คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

นมแม่ช่วยลูกได้แม้อาหารขาดแคลน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นเรื่องจริงที่นมแม่ผลิตและคงประโยชน์ต่อลูกแม้ในช่วงที่อาหารของแม่ขาดแคลน จะเห็นว่าธรรมชาติให้ความสำคัญกับการผลิตนมแม่เพื่อช่วยให้ทารกเจริญเติบโตต่อไปได้หากภาวะขาดแคลนหรืออดอยากนั้นไม่ต่อเนื่องยาวนานจนสุขภาพของแม่ย่ำแย่ไปก่อน ดังนั้นในสภาวะปกติความสมบูรณ์ของพลังงานจากนมแม่จึงไม่ใช่สิ่งที่วิตกกังวลว่าจะไม่สามารถช่วยให้ทารกเจริญเติบโตตามปกติได้1 แม่จึงสามารถรับประทานอาหารตามปกติในช่วงให้นมลูก แต่การที่แม่กินอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ทารกมีแนวโน้มที่จะคุ้นเคยกับอาหารที่หลากหลายไปด้วยเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งมารดาและทารก มารดาจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าที่ดีจากธรรมชาติมากกว่าอาหารปรุงแต่งที่มีราคาแพงเพราะเป็นค่านิยมหรือความเชื่อที่ขาดหลักฐานการศึกษาเชิงประจักษ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Moradi M, Maracy MR, Esmaillzadeh A, Surkan PJ, Azadbakht L. Associations Between Dietary Energy Density in Mothers and Growth of Breastfeeding Infants During the First 4 Months of Life. J Am Coll Nutr 2018:1-7.

 

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักได้รับนมแม่น้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?การคลอดก่อนกำหนดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากปัจจัยด้านทารกที่มักจะมีปัญหาทางด้านการหายใจเร็ว เลือดออกในโพรงสมอง หรือภาวะลำไส้อักเสบ ซึ่งภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ทารกจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต มีผลทำให้ต้องแยกจากมารดา บางครั้งอาจมีการงดน้ำและนมแม่ชั่วคราว ซึ่งทำให้โอกาสที่ทารกจะได้รับนมแม่น้อยลง ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ได้แก่ ช่วงเวลาที่ทารกต้องแยกจากมารดา อายุครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและความเชื่อมั่นของมารดาว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1?การสนับสนุนให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องอาการของทารก การเตรียมการและการเริ่มการให้ลูกได้กินนมแม่ทันทีที่มีความพร้อมน่าจะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wang Y, Briere CE, Xu W, Cong X. Factors Affecting Breastfeeding Outcomes at Six Months in Preterm Infants. J Hum Lact 2018:890334418771307.

 

นมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์ที่ดีอยู่แล้ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?โอลิโกแซคคาไรด์เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นจากโฆษณานมผง แม้จะยังไม่ทราบประโยชน์ที่แท้จริงแต่ชื่อนี้ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในน้ำนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์ที่ดีที่เป็นต้นแบบที่นมผงพยายามจะผลิตเลียนแบบและใช้อ้างอิงถึงประโยชน์เทียบกับนมแม่ โอลิโกแซคคาไรด์ที่อยู่ในนมแม่จะมีทั้งบทบาทที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันที่ดีผ่านจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ของทารก1 จึงเป็นเสมือนเสบียงให้กองทหารรักษาดินแดนช่วยดูแลระบบการทำงานของทางเดินอาหารให้ย่อยอาหารเป็นปกติ ป้องกันเชื้อโรคที่เป็นข้าศึกที่จะเข้ามารุกรานทำให้เกิดท้องเสีย หรืออาการแพ้ต่าง ๆ รวมทั้งการแพ้อาหาร ดังนั้น โอลิโกแซคคาไรด์จึงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันอาการท้องเสียที่เป็นการเจ็บป่วยที่พบบ่อยและอาจเป็นอันตรายทำให้ทารกเสียชีวิตได้ มารดาและครอบครัวจึงควรทำความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้ลูกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bode L. Human Milk Oligosaccharides at the Interface of Maternal-Infant Health. Breastfeed Med 2018;13:S7-S8.

นมแม่ช่วยลดโอกาสเกิดการแพ้อาหาร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่านมแม่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกเข้มแข็ง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการลดการเกิดโรคหรืออาการที่เกี่ยวกับการแพ้ เช่น หอบหืด ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่านมแม่อาจช่วยลดการเกิดอาหารแพ้อาหาร โดยทุกเดือนที่กินนมแม่เพิ่มขึ้นจะลดโอกาสการเกิดการแพ้อาหารลงร้อยละ 41 ดังนั้นสมมุติฐานที่อธิบายเรื่องการลดการเกิดการแพ้อาหารน่าจะเกิดจากการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ ซึ่งการจัดระเบียบของภูมิคุ้มกันนี้ได้มาจากกระบวนการที่สารในนมแม่ทำหน้าที่กระตุ้นสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในต่อมน้ำเหลืองในระบบทางเดินอาหารของทารก เมื่อเป็นเช่นนี้ มารดาที่มีประวัติภูมิแพ้ หอบหืด ผิวหนังอักเสบ หรือแพ้อาหาร ควรส่งเสริมให้ลูกได้กินนมแม่เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้จากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มีโอกาสรวนจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. van Ginkel CD, van der Meulen GN, Bak E, et al. Retrospective observational cohort study regarding the effect of breastfeeding on challenge-proven food allergy. Eur J Clin Nutr 2018.

การได้กินนมแม่ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกันของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? นมแม่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด ไม่ว่ามารดาจะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน จะมีความเท่าเทียมกันของการที่มารดาจะมีโอกาสที่จะมอบนมแม่ให้แก่ลูก1 โอกาสเหล่านี้ถือเป็นสิ่งหนึ่งของการที่ธรรมชาติได้ให้ความเท่าเทียมนี้มาแก่ทารกแรกเกิด บุคลากรในโรงพยาบาลหากดำเนินการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่ในระหว่างหลังคลอดที่มารดาอยู่ในโรงพยาบาล จะช่วยเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาได้ ดังนั้น การวางแผนในการคลอดของมารดา หากคลอดในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะมีโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานกว่าแม้จะมีพื้นฐานของความเท่าเทียมกันในการที่ทารกจะได้กินนมแม่ ปัจจัยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่มารดาและครอบครัวควรให้ความสนใจและใส่ใจ เพื่อสร้างโอกาสในการที่จะให้ลูกได้นมแม่ที่ยาวนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Vehling L, Chan D, McGavock J, et al. Exclusive breastfeeding in hospital predicts longer breastfeeding duration in Canada: Implications for health equity. Birth 2018.