คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการที่มารดาจะมีความตั้งใจในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น การเข้าใจ ตระหนักถึงประโยชน์ และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการที่จะเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สิ่งที่พื้นฐานนั้นก็คือ การศึกษาของมารดา โดยระดับการศึกษาของมารดามีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์นี้ก็มาจาก การที่มารดามีระดับการศึกษาที่สูงกว่า การหาข้อมูลหรือความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ จะมีโอกาสที่สูงกว่า มีผลทำให้การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนมแม่มีมากกว่า อันจะส่งผลต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาสูงกว่า ดังนั้น การมองเห็นปัญหาเรื่องอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังต่ำ ?อาจต้องมองในมุมที่กว้าง โดยการแก้ปัญหาจำเป็นต้องมองถึงพื้นฐานการศึกษาของมารดาที่ยังคงเป็นปัญหาที่เป็นพื้นฐานของปัญหาต่าง ๆ หลายอย่าง ได้แก่ ปัญหาเรื่องอาชีพ รายได้ รวมถึงปัญหาความยากจนที่การแก้ปัญหาจำเป็นต้องพัฒนาและแก้ปัญหาเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Nguyen PTK, Tran HT, Thai TTT, Foster K, Roberts CL, Marais BJ. Factors associated with breastfeeding intent among mothers of newborn babies in Da Nang, Viet Nam. Int Breastfeed J 2018;13:2.

ควรทำอย่างไร เมื่อมีการรายงานการตรวจพบโลหะหนักในน้ำนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? น้ำนมแม่มีประโยชน์มากมายในหลาย ๆ ด้าน แต่อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงสารพิษประเภทโลหะหนักที่ตรวจพบในน้ำนมแม่ ซึ่งมีการตรวจพบสารปรอทร้อยละ 100 และสารตะกั่วร้อยละ 71 ในนมแม่ในประเทศเกาหลี1 โดยแม้ว่าระดับที่ตรวจพบส่วนใหญ่ยังอยู่ในค่าที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับมารดาและทารก แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนถึงการสัมผัสและการได้รับสารพิษประเภทโลหะหนักที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ โดยวิธีการที่ได้รับมารดาอาจได้รับมาจากการสูดดมอากาศที่ไม่บริสุทธ์มีควันพิษที่มีส่วนผสมของโลหะตะกั่วที่ได้มาจากอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ หรือการที่ได้รับสารปรอทจากการรับประทานอาหารจากปลาหรือสัตว์ที่ได้รับสารปรอทมาจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทลงในแม่น้ำลำคลองหรือลงในทะเล นโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของแต่ละประเทศและของโลกคงต้องร่วมมือกันรณรงค์ ปกป้อง และดูแลมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้มีคุณภาพที่ดีและลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษ สำหรับตัวมารดาเอง การให้นมแม่แก่ลูกก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยังเป็นประโยชน์อย่างที่สุด เพราะแม้ว่าการที่จะเลือกเปลี่ยนไปให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่ได้รับสารพิษจากโลหะหนักในเมื่อมีภาวะของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ สัตว์ที่ให้นมก็จะได้รับสารพิษหรือโลหะหนักไปเช่นกัน ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าคือ การเลือกที่อยู่อาศัยที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ คุณภาพน้ำที่สะอาด และเลือกรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อน น่าจะเป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ

เอกสารอ้างอิง

  1. Park Y, Lee A, Choi K, et al. Exposure to lead and mercury through breastfeeding during the first month of life: A CHECK cohort study. Sci Total Environ 2018;612:876-83.

ระบบพี่เลี้ยงช่วยในการดูแลการให้นมแม่มีส่วนช่วยในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี เบื้องต้นควรทราบว่า เชื้อเอชไอวีนั้นสามารถผ่านน้ำนมและทำให้เกิดการติดเชื้อในทารกได้ เมื่อทราบเช่นนั้น การงดการให้นมแม่ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีจึงเป็นทางเลือกแรกที่แนะนำในประเทศที่มีการสนับสนุนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกแรกเกิดได้เพียงพอและในระยะเวลาอย่างน้อยในช่วงสองปีแรกซึ่งในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการจัดซื้อนมผงดัดแปลงสำหรับทารกมีแจกจ่ายให้แก่มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีที่คลอดบุตรฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อนมเอง เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและสามารถปฏิบัติได้ตามนโยบายที่กำหนด แต่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา เนื่องจากยังขาดการสนับสนุนการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกในมารดาที่ติดเชื้ออย่างเพียงพอ และอัตราการเสียชีวิตของทารกในช่วงปีแรกของชีวิตสูง การแนะนำการให้ลูกกินนมแม่ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้ว่า หากจะให้นมแม่แก่ทารกในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี การให้นมแม่อย่างเดียวจะมีความเสี่ยงต่อการที่จะมีการติดเชื้อจากนมแม่น้อยกว่าการให้ลูกกินนมแม่สลับกับการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรือกินนมแม่ร่วมกับอาหารอื่นในหกเดือนแรก และระบบการมีบุคลากรที่รับเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือมารดาให้สามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เป็นสิ่งที่มีการศึกษาพบว่าระบบพี่เลี้ยงนี้เป็นประโยชน์ทั้งในมารดาหลังคลอดปกติและมารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวี1

เอกสารอ้างอิง

  1. Reimers P, Israel-Ballard K, Craig M, et al. A Cluster Randomised Trial to Determine the Efficacy of the “Feeding Buddies” Programme in Improving Exclusive Breastfeeding Rates Among HIV-Infected Women in Rural KwaZulu-Natal, South Africa. AIDS Behav 2018;22:212-23.

การให้นมแม่แก่ลูกช่วยป้องกันทารกจากการติดเชื้อ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่ทารกได้กินนมแม่นอกจากที่ทารกจะได้รับสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีการส่งผ่านเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สู่ลำไส้ของทารก ซึ่งการมีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จะช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้นกันของทารกผ่านระบบการทำงานของต่อมน้ำเหลืองในลำไส้1 นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่จะป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคไม่ให้มีจำนวนที่มากจนกระทั่งส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยในทารก และการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่เริ่มจากระบบต่อมเนื้อเหลืองในลำไส้ ยังมีผลต่อการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เป็นไปตามปกติอันสมควร ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคภูมิแพ้ หรือโรคที่เกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ดังนั้น นี่จึงเป็นประโยชน์ที่เบื้องต้นอาจดูว่าเป็นเพียงการสร้างจุลินทรีย์ประจำถิ่นให้เกิดขึ้นในลำไส้ของทารก แต่จะเห็นว่าการพัฒนาสิ่งพื้นฐานนี้กลับเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะมีการพัฒนาไปในอนาคตเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Simpson MR, Avershina E, Storro O, Johnsen R, Rudi K, Oien T. Breastfeeding-associated microbiota in human milk following supplementation with Lactobacillus rhamnosus GG, Lactobacillus acidophilus La-5, and Bifidobacterium animalis ssp. lactis Bb-12. J Dairy Sci 2018;101:889-99.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สถานประกอบการในแต่ละประเภทมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่แตกต่างกัน1 ซึ่งการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสถานประกอบการขึ้นอยู่กับนโยบาย การดำเนินงาน และลักษณะของงานของสถานประกอบการนั้น ๆ มีการศึกษาถึงประเภทของสถานประกอบการกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า สถานประกอบการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และการให้บริการมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่าสถานประกอบการประเภทอื่น ๆ อาจเป็นไปได้จากสถานประกอบการประเภทเหล่านี้ต้องมีการแข่งขันในการเพิ่มการผลิต อัตราการขนส่ง และความพึงพอใจของผู้รับบริการ อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในการสร้างระบบสวัสดิการที่ดีรวมถึงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อความรักความผูกพันต่อองค์กรที่จะส่งผลถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของการทำงานได้ อาจทำให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการสามารถดำเนินการร่วมไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Snyder K, Hansen K, Brown S, Portratz A, White K, Dinkel D. Workplace Breastfeeding Support Varies by Employment Type: The Service Workplace Disadvantage. Breastfeed Med 2018;13:23-7.