คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                บางคนอาจจะยังมีคำถามว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือไม่ ปัจจุบันมีคำตอบจากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทบทวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic review) จากงานวิจัยที่ได้มาตรฐานจำนวน 26 งานวิจัยจากปี ค.ศ. 2000-2017 พบว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (breastfeeding promotion intervention) เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนถึง 2.27 เท่าเมื่อเทียบกับการปฏิบัติตามมาตรฐานปกติ (standard care)1 ดังนั้น การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมโดยเฉพาะเมื่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนของโรงพยาบาลยังต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือร้อยละ 50 โดยเป็นการเพิ่มเติมและสอดแทรกเข้าไปในการดูแลมารดาและทารก เพื่อจะช่วยให้โรงพยาบาลบรรลุเป้าหมายและช่วยให้เด็กไทยได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim SK, Park S, Oh J, Kim J, Ahn S. Corrigendum to “Interventions promoting exclusive breastfeeding up to six months after birth: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials” [Int. J. Nurs. Stud. 80 (April) (2018) 94-105]. Int J Nurs Stud 2019;89:132-7.

ระยะของการกินนมแม่มีความสัมพันธ์การลดการเกิดโรคอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การที่ทารกได้กินนมแม่นอกจากจะช่วยส่งเสริมภูมิคุ้นกันของทารกแล้ว ผลในระยะยาวยังช่วยเรื่องโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อการเกิดโรคทางเมตาบอลิกที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในปัจจุบัน นอกจากการมีประวัติที่ได้กินนมแม่แล้วจะได้ประโยชน์ในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการศึกษาถึงระยะเวลาที่ทารกได้กินนมแม่พบว่า ระยะเวลาในการกินนมแม่ยิ่งนานจะยิ่งมีผลดีต่อการลดการเกิดโรคอ้วน1 ซึ่งการศึกษานี้ศึกษาในประเทศเกาหลีจากกลุ่มตัวอย่างสตรี 2027 ราย อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้พบว่าระยะเวลาของการกินนมแม่อาจสัมพันธ์กับภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยเมื่อทารกสตรีมีอายุมากขึ้น แต่ยังมีตัวแปรกวนที่อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนไปที่สำคัญคือ อายุ การกินอาหาร และการออกกำลังกาย ดังนั้น ข้อสรุปเรื่องผลต่อภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Kim JY, Kim DH, Kim YH, Shin HY. Associations of Breastfeeding Duration and Reproductive Factors with Sarcopenia in Elderly Korean Women: A Cross-Sectional Study from the Korea National Health and Nutrition Examination Survey 2010-2011. Korean J Fam Med 2019.

 

มารดาที่ขาดไอโอดีนอาจจะมีการขาดซีลีเนียมในทารกด้วย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ในมารดาที่อยู่ในพื้นที่ที่ขาดสารไอโอดีน มักพบว่าอาจจะมีการขาดธาตุซีลีเนียมด้วย ความต้องการซีลีเนียม (selenium) ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวันละ 70 ไมโครกรัม ความต้องการซีลีเนียมเพิ่มจากภาวะปกติ 15 ไมโครกรัมต่อวัน ซีลีเนียมพบในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ปลาทูน่า และธัญพืช ซึ่งจะคล้ายกับอาหารที่มีไอโอดีน ซีลีเนียมจะช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการทำงานของต่อมไทรอยด์1 ดังนั้น หากมารดามีประวัติที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน ควรมีการตรวจการขาดซีลีเนียมด้วย หรืออาจจะเลือกที่จะเสริมไอโอดีนไปพร้อมกับซีลีเนียมเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามการเลือกแนวทางการดูแลรักษาในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและบริบทของโรงพยาบาลในแต่ละโรงพยาบาลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Jin Y, Coad J, Weber JL, Thomson JS, Brough L. Selenium Intake in Iodine-Deficient Pregnant and Breastfeeding Women in New Zealand. Nutrients 2019;11.

 

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การที่มารดาเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์พบว่าเมื่อติดตามมารดาอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต มารดาราวครึ่งหนึ่งมีโอกาสที่จะพบเป็นเบาหวานได้ การให้ลูกได้กินนมแม่พบว่ามีผลกระทบต่อมารดาในการเผาพลาญอาหารและเมตาบอลิซึ่ม รวมทั้งเบาหวานของมารดาด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนจะช่วยเรื่องการเผาพลาญอาหารและเมตาบอลิซึ่ม พร้อมทั้งป้องกันระดับน้ำตาลที่ผิดปกติของมารดาในอนาคต1 ซึ่งหมายถึงน่าจะป้องกันการเกิดเบาหวานของมารดาด้วย ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลยที่จะให้คำแนะนำแก่มารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ในการที่จะให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานในอนาคตให้น้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Corrado F, Giunta L, Granese R, et al. Metabolic effects of breastfeeding in women with previous gestational diabetes diagnosed according to the IADPSG criteria. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:225-8.

 

มารดาที่ผ่าตัดเสริมเต้านมมีโอกาสให้นมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ค่านิยมเรื่องการเสริมเต้านมในสตรีนั้นในปัจจุบันได้รับการยอมรับทางสังคมและมีการผ่าตัดเสริมเต้านมสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเสริมเต้านมในมารดาในทางการแพทย์อาจมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีการศึกษาในประเทศฝรั่งเศสที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมสตรีจำนวน 1073 ราย มีสตรีที่ตั้งครรภ์และคลอดจำนวน 75 ราย มี 51 รายที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใส่วัสดุเสริมเต้านมหลังต่อมน้ำนม (retroglandular implant) จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยกว่ามารดาที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใส่วัสดุเสริมเต้านมหลังกล้ามเนื้อหน้าอก (retromuscular implant)1 ดังนั้นในมารดาที่วางแผนตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมและควรเลือกวิธีที่เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bompy L, Gerenton B, Cristofari S, et al. Impact on Breastfeeding According to Implant Features in Breast Augmentation: A Multicentric Retrospective Study. Ann Plast Surg 2019;82:11-4.