คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ให้ลูกกินนม ต้องเจ็บหัวนมไหม

IMG_4128

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ธรรมชาติของหัวนมจะเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อการสัมผัสและความรู้สึกอยู่แล้ว ดังนั้นในมารดาครรภ์แรกเมื่อให้ลูกกินนมใหม่ๆ จะมีอาการเจ็บหัวนมได้ เนื่องจากการเสียดสีจากการดูดนมของลูก อย่างไรก็ตาม หากมารดาจัดท่าให้นมได้เหมาะสม อาการเจ็บหัวนมมักจะเป็นช่วงแรกของการให้นม จากนั้นจะดีขึ้น เนื่องจากร่างกายของมารดามีกลไกการปรับตัวมีการหลั่งไขมันจากต่อมไขมันบริเวณลานนมและน้ำนมของมารดาเองที่ช่วยเคลือบหัวนมและลานนม ลดแรงเสียดทาน ทำให้มารดาหายเจ็บเต้านม ซึ่งอาการเจ็บหัวนมที่จะเป็นปัญหาที่ทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร มักเป็นการเจ็บหัวนมที่ต่อเนื่องนานเกินหนึ่งสัปดาห์ และเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งที่ให้นม ซึ่งสาเหตุหลักที่พบ ได้แก่ การเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม การที่ทารกมีภาวะลิ้นติด หรือการที่น้ำนมมารดาไหลเร็วเกินไป1 ดังนั้น หากมีลักษณะการเจ็บหัวนมที่มีนัยสำคัญ ควรหาสาเหตุเพื่อการแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้แก่ การอักเสบเต้านม หรือฝีที่เต้านมที่เป็นอันตรายและต้องการการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.

มารดามักมีความเชื่อเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ2

IMG_4157

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? การแก้ไขความเชื่อในเรื่องนี้ ต้องการความรู้ความเข้าใจในเรื่องปริมาณนมแม่ที่เหมาะสมกับลูกในระยะแรก ต้องการกำลังใจที่จะสนับสนุน ให้ความมั่นใจ โดยอาจมาจากสามีหรือบุคลากรทางการแพทย์ น้ำหนักทารกในระยะแรกหลังคลอดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ น้ำหนักลูกมักลดลงอยู่แล้วในสัปดาห์แรก ซึ่งหากลดลงไม่มากไม่เกินร้อยละ 7 ก็ไม่ต้องมีความกังวล เนื่องจากลูกที่อยู่ในครรภ์อยู่ในน้ำคร่ำ เมื่อคลอดออกมาแล้ว ตัวทารกแห้งขึ้น น้ำหนักจะลดลงเป็นปกติ ดังนั้น การที่ทารกยังมีค่าน้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์หลังกินนมแม่ก็น่าจะยืนยันว่า นมแม่มีเพียงพอแล้ว

มารดามักมีความเชื่อเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ1

IMG_4121

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่น้ำนมแม่มาเล็กน้อยในระยะแรกถือเป็นปกติและเพียงพอสำหรับทารกแรกที่เกิดใหม่ๆ เนื่องจากกระเพาะทารกยังมีขนาดเล็กเริ่มแรกราวขนาดลูกแก้วที่เหมาะสมกับน้ำนมระยะแรกที่ยังมาน้อย แต่ก็อาจทำให้มารดามักเข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่เพียงพอสำหรับลูก จึงมักเสริมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกให้แก่ลูกด้วยความวิตกกังวลว่าลูกจะกินไม่พอ เมื่อลูกได้กินนมผงที่ชงจากขวดนมที่จะไหลเร็วจะทำให้ทารกติดขวดนมได้ง่าย และเกิดการสับสนระหว่างการดูดนมจากเต้านมและจากการกินนมจากขวด เนื่องจากเทคนิคการดูดนมมีความแตกต่างกัน เด็กที่กินนมผงชงจะติดกับการไม่ต้องออกแรงดูดนมเนื่องจากน้ำนมไหลเร็วอยู่แล้ว และไม่สามารถควบคุมปริมาณการกินนมได้ด้วยตนเอง เมื่อเติบโตขึ้นจึงมีโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมากกว่า ซึ่งจะแตกต่างจากเด็กที่กินนมแม่ที่สามารถควบคุมปริมาณการกินนมได้ด้วยตนเอง เมื่อมารดาให้ขวดนมสลับกับนมแม่ ลูกจึงมักหงุดหงิดและไม่พอใจเมื่อกินนมจากเต้าที่ไม่ไหลเร็วทันใจเหมือนนมจากขวด มารดาจะเห็นลูกพึงพอใจเมื่อกินนมจากขวด ยิ่งทำมารดายิ่งมีความเชื่อว่าน้ำนมไม่เพียงพอเข้าไปใหญ่ วังวนนี้ส่งผลให้สุดท้ายลูกต้องหยุดกินนมแม่ เพราะขาดการกระตุ้น และดูดนมจากเต้านม

อาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนมแม่

IMG_4161

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หลังคลอด ค่านิยมที่มักพบคือความเชื่อเรื่องอาหารบำรุงหรือช่วยเพิ่มน้ำนม ซึ่งในประเทศไทยมักมีการแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกขิง หัวปลี ที่นำมาทำอาหารเช่น ไก่ผัดขิง หรือ แกงเลียง ซึ่งหลังคลอด ตามความเชื่อของแพทย์แผนไทย ร่างกายประกอบด้วยสมดุลของธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ร่างกายสตรีหลังคลอดขาดธาตุไฟ จึงแนะนำการอยู่ไฟ และรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน สำหรับการแพทย์สมัยใหม่นั้น ร่างกายมารดาหลังคลอดจะเสียเลือด อ่อนเพลีย ต้องการการบำรุงเช่นกัน แนะนำให้กินยาบำรุงเลือด รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงที่ช่วยซ่อมแซมการบาดเจ็บของร่างกาย รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพราะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างน้ำนม จะเห็นว่ามีความสอดคล้องในหลายอย่าง ดังนั้น หากจะช่วยบำรุงมารดาหลังคลอด การรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยมีเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง เครื่องในที่มีธาตุเหล็กสูง ผักที่มีแคลเซียมและแร่ธาตุที่สำคัญก็มีความจำเป็น อาหารไทยๆ ก็น่าจะมีความเหมาะสม เช่น ไก่หรือเครื่องในผัดขิง แกงเลียงที่มีผักหลากหลายชนิด อย่างไรก็ตาม หลักที่สำคัญในการช่วยให้การสร้างน้ำนมมากและมาเร็ว ก็คือ การเริ่มให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ในชั่วโมงแรกหลังคลอด ให้ลูกกินนมบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง และกินนมจนเกลี้ยงเต้า

? ? ? ? ? ? นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒมีการศึกษาถึงการใช้ขิงเพื่อบำรุงน้ำนมแม่พบว่า การใช้ขิงชนิดเม็ดรับประทานช่วยเพิ่มนมแม่ในวันที่สามหลังคลอดได้ แต่หลังหนึ่งสัปดาห์เมื่อน้ำนมมาดีแล้ว การรับประทานขิงไม่ได้ช่วยให้น้ำนมมาแตกต่างกัน1 สิ่งนี้ก็น่าจะช่วยยืนยันถึงความสอดคล้องของการแพทย์แผนไทยที่ให้ประโยชน์เช่นเดียวกันกับการแพทย์ปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.

ยาขับน้ำคาวปลากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_4126

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ค่านิยมการใช้ยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดยังมีอยู่มากในสังคมไทย รวมทั้งมีการใช้ยาดองเหล้าเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันการคลอดส่วนใหญ่เกิดที่โรงพยาบาล หลังคลอดจะมีการให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยป้องกันการตกเลือดหลังคลอดและช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตามปกติ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มการใช้ยาขับน้ำคาวปลาหรือยาดองเหล้าอีกเหมือนในสมัยโบราณ การคลอดในสมัยก่อนจะเกิดที่บ้าน จะมีการแนะนำให้อยู่ไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายมารดาหลังการเสียเลือด และใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในยาขับน้ำคาวปลาหรือยาดองเหล้าที่จะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวและช่วยการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก แต่สารสกัดวัตถุออกฤทธิ์ในสมุนไพรมักใช้แอลกอฮอล์ ทำให้มารดาได้รับแอลกอฮอล์ ซึ่งจะผ่านน้ำนมไปสู่ทารกและเกิดอันตรายได้ การแก้ความเชื่อหรือค่านิยมที่มีมาแต่โบราณอาจจะยาก แต่การกระจายหรือเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ก็หวังว่าน่าจะเป็นผลได้ในอนาคตอันใกล้