คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

สตรีที่ให้นมบุตรเสี่ยงต่อกระดูกบางจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในสตรีที่ให้นมบุตรแม้ว่าข้อแนะนำในการได้รับสารอาหารในส่วนของแคลเซียมจะไม่ได้มีความต้องการเพิ่มในระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร แต่ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวันราว 900-1000 มิลลิกรัม ก็เป็นสิ่งที่สตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรรับประทานไม่ถึงปริมาณที่แนะนำ แล้วสิ่งนี้จะมีผลอย่างไร สำหรับปริมาณแคลเซียมในน้ำนมแม่ที่ผลิตนั้นโดยปกติจะไม่ลดลง แต่จะมีการเพิ่มแคลเซียมมาจากการสลายกระดูก โดยจะพบมีการสลายของกระดูกบริเวณสันหลังช่วงเอวก่อน และจึงเกิดที่กระดูกข้อสะโพก1 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มารดาหยุดการให้นมแม่ กระดูกที่บางก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการให้นมลูก แต่แน่นอนว่า หากมีการสลายของกระดูกในปริมาณที่มากในกลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงหรือต้นทุนของมวลกระดูกน้อยอยู่แล้ว ก็อาจจะเพิ่มโอกาสที่จะมีการหักหรือแตกของกระดูกขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงจะลดการเกิดการสลายของกระดูกจากการขาดแคลเซียมที่พบในสตรีที่ให้นมบุตรได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Teerapornpuntakit J, Chanprapaph P, Karoonuthaisiri N, Charoenphandhu N. Site-Specific Onset of Low Bone Density and Correlation of Bone Turnover Markers in Exclusive Breastfeeding Mothers. Breastfeed Med 2017.

 

สตรีที่ออกกำลังกายจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การออกกำลังกายเป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวมทั้งในสตรีที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร เช่นเดียวกันกับการให้ลูกได้กินนมแม่ก็มีประโยชน์ทั้งต่อตัวสตรีและทารก แต่หากถามว่าสตรีที่ออกกำลังกายจะมีโอกาสที่จะให้นมลูกได้มากกว่าสตรีที่ไม่ได้ออกกำลังกายไหม ทั้งสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันหรือไม่ มีการศึกษาที่ค้นหาคำตอบของคำถามนี้ พบว่า สตรีที่ออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์มักตัดสินใจที่เลือกให้ลูกกินนมแม่ เมื่อตัดสินใจที่เลือกให้ลูกกินนมแม่มากกว่า โอกาสที่ลูกจะได้กินนมแม่มากกว่าก็ตามไปด้วย1 คำอธิบายถึงความสัมพันธ์นี้ อธิบายจากเรื่องของการใส่ใจในเรื่องสุขภาพ? สตรีที่ใส่ใจในสุขภาพมักออกกำลังกายสม่ำเสมอรวมทั้งในระยะตั้งครรภ์ เมื่อใส่ใจในเรื่องสุขภาพ และนมแม่ก็เป็นเรื่องที่เป็นผลดีต่อสุขภาพจึงมีความสัมพันธ์กัน นอกจากนี้การตระหนักถึงผลประโยชน์ การมีหรือได้รับความรู้ถึงคุณค่าของประโยชน์ของการออกกำลังกายและการกินนมแม่จึงมีเกี่ยวข้องกันในทางอ้อม และการคำนึงถึงเรื่องทั้งสองว่าเป็นเรื่องปกติและควรกระทำอย่างเป็นธรรมชาติ ก็มักพบร่วมกันในสตรีที่มีมุมมองการใช้ชีวิตที่เอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพและธรรมชาติ ดังนั้น หากปลูกฝังค่านิยมในการรักษ์สุขภาพให้กับสตรีก็น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Tucker EA, Fouts HN. Connections Between Prenatal Physical Activity and Breastfeeding Decisions. Qual Health Res 2017;27:700-13.

 

 

 

 

การให้นมลูกช่วยลดมะเร็งเต้านมได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? มะเร็งเต้านมยังเป็นมะเร็งที่ทำให้สตรีเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งรวมทั้งในประทศไทย ซึ่งการตรวจคัดกรองเบื้องต้นใช้การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง หากสงสัยถึงความผิดปกติต้องมารับตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์ มีการใช้การตรวจเอ็กซเรย์เต้านมในการคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่อสตรีอายุตั้งแต่ 40-45 แต่ความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบว่า การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 28 นอกจากนี้ในมารดาที่เคยให้นมลูกไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็มีส่วนป้องกันมะเร็งเต้านมด้วย1 ดังนั้น การลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมของสตรี การป้องกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และการป้องกันที่ปฏิบัติได้ง่ายและมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านทั้งต่อตัวสตรีเองและบุตร คือ ?การให้ลูกอย่างน้อยได้กินนมแม่?

เอกสารอ้างอิง

  1. Unar-Munguia M, Torres-Mejia G, Colchero MA, Gonzalez de Cosio T. Breastfeeding Mode and Risk of Breast Cancer: A Dose-Response Meta-Analysis. J Hum Lact 2017;33:422-34.

ลักษณะของที่อยู่อาศัยและโครงสร้างของครอบครัวมีผลต่อการให้นมลูกในชุมชนเมือง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย การปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงสร้างของครอบครัวก็มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากชุมชนในชนบท การที่มีที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว คอนโดมิเนียม หรืออพาร์ทเมนต์ สิ่งนี้ส่งผลต่อโครงสร้างของครอบครัวที่จะเป็นครอบครอบเดี่ยวหรือครอบครัวที่รวมอยู่ร่วมกันหลายครอบครัว ซึ่งจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหลังคลอดเมื่อมารดากลับบ้านและเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีการศึกษาถึงปัจจัยเรื่องลักษณะของที่อยู่อาศัยและลักษณะของโครงสร้างของครอบครัวซึ่งพบว่ามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในชุมชนแออัดในสังคมเมือง1 ดังนั้น การที่จะให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเขตพื้นที่ใด ควรมีการศึกษาให้ละเอียดถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเขตพื้นที่นั้น ๆ เพื่อการวางแผนการสนับสนุนจะได้ทำได้อย่างเหมาะสมและแนะนำในสิ่งที่เป็นไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Velusamy V, Premkumar PS, Kang G. Exclusive breastfeeding practices among mothers in urban slum settlements: pooled analysis from three prospective birth cohort studies in South India. Int Breastfeed J 2017;12:35.

การโอบกอดสัมผัสทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอดช่วยให้ลูกได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? หลังคลอด กระบวนการในการเริ่มต้นการกระตุ้นให้น้ำนมมาและเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กระบวนการแรกคือ การนำทารกมาอยู่บนอกมารดา โอบกอดสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งหลังจากนำทารกมาไว้บนอกมารดาแล้ว ต้องให้เวลาเพื่อให้ทารกได้ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างจากการอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับใน 9 ขั้นตอน คือ ร้องไห้ ผ่อนคลาย ตื่นตัว ขยับเคลื่อนไหว พัก คืบคลาน คุ้นเคย ดูดนม และหลับ ซึ่งกว่าทารกจะเริ่มดูดนมต้องอยู่บนอกมารดาราว 1 ชั่วโมง ในกระบวนการนี้มีประโยชน์หลายอย่าง โดยช่วยรักษาอุณหภูมิทารกให้คงที่ ป้องกันทารกตัวเย็น ทำให้ทารกผ่อนคลาน และการสัมผัสกระตุ้นระบบการสื่อประสาทของทารกให้เป็นระบบที่ดีที่ช่วยในการพัฒนาการของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น กระตุ้นสายสัมพันธ์ของมารดาและทารก กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความรักคือออกซิโทซิน ซึ่งจะช่วยให้การหลั่งน้ำนมเกิดได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดสัมผัสทารกเนื้อแนบเนื้อว่ามีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอดในช่วงสามเดือนหรือไม่ พบว่าทารกที่ได้รับการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อในช่วงสามเดือนแรก1 สิ่งนี้บ่งบอกว่า กลไกการโอบกอดเนื้อแนบเนื้ออาจจะช่วยสานสัมพันธ์ของแม่กับลูก ช่วยกระตุ้นน้ำนม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการที่มารดาที่คงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องและยาวนานยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลมากขึ้นต่อการตัดสินใจที่จะคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่อไปหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่มารดาที่เผชิญคือ การกลับไปทำงานของมารดา ที่ต้องการการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมให้กับมารดาและบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Vila-Candel R, Duke K, Soriano-Vidal FJ, Castro-Sanchez E. Effect of Early Skin-to-Skin Mother-Infant Contact in the Maintenance of Exclusive Breastfeeding. J Hum Lact 2017:890334416676469.