะวันตก ดังนั้น ความสำคัญในเรื่องนี้คงต้องคิดและพิจารณาว่าความปลอดภัยของทารกน่าจะต้องมาก่อนความชอบหรือค่านิยม

เอกสารอ้างอิง

  1. Ward TCS, Kanu FA, Anderson AK. Trends and Factors Associated with Breastfeeding and Infant Sleep Practices in Georgia. J Commun Health 2018;43:496-507.