คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

เหตุผลที่มารดาหยุดให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ตามธรรมดาแล้วหลังคลอด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ มารดาควรให้นมแม่แก่บุตร อย่างไรก็ตาม ความรู้และความตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อความตั้งใจของมารดาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเข้าอบรมในการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงสะท้อนถึงความสนใจ ใส่ใจ และตั้งใจที่จะให้ลูกได้กินนมแม่ สำหรับปัจจัยที่ตัดสินใจหยุดให้นมลูก มักได้แก่ น้ำนมน้อยไม่เพียงพอ การเจ็บเต้านมและหัวนม เต้านมอักเสบ และการกลับไปทำงานของมารดา1,2 ซึ่งคล้ายคลึงกันในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย การรณรงค์จึงต้องมีการร่วมมือของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและร่วมกันช่วยแก้ไขหรือช่วยเหลือมารดาในแต่ละช่วงเวลาของการให้นมลูก บุคลากรทางการแพทย์จึงควรทำความเข้าใจกับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษาในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Sun K, Chen M, Yin Y, Wu L, Gao L. Why Chinese mothers stop breastfeeding: Mothers’ self-reported reasons for stopping during the first six months. J Child Health Care 2017;21:353-63.
  2. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.

แม่ที่สูบบุหรี่มักได้ลูกสาวที่มีน้ำหนักน้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การสูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์ส่งผลเสียต่อทั้งมารดาและทารก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในบุหรี่นั้นมีสารพิษหลากหลายชนิดที่ส่งผลโดยตรงและสะสมไปจนเกิดผลเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ผลเสียของบุหรี่นั้นสามารถเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่โดยตรงของมารดาหรือได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลในครอบครัว มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับน้ำหนักทารกที่คลอดออกมา พบว่า มารดาที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่ทารกจะมีน้ำหนักตัวน้อยมากกว่าถึง 3.8 เท่า และพบว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่สูบบุหรี่จะเป็นลูกสาวมากกว่าเป็นลูกชายถึง 2.5 เท่า นอกจากนี้ โอกาสในการที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสมและมีการเริ่มอาหารเสริมที่เร็วกว่าที่มีการแนะนำพบมากกว่าถึง 3.9 เท่า1 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทราบถึงพิษภัยของบุหรี่ที่มีผลเสียต่อมารดาและทารก การหยุดหรือเลิกบุหรี่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก แต่การมีบุตรและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นแรงใจที่พบว่าช่วยให้มารดามีโอกาสที่จะลดหรือเลิกบุหรี่ได้สูงขึ้น ดังนั้น การให้คำปรึกษาและให้ความรู้แก่มารดาอย่างเหมาะสมที่จะทำให้มารดาทราบถึงพิษภัยของบุหรี่อันจะเป็นพื้นฐานที่จะสร้างกำลังใจในการลดหรือเลิกบุหรี่เพื่อลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Timur Tashan S, Hotun Sahin N, Omac Sonmez M. Maternal smoking and newborn sex, birth weight and breastfeeding: a population-based study. J Matern Fetal Neonatal Med 2017;30:2545-50.

จุกนมหลอกลดระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและเป็นกระแสสังคมที่ต้องการส่งเสริมให้ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนจากประชากรทั่วโลกพบร้อยละ 37 ขณะที่เป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายไว้คือร้อยละ 50 อุปสรรคต่าง ๆ ในการที่จะเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีทั้งปัจจัยในส่วนของตัวมารดาและทารก ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์และค่านิยมต่าง ๆ โดยสิ่งหนึ่งที่ยังส่งผลลบต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันคือ การให้ทารกดูดจุกนมหลอก1 ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของทารกและลดระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งนี้จึงเป็นที่ที่บุคลากรทางการแพทย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนและสนับสนุนในการที่จะสร้างสุขภาพที่ดีควรให้ความสนใจใส่ใจที่จะเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างค่านิยมที่เหมาะสมให้เกิดแก่สังคม ซึ่งหากทำให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นคุณประโยชน์ที่จะเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะส่งผลต่อการสร้างสุขภาพที่ดีของทารกที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพที่เป็นกำลังของประเทศและของโลก

เอกสารอ้างอิง

  1. Toryiama ATM, Fujimori E, Palombo CNT, Duarte LS, Borges ALV, Chofakian C. Breastfeeding: what changed after a decade?1. Rev Lat Am Enfermagem 2017;25:e2941.

1000 วันแรกของชีวิตกับสุขภาวะในการรับประทานอาหาร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ตั้งแต่ทารกเกิดอยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอดและอายุครบสองปีจะมีช่วงชีวิตราว 1000 วัน และในช่วง 1000 วันแรกของชีวิตนี้ การพัฒนาสุขลักษณะของการรับประทานอาหารก็เริ่มต้นขึ้นด้วย และมีผลตัดสินความชอบและลักษณะของอาหารที่จะรับประทานเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยหากทารกได้รับความหลากหลายของอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจากการรับประทานอาหารของมารดาและการผ่านของสารอาหารมาที่ทารกโดยผ่านมาทางน้ำคร่ำ และเมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว กระบวนการผ่านรสชาติและความชอบของสารอาหารจะผ่านน้ำนมแม่ที่ทารกได้รับประทาน ซึ่งในกระบวนการเริ่มต้นการรับรู้รสชาติและความชอบในอาหารชนิดต่าง ๆ จึงเริ่มต้นในช่วง 1000 วันแรกของชีวิต1 แต่ผลในการได้รับอาหารที่หลากหลายและส่งผลต่อลักษณะความชอบอาหารที่จะมีแนวโน้มที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นได้ บุคลากรทางการแพทย์จึงควรให้ความรู้ในเรื่องจุดเริ่มต้นของสุขภาวะที่ดีในการรับประทานอาหารของทารกที่จะมีผลสืบเนื่องไปในอนาคตเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น และควรเริ่มต้นด้วยการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหารของมารดาในขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตรตั้งแต่ในช่วง 1000 วันแรกของชีวิต

เอกสารอ้างอิง

  1. Ventura AK. Does Breastfeeding Shape Food Preferences? Links to Obesity. Ann Nutr Metab 2017;70 Suppl 3:8-15.

ทารกคุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? มารดาอาจเคยถามตนเองว่า ทำไมลูกเราถึงชอบอาหารชนิดนี้ ขณะที่เด็กคนอื่นอาจชอบอาหารอีกชนิดหนึ่ง คำตอบส่วนหนึ่งที่จะอธิบายกลไกการชอบของอาหารที่แตกต่างกัน เริ่มต้นตั้งแต่ การที่ทารกอยู่ในครรภ์ การพัฒนาการของระบบการย่อยอาหารและรับกลิ่นของทารกจะมีการพัฒนาการตั้งแต่ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อมารดารับประทานอาหารชนิดที่มีความแตกต่างกันทั้งรสชาติและกลิ่น สารเหล่านั้นจะผ่านน้ำคร่ำและผ่านไปยังทารก ซึ่งจะส่งผลต่อการชอบของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น1 เช่น มารดาที่ชอบกินกระเทียมหรือเครื่องเทศ ทารกก็จะคุ้นเคยกับกลิ่นของกระเทียมและเครื่องเทศจากน้ำคร่ำตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ นอกเหนือจากความคุ้นเคยที่ผ่านมาในน้ำคร่ำแล้ว กลิ่นหรือรสชาติของน้ำนมที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามการกินอาหารของมารดาก็ยังมีผลต่อความคุ้นเคยกับอาหารเหล่านี้ของทารกด้วย ดังนั้น แม่กินอย่างไรก็มีโอกาสที่ลูกจะคุ้นเคยหรือชอบอาหารที่แม่กินในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมลูกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ventura AK. Does Breastfeeding Shape Food Preferences? Links to Obesity. Ann Nutr Metab 2017;70 Suppl 3:8-15.