คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสามวันแรกทำนายการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วจะช่วยเพิ่มอัตราและระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมักจะมีคำกล่าวที่ว่า การเริ่มต้นที่ดีมักจะมีผลลัพธ์ที่ดีตามมาด้วย รวมถึงในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เช่นกัน มีการตั้งสมมติฐานว่า การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงสามวันแรกหลังคลอดมีความสัมพันธ์กับผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และได้มีการศึกษาในประเทศบังคลาเทศพบว่า การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสามวันแรกหลังคลอดสามารถทำนายการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกได้1 ดังนั้น สิ่งนี้เป็นการเน้นย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์ใส่ใจในการดูแลการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดที่มารดาและทารกอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสำเร็จ โอกาสที่มารดาจะสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.            Raihan MJ, Choudhury N, Haque MA, Farzana FD, Ali M, Ahmed T. Feeding during the first 3 days after birth other than breast milk is associated with early cessation of exclusive breastfeeding. Matern Child Nutr 2020:e12971.

ปัจจัยที่สำคัญต่อมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โรงพยาบาล

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีทั้งปัจจัยพื้นฐานส่วนตัวของมารดาที่เกี่ยวข้องกับด้านร่างกายและจิตใจ ปัจจัยในครอบครัว และปัจจัยทางสังคม ความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมขนบประเพณีที่มีอยู่ในแต่ละสังคม แต่หากมาพิจารณาถึงปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาขณะอยู่ในโรงพยาบาลช่วงหลังคลอดจะพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แม้ยังมีความสำคัญ แต่จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างกันไป โดยพบว่าปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ การมีบุคลากรที่ทักษะในการให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งโรงพยาบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะให้ความสำคัญกับจุดนี้

เอกสารอ้างอิง

1.            Ragusa R, Giorgianni G, Marranzano M, et al. Breastfeeding in Hospitals: Factors Influencing Maternal Choice in Italy. Int J Environ Res Public Health 2020;17.

หลักสูตรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับแพทย์ประจำบ้านเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สูตินรีแพทย์เป็นแพทย์ที่มีความใกล้ชิดกับมารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ ระยะคลอด และในระยะหลังคลอด ดังนั้นมารดาและครอบครัวจึงมักมีความใกล้ชิดและเชื่อมั่นในการให้คำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ อย่างไรก็ตาม สูตินรีแพทย์มักขาดความรู้ หรือมีความรู้ที่ไม่เพียงพอ และขาดความเชื่อมั่นในการที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัว ซึ่งมีการศึกษาโดยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่สูตินรีแพทย์พบว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่หกเดือนก่อนและหลังการจัดหลักสูตรพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหลังการจัดหลักสูตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น การสนับสนุนให้สูตินรีแพทย์มีความรู้ที่เพียงพอในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้แพทย์ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยความมั่นใจและช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่หกเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Qureshey E, Louis-Jacques AF, Abunamous Y, Curet S, Quinones J. Impact of a Formal Lactation Curriculum for Residents on Breastfeeding Rates Among Low-Income Women. J Perinat Educ 2020;29:83-9.

การให้คำปรึกษาระหว่างการฝากครรภ์ช่วยในให้มารดาเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยในอัตราและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การสนับสนุนให้มารดาได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วจึงเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ มีการศึกษาถึงผลของกระบวนการให้คำปรึกษาเรื่องการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดพบว่า มารดาที่ได้รับการให้คำปรึกษาในเรื่องการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกมากกว่ามารดาที่ไม่ได้มีการให้คำปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญ1 นี่อาจแสดงให้เห็นว่า หากมารดารับทราบเหตุผลและประโยชน์ของการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วจะมีผลต่อการปฏิบัติซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.            Qurat ul A, Mehmood H, Maroof S, Madiha. Effect of antenatal counselling on early initiation of breastfeeding, an interventional study at two Federal Hospitals, Islamabad Pakistan. J Pak Med Assoc 2020;70:70-3.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีต่อทั้งสุขภาพมารดาและทารก แม้ว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่มีผลการศึกษาจากในหลาย ๆ ประเทศ1 แต่ยังขาดการส่งเสริมและสนับสนุนที่ชัดเจนในนโยบายของประเทศ การประเมินและการติดตามผลของความสำเร็จของการลงทุนเพื่อมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมุมมองความคุ้มค่าในการลงทุนนี้ ควรมีในสำนึกของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ โดยสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงคุณภาพของบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งสะท้อนพื้นฐานของการความรู้ในเรื่องการพัฒนาของประชากรทั่วไปในสังคมด้วย ซึ่งการพัฒนาให้เกิดคุณภาพของบุคลากรและประชากรในสังคมจะต้องอาศัยพื้นฐานของการพัฒนาระบบการศึกษาและการสอนให้บุคลากรและประชากรมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยหากมองย้อนไปที่จุดเริ่มต้น จะพบว่าการเริ่มต้นของการสร้างคุณภาพที่ดีของประชากรก็คือ การเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

1.            Quesada JA, Mendez I, Martin-Gil R. The economic benefits of increasing breastfeeding rates in Spain. Int Breastfeed J 2020;15:34.