รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเป็นสัปดาห์นมแม่โลกเพื่อรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปัจจุบัน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 41 โดยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรยูนิเซฟปี พ.ศ. 2558-2559 อยู่ที่ร้อยละ 23 แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดำเนินการตามแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมีความสำคัญ แต่ในสถานพยาบาลหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ขาดการปฏิบัติหรือปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนหรือขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนซึมซับเป็นวัฒนธรรมองค์กร การใช้กลไกสัปดาห์นมแม่โลกที่อยู่ใกล้กับช่วงวันแม่แห่งชาติมาใช้กระตุ้นเตือน เพื่อใช้ปรับปรุงระบบการจัดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาล ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรนมแม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยจัดให้มีการนำเสนอข้อมูลตัวชี้วัดต่าง ๆ ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป จัดให้มีการมอบประกาศนียบัตรชื่นชมบุคลากรหรือหน่วยงานที่มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี การเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เสนอปัญหาหรือเสนอคำถามวิจัยที่จะใช้แก้ปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่เอื้อต่อการศึกษาวิจัยความรู้ใหม่ หรือเพื่อรับทราบและแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เมื่อมีการจัดให้มีการทบทวนระบบการพัฒนาตนเองเช่นนี้ทุกปีในช่วงสัปดาห์นมแม่โลกหรือในช่วงวันแม่แห่งชาติ วัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเกิดขึ้นโดยที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน1
เอกสารอ้างอิง
1. Spatz DL. Using World Breastfeeding Week to Transform
Institutional Culture. MCN Am J Matern Child Nurs 2020;45:126.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในปัจจุบัน
ทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19
บางประเทศยังไม่ผ่านการระบาดรอบแรก ขณะที่บางประเทศมีการระบาดรอบสองที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจไปด้วยพร้อม ๆ กัน ปัญหาการขาดรายได้
คนตกงาน สินค้าบางประเภทขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังคงได้รับการแนะนำให้มีการปฏิบัติ
เนื่องจากประโยชน์หรือคุณค่าที่จะได้รับจากการที่ทารกกินนมแม่ยังคงสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่ทารก
ดังนั้น ควรถือเป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในช่วงระยะฝากครรภ์
โดยมีการอธิบายมากขึ้นถึงความรู้เรื่องนมแม่ สารอาหารและภูมิคุ้มกันในนมแม่
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการกินนมแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในมารดาและทารก การปฏิบัติที่จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
19 ในระหว่างการให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งความรู้เหล่านี้ควรให้ทั้งแก่มารดาและครอบครัว
เพื่อให้มารดาได้มีครอบครัวที่จะช่วยเสริมแรงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง
2 สัปดาห์แรกที่มารดาจะต้องมีการปรับตัวร่วมกับทารกในการที่จะรู้ใจกันและให้นมแม่ได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของทารก1
เอกสารอ้างอิง
1. Spatz DL. Using the Coronavirus Pandemic as an
Opportunity to Address the Use of Human Milk and Breastfeeding as Lifesaving
Medical Interventions. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2020;49:225-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน
ปัญหานี้ไม่เพียงพบในวัยผู้ใหญ่แต่ยังมีข้อมูลว่าพบในวัยเด็กด้วย
และนิสัยการกินหวานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งการกินนมแม่จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก
และยังพบว่าช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็กด้วย1 ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว
ยังช่วยเรื่องนิสัยการกินที่ดีคือ ลดการกินหวาน
ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคที่มีผลจากการกินที่ไม่ถูกลักษณะ ได้แก่ กลุ่มอาการเมตาบอลิก
โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เมื่อทารกเจริญวัยขึ้น
โดยจะส่งผลต่อคุญภาพชีวิตที่ดีหากไม่มีโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเหล่านี้
เอกสารอ้างอิง
1. Spaniol AM, da Costa THM, Bortolini GA, Gubert MB.
Breastfeeding reduces ultra-processed foods and sweetened beverages consumption
among children under two years old. BMC Public Health 2020;20:330.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างที่มารดาไปคลอดบุตร ได้รับยาหลากหลายชนิด ยาที่มารดาได้รับระหว่างการคลอดบุตรมีผลเสียต่อการรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ สิ่งที่พบคือ การใช้ยากลุ่มมอร์ฟีน จะมีการใช้ยาบ่อยในระหว่างการคลอดบุตรและพบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะทราบว่ายามอร์ฟืนจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่แพทย์ยังขาดความตระหนักถึงผลเสียนี้ และไม่ได้มีการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการลดความเจ็บครรภ์ระหว่างการคลอด ซึ่งจะช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีนลงด้วย สำหรับยาอื่น ๆ ที่พบว่ามีการใช้บ่อย ๆ ด้วย ได้แก่ ออกซิโตซิน, lidocaine, ketoprofen และ diclofenac ไม่พบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การสื่อสารที่เหมาะสมในเรื่องยาที่จะให้แก่มารดาและการสร้างความตระหนักในการใช้ยาให้แก่แพทย์จึงเป็นสิ่งที่ควรมีการให้ความสำคัญ เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Silveira MPT, Possignollo J, Miranda VIA, et al.
Breastfeeding and risk classification of medications used during
hospitalization for delivery: 2015 Pelotas Birth Cohort. Rev Bras Epidemiol 2020;23:e200026.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมีคำถามถึงว่า “ใครมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก?”
อาจมีคำตอบหลายคำตอบที่ตอบมา ได้แก่ แพทย์ผู้ดูแลการคลอด
พยาบาลผู้ช่วยในการดูแลการคลอด หรืออาจจะมีตำตอบว่าเป็นตัวมารดาเอง
แน่นอนว่าคำตอบที่ตอบมามีส่วนถูกทั้งสิ้น แต่มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก
คือ พยาบาลผู้ช่วยในการดูแลการคลอด1 เนื่องจากจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับมารดาในระยะคลอดและหลังคลอดในช่วงแรกด้วย
ดังนั้น การที่อัตราการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกในประเทศไทยยังมีอัตราที่ต่ำ
ควรเน้นที่จะมีการทำความเข้าใจ และช่วยพยาบาลในการลดหรือแก้ปัญหาอุปสรรคที่จะขัดขวางการดำเนินการช่วยเหลือให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก
ซึ่งการช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุด จะช่วยให้อัตราการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกเพิ่มขึ้นได้ดี
เอกสารอ้างอิง
1. Silva LAT, Fonseca VM, Oliveira MIC, Silva KSD, Ramos
EG, Gama S. Professional who attended childbirth and breastfeeding in the first
hour of life. Rev Bras Enferm 2020;73:e20180448.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)