คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

หากมารดาต้องใช้ยาระหว่างการให้นมบุตรต้องทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ข้อแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขององค์การอนามัยโลกนั้น แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก เมื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีระยะเวลายาวนาน ดังนั้น มารดาส่วนใหญ่จึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร เมื่อมารดาเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยยามารดาจะสามารถปรึกษาใครได้บ้างว่า สามารถใช้ยาในระหว่างให้นมบุตรได้หรือไม่ มีการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ขาดความรู้เรื่องการใช้ยาในระหว่างให้นมบุตร1 แม้ว่าแพทย์โดยทั่วไปจะมีความรู้ในเรื่องยามากกว่าพยาบาล การแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามารดายังคงให้นมบุตรอยู่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรสอบถามแพทย์ว่าสามารถกินยาในขณะให้นมบุตรได้หรือไม่ โชคดีที่ส่วนใหญ่มารดาสามารถกินยาได้โดยมีความปลอดภัยต่อทารก แต่โชคร้ายที่บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ขาดความรู้ เมื่อขาดความรู้จึงเกิดความไม่แน่ใจ และหากไม่มีการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมมาเพื่อให้คำแนะนำแก่มารดาอย่างเหมาะสม ก็อาจจะเลือกใช้การหยุดหรือเว้นระยะการให้นมไปในช่วงที่ให้ยา ซึ่งเป็นวิธีที่เอาง่ายเข้าว่า แม้การหยุดให้นมจะมองดูว่าง่ายแต่อาจส่งผลเสียทำให้มารดามีน้ำนมลดลงและต้องหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรได้ ดังนั้น การใส่ใจหาความรู้เพิ่มเติมถึงข้อมูลการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลย รวมทั้งควรสอบถามทุกครั้งที่มารดาเจ็บป่วย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อัตราการซื้อยารับประทานเองจากร้านขายยายังมีสัดส่วนที่สูง คำถามที่ต้องสอบถามมารดาเสมอคือ มารดาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่หรือไม่ เพื่อการให้คำแนะนำหรือเลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

  1. Al-Sawalha NA, Sawalha A, Tahaineh L, Almomani B, Al-Keilani M. Healthcare providers’ attitude and knowledge regarding medication use in breastfeeding women: a Jordanian national questionnaire study. J Obstet Gynaecol 2018;38:217-21.

 

การให้คำปรึกษาตัวต่อตัวในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะได้รับความสนใจมากที่สุดเมื่อมารดาต้องเริ่มให้นมแม่ด้วยตนเองแล้ว ซึ่งก็คือ การให้คำปรึกษาในช่วงระยะหลังคลอดขณะที่มารดายังอยู่ในโรงพยาบาล สำหรับชนิดของการให้คำปรึกษามีการศึกษาพบว่า การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวหรือหนึ่งต่อหนึ่ง คือเฉพาะแต่ละคู่ของมารดาและทารกจะได้ผลดีที่สุด1 และหากมีการกำหนดตัวบุคคลที่จะให้การดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เฉพาะในลักษณะของพี่เลี้ยงนมแม่ที่จะให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การจัดระบบการให้คำปรึกษาชนิดตัวต่อตัวนั้นต้องใช้อัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ที่ให้คำปรึกษายังต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา ดังนั้น หากจะดำเนินการจัดรูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี ต้องมีนโยบายที่เอื้อให้มีอัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ ต้องมีการจัดการอบรมให้บุคลากรเหล่านี้มีสมรรถนะเพียงพอที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และต้องดำรงให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถทำงานอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ได้ยาวนานคือต้องมีการสร้างให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ หรือมีบันไดอาชีพที่เหมาะสม การคิดที่ครบวงจรจะทำให้การดำเนินงานด้านการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Alberdi G, O’Sullivan EJ, Scully H, et al. A feasibility study of a multidimensional breastfeeding-support intervention in Ireland. Midwifery 2018;58:86-92.

รูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? วิธีการหรือรูปแบบในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีการนำมาใช้บ่อย ๆ และได้มีการนำมาศึกษาถึงผลลัพธ์ของแต่ละรูปแบบของการสนับสนุน ได้แก่ การจัดการให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะฝากครรภ์ การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอดขณะอยู่ที่โรงพยาบาล การให้สมุดพกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญและการดูแลให้ลูกได้กินนมแม่ การจัดตารางความร่วมมือของบิดามารดาในการที่จะช่วยให้ลูกได้กินนมแม่ การจัดเผยแพร่ให้ข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่พ่อและแม่ผ่านเว็บไซด์ การจัดทำ DVD เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่พ่อและแม่ การส่งอีเมล์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่พ่อและแม่ในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สามหลังคลอด และการโทรศัพท์ติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่สัปดาห์ที่สองหลังคลอด พบว่าการให้คำปรึกษาในระยะหลังคลอดขณะอยู่ในโรงพยาบาลทั้งพ่อและแม่เห็นว่ามีประโยชน์มากที่สุด และการแจกสมุดพกที่มีข้อมูลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการนำมาใช้มากที่สุด1 จากกรณีนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่า การให้ข้อมูลคำปรึกษาจะได้รับความสนใจและเห็นประโยชน์มากก็ต่อเมื่อผู้รับการให้คำปรึกษาอยู่ในช่วงระยะที่ต้องพบเจออุปสรรคนั้น นอกจากนี้ การแจกสมุดพกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดานำมาใช้ประโยชน์ได้มากเนื่องจากสมุดพกเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมารดาที่สุด เมื่อต้องการใช้ข้อมูลก็สามารถนำมาใช้ได้โดยง่าย ทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้โดยง่าย ดังนั้นควรมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่มารดาและครอบครัวในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมสามารถเลือกใช้รูปแบบการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Abbass-Dick J, Dennis CL. Maternal and paternal experiences and satisfaction with a co-parenting breastfeeding support intervention in Canada. Midwifery 2018;56:135-41.

ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลต่อสัญชาตญาณความเป็นแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สัญชาตญาณความเป็นแม่แม้เป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่การเข้าใจกระบวนการที่จะส่งผลให้เกิดสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่พบแตกต่างกันในมารดาแต่ละคน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และอาจเป็นคำถามทางการแพทย์ที่ต้องการคำอธิบายที่จะตอบคำถามนี้ สัญชาตญาณความเป็นแม่นั้นจะประกอบด้วยความรักความห่วงใยลูกและการปฏิบัติดูแลที่ต้องการให้ทารกได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งก็คือการให้ลูกได้กินนมแม่ ในเรื่องความรักความห่วงใยและการให้ลูกกินนมแม่นั้นมีความสัมพันธ์กันโดยอธิบายผ่านกลไกของฮอร์โมนออกซิโทซิน การคิดถึงหรือเป็นห่วงเป็นใยทารกจะกระตุ้นการทำงานของออกซิโทซิน ดังนั้นฮอร์โมนออกซิโตซินเป็นฮอร์โมนที่ถูกเรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความรัก เมื่อมีการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินก็จะช่วยในการหลั่งของน้ำนมและช่วยในการที่มารดาจะให้นมแม่แก่ลูก ในทางกลับกัน การดูดนมของทารกก็จะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน มีการศึกษาสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยพบว่า ระยะของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับสัญญาตญาณความเป็นแม่ ก็คือ หากทารกกินนมแม่นานจะพบสัญญาตญาณความเป็นแม่ได้นานกว่าและความผูกพันระหว่างมารดาและทารกจะมีมากและนานกว่า1 ซึ่งส่งผลดีต่อการดูแลเอาใจใส่ทารกและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Weaver JM, Schofield TJ, Papp LM. Breastfeeding duration predicts greater maternal sensitivity over the next decade. Dev Psychol 2018;54:220-7.

 

สื่อเรื่องนมแม่มีผลต่อนโยบายของรัฐบาลและองค์กร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การสื่อสารที่เผยแพร่ข้อมูลเรื่องนมแม่ ประโยชน์ของนมแม่ ความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน รวมทั้งข้อมูลวิธีการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากมีการสื่อไปในสังคมไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม ทั้งที่เป็นรูปแบบของสื่อหนังสือ หนังสือพิมพ์ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ต่อมาก็มีการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และในปัจจุบันการใช้สื่อยังรวมถึงสื่อที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย สื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนในสังคม ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล1 ที่จะส่งต่อการดำเนินงานมาสู่องค์กรภาครัฐ และยังมีผลต่อหน่วยงานในภาคเอกชนด้วย เช่น การสนับสนุนในการสร้างมุมนมแม่ในศูนย์การค้าและที่สาธารณะ ก็สามารถสร้างให้เกิดกระแสในการสนับสนุนการจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการหรือหน่วยงานภาคเอกชนได้ ดังนั้น การมองเห็นความสำคัญของการสื่อสาร โดยสื่อให้ตรงจุดตรงประเด็น และสื่อโดยสื่อที่เอื้อให้คนเข้าถึงและรับรู้ได้ จะสามารถสร้างกระแสและชักนำการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้นได้โดยการก่อให้เกิดนโยบายของจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติของคนในสังคมที่จะเอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. DeMarchis A, Ritter G, Otten J, Johnson D. Analysis of Media Coverage on Breastfeeding Policy in Washington State. J Hum Lact 2018;34:156-63.