คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สถานประกอบการในแต่ละประเภทมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่แตกต่างกัน1 ซึ่งการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสถานประกอบการขึ้นอยู่กับนโยบาย การดำเนินงาน และลักษณะของงานของสถานประกอบการนั้น ๆ มีการศึกษาถึงประเภทของสถานประกอบการกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า สถานประกอบการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และการให้บริการมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่าสถานประกอบการประเภทอื่น ๆ อาจเป็นไปได้จากสถานประกอบการประเภทเหล่านี้ต้องมีการแข่งขันในการเพิ่มการผลิต อัตราการขนส่ง และความพึงพอใจของผู้รับบริการ อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในการสร้างระบบสวัสดิการที่ดีรวมถึงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลต่อความรักความผูกพันต่อองค์กรที่จะส่งผลถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของการทำงานได้ อาจทำให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการสามารถดำเนินการร่วมไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Snyder K, Hansen K, Brown S, Portratz A, White K, Dinkel D. Workplace Breastfeeding Support Varies by Employment Type: The Service Workplace Disadvantage. Breastfeed Med 2018;13:23-7.

หากต้องการให้ลูกกินนมแม่ควรคลอดลูกในโรงพยาบาลที่ส่งเสริมนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบและตระหนักกันเป็นอย่างดีแล้วถึงประโยชน์ ความสำคัญและความจำเป็นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อมารดาตั้งครรภ์และมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเลือกโรงพยาบาลที่จะคลอดบุตรและสร้างโอกาสที่จะเอื้อให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มารดาควรมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลใดที่ส่งเสริมนมแม่และโรงพยาบาลใดที่ขาดปัจจัยที่จะเอื้อให้บุตรได้กินนมแม่ โดยทั่วไป โรงพยาบาลในประเทศไทย โรงพยาบาลที่ส่งเสริมนมแม่ ได้แก่ โรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (baby friendly hospital) แต่ในปัจจุบันเกณฑ์การประเมินของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกได้มีการรวบรวมไปไว้กับงานอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งมีการศึกษาพบว่าโรงพยาบาลที่มีสถานะในการผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกอยู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มหรือมีปัจจัยเกื้อหนุนที่จะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ลูกมีโอกาสที่จะได้กินนมแม่สูงขึ้น1 ดังนั้น การหาข้อมูลหรือว่าการสื่อสารสถานะของแต่ละโรงพยาบาลว่ามีได้ผ่านการประเมินเกณฑ์โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกหรือผ่านเกณฑ์การประเมินอนามัยแม่และเด็กหรือไม่ การเลือกคลอดของมารดาในโรงพยาบาลเหล่านั้น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในความสำเร็จในการให้ลูกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Spaeth A, Zemp E, Merten S, Dratva J. Baby-Friendly Hospital designation has a sustained impact on continued breastfeeding. Matern Child Nutr 2018;14.

ระยะเวลาที่มารดาได้ลาพักหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อมารดาคลอดบุตร หลังคลอดมารดาจะได้รับอนุญาตให้ลาพักหลังคลอดได้ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะงานของมารดาที่มีสถานะเป็นลูกจ้างในระบบการจ้างงาน มารดาที่มีอาชีพอิสระที่มีเวลายึดหยุ่นในการจัดสรรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักมีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่า ลูกจ้างที่อยู่ในระบบการจ้างงานในระบบประกันสังคม อย่างน้อยสิทธิในการลาคลอดที่ได้คือ 45 วัน ขณะที่อาชีพที่เป็นข้าราชการสิทธิลาคลอดบุตรหลังคลอดได้ 90 วัน ซึ่งก็พบว่าข้าราชการที่มีสิทธิลาคลอดได้ยาวนานกว่าก็มีแนวโน้มจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่ามารดาที่มีสิทธิประกันสังคม อย่างไรก็ตามแม้สิทธิในการลาคลอดที่ยาวนานกว่าจะมีความสำคัญ แต่ความตั้งใจและความเชื่อมั่นว่าสามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ก็ยังมีความสำคัญด้วย1 ดังนั้น หากมารดามีอุปสรรคจากเรื่องข้อจำกัดในการลาคลอด ความตั้งใจของมารดาที่จะผ่าฟันปัญหาและแสวงหาแนวทางที่แก้ไข ก็อาจทำให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Sulaiman Z, Liamputtong P, Amir LH. Timing of return to work and women’s breastfeeding practices in urban Malaysia: A qualitative study. Health Soc Care Community 2018;26:48-55.

ระบบพี่เลี้ยงมารดาช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการจัดระบบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ โดยระบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่ดี ได้แก่ ระบบพี่เลี้ยง (peer support) โดยพี่เลี้ยงนี้อาจเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มารดาที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือบุคคลที่ผ่านการอบรมและมีความรู้ความสามารถที่จะให้คำปรึกษาแก่มารดาได้ พี่เลี้ยงที่ปฏิบัติงานอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขหรืออาจเป็นจิตอาสาก็ได้ การจัดระบบพี่เลี้ยงเพื่อช่วยในการให้คำปรึกษาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยจัดเป็นระบบหนึ่งต่อหนึ่ง1 จะช่วยให้การเข้าถึงการให้คำปรึกษาเป็นไปได้ด้วยดี สร้างความสัมพันธ์และความคุ้นเคยกันในระหว่างที่เป็นพี่เลี้ยง ทำให้การแก้ไขหรือการปรึกษาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปโดยสะดวกใจและไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม ในการจัดระบบพี่เลี้ยงเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีจำนวนพี่เลี้ยงที่เพียงพอที่จะเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษารวมทั้งมีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เบื้องต้นได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ที่มีบทบาทในการดูแลและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องช่วยกันสร้างและพัฒนาระบบบริการเหล่านี้ให้มีความเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Trickey H, Thomson G, Grant A, et al. A realist review of one-to-one breastfeeding peer support experiments conducted in developed country settings. Matern Child Nutr 2018;14.

 

 

 

นมแม่ วัคซีนส่วนตัวสำหรับทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นในการดำรงเผ่าพันธุ์ต้องอาศัยการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นลักษณะที่สำคัญที่เป็นเสมือนลักษณะที่บ่งชี้การรอดชีวิต การสืบสานเผ่าพันธุ์ที่จะนำไปสู่การวิวัฒนาการ มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงมีพื้นฐานของการวิวัฒนาการมาเพื่อให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นมแม่จึงมีสภาพที่เป็นทั้งแหล่งอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดรวมทั้งยังเป็นวัคซีนส่วนตัวสำหรับทารกด้วย เพราะนอกจากนมแม่จะมีสารอาหารที่ครบถ้วนและมีการปรับสภาพหรือสัดส่วนให้เหมาะสมสำหรับทารกในแต่ละช่วงวัยแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันเฉพาะตัวที่สร้างมาให้จากมารดาที่ถ่ายทอดมาสู่ทารก โดยพบว่าหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง (colostrum) มีโปรตีนที่มีบทบาทเป็นภูมิคุ้มกันมากกว่า 250 ชนิดเป็นวัคซีนธรรมชาติที่ช่วยปกป้องทารก1 ช่วยในการรอดชีวิต และส่งเสริมให้ทารกมีสุขภาพที่ดี การตระหนักรู้ว่านมแม่เป็นของขวัญของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะใส่ใจและให้ความสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

  1. Vieira Borba V, Sharif K, Shoenfeld Y. Breastfeeding and autoimmunity: Programing health from the beginning. Am J Reprod Immunol 2018;79.