คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

มารดาที่มีความวิตกกังวลเรื่องการลดน้ำหนักหลังคลอดอาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            เรื่องน้ำหนักเป็นเรื่องที่สตรีมักมีความวิตกกังวลรวมทั้งในสตรีที่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระหว่างการตั้งครรภ์ จะเกิดความห่วงหรือกังวลเรื่องน้ำหนักที่จะคงค้างอยู่ในระยะหลังคลอดและในช่วงที่ให้นมลูก จริง ๆ แล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้มารดามีน้ำหนักลดลงเร็วและกลับมามีน้ำหนักอยู่ในช่วงเดิมก่อนในระยะตั้งครรภ์ได้ดี แต่หากมารดาห่วงกังวลเรื่องน้ำหนักจนเกิดความเครียด หรือมีภาวะซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อการให้นมบุตรของมารดาได้1 ดังนั้น การป้องกันหรือลดความเครียดในเรื่องเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำแนะนำและดูแลให้มารดามีน้ำหนักขึ้นอย่างเหมาะสมในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ และแนะนำให้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดพร้อมการดูแลอาหารมารดาอย่างเหมาะสม ก็จะช่วงป้องกันอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Rodgers RF, O’Flynn JL, Bourdeau A, Zimmerman E. A biopsychosocial model of body image, disordered eating, and breastfeeding among postpartum women. Appetite 2018;126:163-8.

พบมะเร็งที่ป้องกันได้ด้วยการให้ลูกกินนมแม่สูงขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้ว่าในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของคนทั่วไปจะยาวนานขึ้น แต่มะเร็งนับเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ด้วยความรู้และการศึกษาในปัจจุบัน มะเร็งบางชนิดสามารถป้องกันด้วยการเลือกการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยง บางชนิดมีการตรวจคัดกรองที่จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็งหรือระยะที่เป็นมะเร็งในระยะแรก ซึ่งหากมีการป้องกันและคัดกรองที่เหมาะสม การเกิดของมะเร็งในรายใหม่น่าจะลดลง มีการศึกษาที่น่าสนใจในประเทศฝรั่งเศส โดยการเก็บจำนวนคนไข้รายใหม่ที่เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่พบว่า การเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่รายใหม่พบมีอัตราการเกิดที่สูงขึ้น1 เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งได้ด้วยการให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งก็คือในคนไข้รายใหม่ที่เป็นมะเร็งเมื่อย้อนไปดูประวัติพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่าที่ควรเป็น ดังนั้น ชีวิตของมารดาควรจะยืนยาวขึ้นได้ หากให้ลูกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Shield KD, Dossus L, Fournier A, et al. The impact of historical breastfeeding practices on the incidence of cancer in France in 2015. Cancer Cause Control 2018;29:325-32.

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความมั่นใจว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นมีความสำคัญต่อการที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การสร้างให้มารดาเกิดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาพบว่า การตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน แนวทางการปฏิบัติดูแลมารดาในระหว่างการฝากครรภ์ การคลอดทางช่องคลอด การให้ลูกได้เริ่มกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด มารดาที่มีเศรษฐานะดี และการที่มารดาไม่มีการใช้ยาเสพติด ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา1 บุคลากรทางการแพทย์ควรส่งเสริมปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้เพื่อช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของประเทศไทยและองค์การอนามัยโลกเพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Silva MDFS, Pereira LB, Ferreira TN, de Souza AAM. Breastfeeding self-efficacy and interrelated factors. Rev Rede Enferm Nord 2018;19.

ทารกที่ไม่ได้เริ่มกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกเสี่ยงต่อการแคระแกร็น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                นมแม่ถือเป็นอาหารมาตรฐานสำหรับทารกแรกเกิด ซึ่งหากมีการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะช่วยจะช่วยเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกกับการเจริญเติบโตของทารกเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเด็กเล็ก (toddlers) พบว่าทารกที่ไม่ได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกจะมีความเสี่ยงที่จะพบภาวะแคระแกร็น (stunting) เมื่อทารกเจริญย่างเข้าสู่วัยเด็กเล็กเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 50 ที่จะเกิดภาวะแคระแกร็น1 นอกจากนี้ยังพบว่าการเสริมวิตามินเออาจมีส่วนช่วยในค่าความสูงของทารกเมื่อเทียบเคียงในอายุเดียวกันของทารก อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุให้กับทารกขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะพบการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุในแต่ละพี้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในแต่ละพื้นที่เพื่อให้การเสริมวิตามินและแร่ธาตุนั้นเหมาะสมกับภาวะโภชนการของทารกอย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง

  1. Simanjuntak BY, Haya M, Suryani D, Ahmad CA. Early Inititation of Breastfeeding and Vitamin A Supplementation with Nutritional Status of Children Aged 6-59 Months. Kesmas 2018;12:107-13.

รูปแบบการดูแลการคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระบวนการตั้งแต่การดูแลครรภ์ จนกระทั่งมารดาคลอด และการดูแลมารดาหลังคลอดล้วนมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบุคลาการทางการแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานพยาบาล1 โดยนับตั้งแต่มารดาเริ่มตั้งครรภ์และเริ่มมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ควรมีการให้ความรู้เรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวรวมถึงบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ปู่ย่า ตายาย ในระหว่างการฝากครรภ์ มารดาควรได้รับการตรวจร่างกายและตรวจเต้านมเพื่อดูความพร้อมในการให้นมแม่และความผิดปกติที่อาจพบในระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อมารดามีการตั้งครรภ์ครบกำหนดและเข้าสู่การคลอด การมีบุคลากรที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยชี้แนะแนวทาง ให้กำลังใจ และให้คำปรึกษากรณีที่มารดามีปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลการคลอดควรพิจารณาตามความเสี่ยงของมารดา หากมีความเสี่ยงต่ำอาจไม่มีความจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารในระหว่างการรอคลอดในช่วงแรกเพื่อไม่ให้มารดาอ่อนเพลียหรือเกิดภาวะเครียดในระหว่างการรอคลอด ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นซึ่งพบเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด ควรเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการสอนมารดาจัดท่าให้นมลูกอย่างเหมาะสมรวมทั้งการสอนมารดาบีบน้ำนมด้วยมือ กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญเมื่อต้องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Simon JA, Carabetta M, Rieth EF, Barnett KM. Perioperative Care of the Breastfeeding Patient. AORN J 2018;107:465-74.