คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การขาดการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเรียนรู้หรือการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากศาสตร์ของความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการให้บริการในวิชาชีพ เมื่อขาดความเชื่อมั่นก็จะเป็นอุปสรรคในการให้คำปรึกษาและดูแลผู้รับบริการ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลต่อวิชาชีพทุกวิชาชีพรวมทั้งวิชาชีพของทั้งแพทย์และพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่มีความทันสมัย ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการโดยไม่เว้นแม้แต่ในการให้การดูแลมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะพบว่า หากบุคลากรทางการแพทย์ขาดการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย1

เอกสารอ้างอิง

1.            Pemo K, Phillips D, Hutchinson AM. Midwives’ perceptions of barriers to exclusive breastfeeding in Bhutan: A qualitative study. Women Birth 2020;33:e377-e84.

พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กใช้ได้ผลไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้จะมีความดีใจที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดสำหรับอาหารทารกและเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 คือ แต่ผลของการบังคับใช้ ยังไม่มีออกมาชัดเจน และขาดการสื่อสารให้คนในสังคมทราบ กฎหมายนี้ออกมาเพื่อควบคุมการใช้การส่งเสริมการตลาดเพื่อขายสินค้าให้แก่มารดาและทารกโดยขาดจริยธรรม หากเรามองดูตัวอย่างจากประเทศบราซิลที่มีกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาอดอาหารทารกและเด็กเล็กเหมือนกัน มีการศึกษารวบรวมข้อมูลพบว่า มีการฝ่าฝืนกฎหมายถึง 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุดคือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก และความผิดที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ การเสนอส่วนลด และการเสนอเงื่อนไขพิเศษในการจูงใจมารดาและครอบครัว1 ดังนั้น การทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันในสังคม จึงเป็นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบที่จะช่วยสร้างให้เกิดสำนึกในการดูแล ไม่ปล่อยปะละเลย ให้เป็นเพียงหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง สิ่งนี้จะช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Silva KBD, Oliveira MIC, Boccolini CS, Sally EOF. Illegal commercial promotion of products competing with breastfeeding. Rev Saude Publica 2020;54:10.

ภาวะเครียดและซึมเศร้าของมารดาหลังคลอดลดลงจากการให้ลูกกินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระยะหลังคลอด มารดาจะมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้าได้ เนื่องจากมารดามีอาการเจ็บปวดระหว่างการคลอด มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและระบบฮอร์โมน มีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากการคลอด ซึ่งสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อสภาวะทางด้านจิตใจของมารดา ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดภาวะเครียดและอาการซึมเศร้าของมารดาลงได้ โดยยิ่งให้ลูกกินนมแม่นานยิ่งสัมพันธ์กับการลดภาวะเครียดและอาการซึมเศร้ายิ่งมาก1 ในทางกลับกัน หากพบว่ามารดามีภาวะเครียดหรือซึมเศร้าจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะช่วยให้สุขภาวะทางอารมณ์ของมารดาดี และเมื่อมารดามีสุขภาวะทางอารมณ์ดีก็จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ดีด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Shay M, Tomfohr-Madsen L, Tough S. Maternal psychological distress and child weight at 24 months: investigating indirect effects through breastfeeding in the All Our Families cohort. Can J Public Health 2020.

การสอนมารดาระหว่างการฝากครรภ์ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและส่งผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าในสมัยก่อนมักมีความเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสัญชาตญาณที่มารดาทุกคนต้องทำได้ แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป แม่ที่เป็นมารดาจะมีความห่างไกลจากประสบการณ์การเห็นแม่ของแม่ คนในบ้าน หรือเพื่อนบ้านให้นมลูก และการขาดผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้นมลูกอยู่ในครอบครัวที่จะคอยแนะนำและช่วยเหลือมารดาหากมารดามีปัญหาในการให้นมแม่ เนื่องจากการที่เป็นครอบครัวเดี่ยวซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น ความจำเป็นในการสอนมารดาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญ และจากการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) พบว่า การสอนมารดาเรื่องาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในระยะหลังคลอดได้1 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดให้มีการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมระหว่างการฝากครรภ์โดยจัดให้เป็นงานประจำ

เอกสารอ้างอิง

1.        Shafaei FS, Mirghafourvand M, Havizari S. The effect of prenatal counseling on breastfeeding self-efficacy and frequency of breastfeeding problems in mothers with previous unsuccessful breastfeeding: a randomized controlled clinical trial. BMC Womens Health 2020;20:94.

ทำไมการให้ลูกกินนมแม่ตามอายุของทารกจึงยังไม่เหมาะสม

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในทารกแรกเกิดจนถึงหกเดือน มารดาควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้น มารดาควรจะให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งหากพิจารณาอาหารที่ทารกควรจะได้รับตามอายุพบว่า ในช่วงอายุที่ทารกควรกินนมแม่ยังขาดความเหมาะสม โดยสาเหตุที่พบจากการรายงานในประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ การที่มารดารู้สึกว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ อิทธิพลของสมาชิกในครอบครัวที่มีส่วนในการตัดสินใจที่จะเริ่มอาหารเสริม หรือเลือกที่จะเปลี่ยนจากการให้นมแม่เป็นการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือ ในมารดาที่มีรายได้สูงหรือรวยจะมีแนวโน้มหรือที่จะเปลี่ยนไปให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเร็ว1 ซึ่งหากกลับมามองถึงข้อมูลในประเทศไทย ลักษณะที่พบเทียบเคียงแล้วมีความคล้ายคลึงกัน แต่ยังพบว่าปัจจัยในเรื่องมารดาต้องกลับไปทำงานยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ในช่วงหกเดือนแรกทารกไม่ได้รับการกินนมแม่อย่างเดียว แนวทางที่จะช่วยปรับปรุงให้ทารกได้รับนมแม่ตามวัยที่เหมาะสมจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งทางภาครัฐที่จะออกนโยบายปกป้องและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การรณรงค์ให้ความรู้ที่เหมาะสมกับประชาชน การเพิ่มระยะเวลาการลาพักหลังคลอดเป็นหกเดือนเพื่อเปิดโอกาสให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ร่วมกับการให้ความร่วมมือของภาคเอกชนที่จัดทำสถานที่บีบเก็บน้ำนมในสถานประกอบการ การจัดทำมุมนมแม่ในที่ห้างสรรพสินค้าหรือที่สาธารณะ และการสร้างค่านิยมที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เกิดกับคนในสังคมซึ่งส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัวที่จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกให้ทารกได้กินนมแม่หรืออาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัยของทารก

เอกสารอ้างอิง

1.        Sebayang SK, Dibley MJ, Astutik E, Efendi F, Kelly PJ, Li M. Determinants of age-appropriate breastfeeding, dietary diversity, and consumption of animal source foods among Indonesian children. Matern Child Nutr 2020;16:e12889.