คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 2

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

นิยามและข้อกำหนดในการคิดภาระงาน

คลินิกนมแม่ หมายถึง คลินิกที่ให้บริการในการให้คำปรึกษา ดูแลมารดาและทารก  แก้ไขปัญหา อุปสรรคที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกอบรมของนักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

กิจกรรมการพยาบาล1 แบ่งเป็น กิจกรรมการพยาบาลโดยตรง หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลปฏิบัติงานในห้องผู้ป่วยและกิจกรรมการพยาบาลทั้งหมดที่เกี่ยวของโดยตรงกับผู้ป่วย และกิจกรรมการพยาบาลที่นอกเหนือกิจกรรมการพยาบาลโดยตรงหรือเรียกว่ากิจกรรมพยาบาลโดยอ้อม หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลไม่ได้ปฏิบัติโดยตรงต่อผู้ป่วย แต่เป็นกิจกรรมการพยาบาลที่เกี่ยวของกับการดููแลผู้ป่วย เช่น การจัดเตรียมยา การเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำหัตถการต่าง ๆ การบันทึกรายงานการพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวของกับหน่วยงาน หมายถึง กิจกรรมที่จําเป็นสําหรับการบริหารจัดการภายในหอผู้ป่วย การประสานงานทั่วไป การเปลี่ยนเวร การดูแลเกี่ยวกับอุุปกรณ์ กิจกรรมด้านวิชาการ หมายถึง กิจกรรมเกี่ยวกบการศึกษาของบุคลากรทางการพยาบาล เพื่อพัฒนาทางด้านองค์ความรู้และเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานของพยาบาลโดยตรง เช่น การปฐมนิเทศพยาบาล การสาธิตการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ กิจกรรมในเวลาพักและการใช้เวลาว่าง หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลใช้ไปในขณะที่พักหรือมีเวลาว่าง เช่น ดื่มกาแฟ การพักรับประทานอาหาร การพูดคุยสนทนาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กิจกรรมรอคอย หมายถึง กิจกรรมที่พยาบาลต้องรอคอยในช่วงที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วย เช่น การรอคอยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาให้ผู้ป่วย การรอคอยบุคลากรหรือพยาบาลอื่น ๆ ที่จําเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือในการให้การพยาบาลนั้น ๆ    

เอกสารอ้างอิง

  1. . Implementation of work sampling methodology. Nurs Res 1994;43:120-3.

การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 1

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

ความสำคัญ

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้อาหารตามวัยร่วมกับให้ทารกกินนมแม่ต่อจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ในประเทศไทยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนแรกพบร้อยละ 5.4-15.21 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่กำหนดเป้าหมายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 50 การรณรงค์ บริหารจัดการ และจัดโครงสร้างในสถานพยาบาลเพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พื้นฐานของการจัดบริการควรมีการปฏิบัติตามหลักการการดำเนินงานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คลินิกนมแม่ เป็นรูปแบบการให้บริการที่จัดเพื่อเอื้ออำนวยต่อการให้คำปรึกษา ดูแลมารดาและทารก  แก้ไขปัญหา อุปสรรคที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ ในโรงพยาบาลที่สามารถจะจัดตั้งคลินิกนมแม่ได้ คลินิกนมแม่จะถือเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกอบรมของนักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ การจัดบริการในคลินิกนมแม่เป็นการจัดการรูปแบบใหม่ที่มีการให้บริการหลากหลาย ดังนั้น การบริหารจัดการ โดยเฉพาะการคิดอัตรากำลัง ผลิตภาพการพยาบาล และงบประมาณในการดำเนินงาน จึงควรจะมีการพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างมาตรฐานการทำงาน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การคิดค่าตอบแทนตามภาระงาน การพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการอัตรากำลังที่เหมาะสม จะลดความเสี่ยงของการให้บริการ และช่วยเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. . Knowledge, attitudes and practices regarding breastfeeding support among village health volunteers in Nakhon Nayok, Thailand. . Thai J Obstet and Gynaecol 2016;24:89-96.
  2. . Nursing workload and patient safety–a mixed method study with an ecological restorative approach. Rev Lat Am Enfermagem 2013;21 Spec No:146-54.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ไร้ความสามารถ

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เนื่องจากอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ไร้ความสามารถต่ำ แต่ข้อมูลการศึกษาในมารดากลุ่มนี้ยังมีน้อย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มมารดาที่ไร้ความสามารถจำนวน 24 ราย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ไร้ความสามารถที่ศึกษาจะมีการไร้ความสามารถด้านการเรียนรู้ ด้านพัฒนาการ ด้านร่างกาย ด้านประสาทรับสัมผัส ด้านจิตใจ และที่ไร้ความสามารถร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน โดยใช้การสัมภาษณ์พบว่า มารดาที่ไร้ความสามารถต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนในการตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีขึ้น ต้องการการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการไร้ความสามารถและความช่วยเหลือในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีช่องทางของการสื่อสารที่จัดให้อย่างเหมาะสม1{Andrews, 2021 #151739}

เอกสารอ้างอิง

1.        Andrews EE, Powell RM, Ayers KB. Experiences of Breastfeeding among Disabled Women. Womens Health Issues 2021;31:82-9.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสัมพันธ์กับการพัฒนาไอคิวของทารก

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเรื่องการพัฒนาไอคิวของทารก มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ในกลุ่มตัวอย่าง 11096 รายโดยเป็นการศึกษาติดตามระยะยาว พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาไอคิวของทารกที่อายุ 8 ปี และพบทารกมีอาการอยู่ไม่สุกหรือขาดสมาธิลดลงที่อายุ 4 ปี นอกจากนี้ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยแม่ยังพบลดอาการซึมเศร้าและพบทารกมีอาการอยู่ไม่สุกหรือขาดสมาธิลดลงที่อายุ 9 ปีด้วย1 อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับสภาวะทางอารมณ์ของทารก ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.            Amiel Castro R, Glover V, Ehlert U, O’Connor TG. Breastfeeding, prenatal depression and children’s IQ and behaviour: a test of a moderation model. BMC Pregnancy Childbirth 2021;21:62.

การปฏิบัติตามนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกช่วยลดอาการซึมเศร้าของมารดาหลังคลอด

รศ. นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดอาการซึมเศร้าและพบอุบัติการณ์ของภาวะซึมเศร้าลดลง นอกจากนี้ การที่โรงพยาบาลรับนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมาปฏิบัติมีการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่ามีผลในการลดอาการซึมเศร้าของมารดาหลังคลอดด้วย โดยในการศึกษานี้ ศึกษาในคู่มารดาและทารกจำนวน 903 คู่ที่สัปดาห์ที่ 10 หลังคลอด โดยจะพบว่ามีการลดอาการซึมเศร้ามากในโรงพยาบาลที่ปฏิบัติตามนโยบายบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ทั้ง 10 ข้อ และในกลุ่มมารดาที่มีปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาก1 สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งมารดาและครอบครัว และยังลดปัญหาที่ตามาจากการที่มารดมีภาวะแทรกซ้อนของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ดังนั้น การผลักดันนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังมีผลดีต่อสุขภาพจิตรของมารดาและครอบครัวด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Agler RA, Zivich PN, Kawende B, Behets F, Yotebieng M. Postpartum depressive symptoms following implementation of the 10 steps to successful breastfeeding program in Kinshasa, Democratic Republic of Congo: A cohort study. PLoS Med 2021;18:e1003465.