คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความเข้าใจเรื่องทารกเสียชีวิตจากการขาดอาหารที่เหมาะสม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทารกที่คลอดออกมามักจะเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรกจากอาการท้องเสีย ซึ่งในยุคนั้นความนิยมในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกและค่านิยมในการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกยังมีอยู่สูงและยังแสดงถึงฐานะที่ดีของครอบครัวนั้น ๆ เมื่อปัญหาการเสียชีวิตของทารกเกิดจากอาการท้องเสีย แนวทางในการแก้ไขปัญหาขณะนั้นก็คือ การพยาบาลสร้างสาธารณูปโภคที่จะทำให้มีน้ำที่สะอาดที่จะนำมาใช้ในการชงนมให้ทารก ดังนั้น ความคิดจึงมุ่งไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอาหารที่เหมาะสมโดยยังขาดความคำนึงถึงการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นอาหารที่เหมาะสม สะอาด และดีที่สุดสำหรับทารก สิ่งนี้สะท้อนถึงการมองปัญหาเพียงด้านเดียว คือ เมื่อทารกกินนมผง ขาดน้ำสะอาดในการชงนม การแก้ไขจึงต้องพยายามที่จะสร้างหรือสรรหาน้ำสะอาดมาชงนม1 จนผ่านมาในช่วง 50 ปีหลัง มุมมองทางด้านความคิดและอาหารทารกจึงเริ่มจะปรับทัศนคติหรือมุมมองใหม่ คือ เมื่อทารกเสียชีวิตจากท้องเสีย ควรเลือกอาหารที่ดีและเหมาะสมกับทารกที่สุดคือนมแม่ก่อนการคิดแก้ปัญหาเรื่องน้ำสะอาดที่ใช้ชงนมผง ดังนั้น การสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเริ่มมาเฟื่องฟูมากกว่าในยุคหลัง อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์นี้ได้สอนให้เราควรมีมุมมองของการแก้ปัญหาที่รอบคอบ เลือกตั้งคำถามหรือปัญหาที่เผชิญอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การแก้ปัญหาหรือบรรลุอุปสรรคต่าง ๆ ทำได้โดยตรง ไม่วกวนและอ้อมค้อมอย่างบทเรียนปัญหาอาการท้องเสียที่ทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในระยะแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Wolf JH. “They Lacked the Right Food”: A Brief History of Breastfeeding and the Quest for Social Justice. J Hum Lact 2018;34:226-31.

ประสบการณ์ส่วนตัวของพยาบาลช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อาชีพพยาบาลนั้น เมื่อมีครอบครัวและมีบุตร ส่วนใหญ่แม้มีความรู้จากการร่ำเรียนมากในอดีตและประสบการณ์ในการทำงาน แต่เมื่อต้องมีปฏิบัติหน้าที่แม่เต็มตัว รับผิดชอบดูแลบุตรของตนเอง รวมทั้งการให้นมลูก จะทำให้มีความเข้าใจและความซาบซึ้งใจในการปฏิบัติงานในบทบาทของมารดา เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนมากขึ้น ดังนั้น เมื่อต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประสบการณ์ส่วนตัวนี้จะช่วยในการที่มารดาจะมีความเข้าใจในจิตใจของมารดาที่ให้นมลูก การอธิบาย การพูดจา รวมทั้งการสร้างให้มารดามีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ก็จะทำได้ดีจากต้นทุนประสบการณ์ตรงเหล่านี้1 นี่ก็อาจเป็นประโยชน์ข้อหนึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์จากชีวิตจริง และนำความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์นั้น ๆ มีถ่ายทอดและสร้างประโยชน์แก่มารดาหรือผู้ป่วยอื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เสริมจากความรู้หรือประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wright AI, Hurst NM. Personal Infant Feeding Experiences of Postpartum Nurses Affect How They Provide Breastfeeding Support. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2018.

ลดการผ่าตัดคลอดช่วยให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้นไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดสูงขึ้นทั้งในโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน จากในอดีตอัตราการผ่าตัดคลอดจะอยู่ราวร้อยละ 30-40 ขณะที่ในปัจจุบันพบราวร้อยละ 60-90 การผ่าตัดคลอดนั้น มารดาต้องใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ และวัสดุทางการแพทย์ที่มากกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า รวมทั้งมารดาต้องได้รับการให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมารดาและทารก และภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นหลังคลอดและในการให้นมบุตร ซึ่งเมื่อมาดูถึงผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่ผ่าตัดคลอดจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกไม่สำเร็จสูงขึ้นเกือบถึง 2 เท่า และมีความเสี่ยงในการที่จะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า 1.5 เท่า สำหรับผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็มีผลเช่นกัน มารดาที่ผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงหกเดือนเพิ่มขึ้น 1.5-1.7 เท่า1 หากกล่าวโดยสรุปการผ่าตัดคลอดมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นเมื่ออัตราการผ่าตัดคลอดสูงจึงเป็นเสมือนอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้เกิดค่านิยมการผ่าตัดคลอดเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศและช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Wu Y, Wang Y, Huang J, et al. The association between caesarean delivery and the initiation and duration of breastfeeding: a prospective cohort study in China. Eur J Clin Nutr 2018.

 

นมแม่ช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้นจริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้จะมีข้อมูลบ่งบอกถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่เป็นเรื่องที่โดนใจของมารดาและครอบครัวก็คือ กินนมแม่แล้วจะทำให้ลูกเฉลียวฉลาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีความเชื่อเช่นนั้น แล้วจากข้อมูลมีการศึกษาวิจัยยืนยันผลนี้หรือไม่ การศึกษาส่วนใหญ่ที่ศึกษาเรื่องคะแนนของความฉลาดหรือไอคิวมักเป็นการศึกษาในรูปแบบของการสังเกต แต่ก็พบว่ามีการศึกษาในรูปแบบของการทดลองขนาดใหญ่ที่ใช้ชื่อย่อเรียกว่า PROBIT (Promotion of Breastfeeding Intervention Trial) ที่ทำการศึกษาทดลองในทารกจำนวนหมื่นกว่าคน ติดตามประเมินการเรียนรู้ของทารกได้รับการสนับสนุนให้กินนมแม่กับทารกทั่วไป พบว่าเมื่อทารกเข้าสู่วัยเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษา (อายุ 6.5 ปี) ทารกที่ได้รับการสนับสนุนให้กินนมแม่จะมีคะแนนของความฉลาดหรือไอคิวสูงกว่า แต่เมื่อติดตามทารกเหล่านี้ไปจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นหรือเริ่มเรียนในชั้นมัธยมปลาย (อายุ 16 ปี) ไม่พบความแตกต่างของการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มทั้งสองกลุ่มยกเว้น ความสามารถในด้านการพูดที่อาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย คำอธิบายผลของการศึกษานี้คือ นมแม่น่าจะช่วยในการเรียนรู้ของทารกได้จริงในระยะที่ทารกเริ่มเจริญเติบโตขึ้นเข้าสู่วัยเด็ก แต่เมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ผลของการกินนมแม่จะลดลงเมื่อทารกเจริญวัยมากขึ้น1 อย่างไรก็ตาม การที่ทารกเมื่อย่างเข้าสู่วัยเด็กแล้วมีการเรียนรู้ที่ดีย่อมมีโอกาสที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดี และส่งผลต่อการมีโอกาสที่จะทำงานในอาชีพที่ดี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยสร้างรากฐานการเรียนรู้ที่ดีของทารก ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตของทารกในอนาคต หรือจะย่อสั้น ๆ ว่า กินนมแม่ช่วยให้เด็กฉลาดและมีอนาคต ก็กล่าวได้ หากพูดบนพื้นฐานของความเข้าใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Yang S, Martin RM, Oken E, et al. Breastfeeding during infancy and neurocognitive function in adolescence: 16-year follow-up of the PROBIT cluster-randomized trial. PLoS Med 2018;15:e1002554.

 

การสนับสนุนให้เกิดการเริ่มต้นการให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเริ่มต้นการให้นมลูกภายในหนึ่งชั่วโมงแรกมีรายงานว่าสามารถช่วยลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของทารกได้ ในขณะที่ปัจจุบัน อัตราการเริ่มการให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดในประเทศที่กำลังพัฒนาพบร้อยละ 391 หากพิจารณาถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเริ่มต้นการให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรกโดยพิจารณาแยกเป็นหัวข้อปัจจัยใหญ่ 3 ปัจจัย คือ

ปัจจัยด้านมารดา ได้แก่ ความรู้และทัศนคติที่ดีของมารดาต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ความเจ็บป่วย โรคประจำตัว และภาวะแทรกซ้อนของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด วิธีการคลอด

ปัจจัยด้านทารก ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวของทารก ภาวะแทรกซ้อนของทารกหลังการคลอด ความผิดปกติหรือความพิการของทารก

ปัจจัยด้านการระบบงานในการดูแลมารดาและทารก ได้แก่ นโยบายในการสนับสนุนการเริ่มการให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรก การพัฒนาระบบการดูแลมารดาและทารกให้เอื้อต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่ในระยะแรก ตั้งแต่การส่งเสริมให้มีการให้ความรู้แก่มารดาให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอดระยะแรก การจัดการดูแลในห้องคลอดให้เอื้อต่อการเริ่มต้นการให้นมลูกในระยะแรกโดยมีการใช้ยาแก้ปวดอย่างจำเป็นและเหมาะสม ลดการผ่าตัดคลอดหรือการดมยาสลบที่จะส่งผลเสียต่อการเริ่มต้นการให้นมลูกในระยะแรก การจัดระบบพี่เลี้ยงที่จะคอยให้การดูแลและสนับสนุนให้มารดาให้นมทารกตั้งแต่ในระยะแรก การจัดระบบที่เน้นให้ความสำคัญต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่ให้เวลาทารกได้อยู่บนหน้าอกมารดานานหนึ่งชั่วโมงโดยปราศจากการรบกวน ซึ่งจะชะลอการดูแลอื่น ๆ ที่รอได้ออกไป เช่น การฉีดวัคซีน การอาบน้ำทารก เนื่องจากการช่วยให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยสนับสนุนกลไกตามธรรมชาติให้ทารกคืบคลานเข้าหาเต้านม และเริ่มการดูดนมได้ด้วยตนเอง แต่กลไกนี้จะเกิดได้ทารกต้องผ่านการปรับตัวในขั้นตอนต่าง ๆ 9 ชั้นตอนโดยปราศจากการบกวน การให้เวลาและให้ความสำคัญแก่การเปิดโอกาสทารกได้อยู่บนอกมารดาโดยปราศจากการรบกวนจึงเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ เพื่อช่วยในการบรรลุผลสำเร็จในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่งโมงแรก

เอกสารอ้างอิง

  1. Mekonen, L., Seifu, W. & Shiferaw, Z. Int Breastfeed J (2018) 13: 17. https://doi.org/10.1186/s13006-018-0160-2