คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ผลระยะยาวของโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำจากการตั้งครรภ์ต่อมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           มารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษและโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ เมื่อมารดาอายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น โดยพบความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 5 เท่า และความเสี่ยงจากการมีโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า ยังไม่ทราบ สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการเกิดความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อน แต่มีการศึกษาพบว่าหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี มารดามีโรคความดันโลหิตสูงที่ถูกชักนำโดยการตั้งครรภ์จะพบมีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการตีบแคบของเส้นเลือด  ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรแนะนำให้มารดาลดปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้มีความเหมาะสม ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ งดอาหารที่มีเกลือในปริมาณที่มากหรือเค็มเกินไป เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย งดการสูบบุหรี่  ในมารดาที่อายุน้อยหรือยังมีความต้องการจะมีบุตร จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปเพิ่มขึ้น การพิจารณาให้แอสไพรินแก่มารดาที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย จะเกิดประโยชน์โดยลดการเกิดโรคนี้ได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 202: Gestational Hypertension and Preeclampsia. Obstet Gynecol 2019;133:e1-e25.

 

 

ผลของโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          มารดาที่มีโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อย โดยภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะทำให้ทารกต้องย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต1 การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และเสี่ยงต่อการเริ่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารก หากไม่มีการให้คำปรึกษาหรือดูแลให้มารดามีความพร้อมในการให้นมทารกเมื่อทารกสามารถกินนมแม่ได้ สำหรับการดูแลในระยะหลังคลอด หากมารดามีความดันโลหิตสูงมาก การดูแลรักษาและการใช้ยาจะเหมือนกับการดูแลรักษามารดาที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่จำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง โดยผลของการใช้ยาในแต่ละตัวต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Cordero L, Valentine CJ, Samuels P, Giannone PJ, Nankervis CA. Breastfeeding in women with severe preeclampsia. Breastfeed Med 2012;7:457-63.

 

โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ (gestational hypertension) สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด โดยมีข้อถกเถียงกันว่าโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์เป็นคนละโรคที่แตกต่างกันกับภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเป็นโรคเดียวกันที่มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน1 ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับมารดาครรภ์แรก อายุมาก อ้วน มีประวัติเป็นเบาหวาน2

              การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ วินิจฉัยจากการตรวจพบความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งตรวจไม่พบความผิดปกติของโปรตีนในปัสสาวะ โดยอายุครรภ์ของมารดาตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป

               สำหรับแนวทางการรักษามีตั้งแต่การติดตามอาการในกรณีที่ความดันโลหิตไม่สูงมาก และจะให้ยาลดความดันโลหิตเฉพาะเมื่อมีความดันโลหิตสูงมากคือ ความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 110 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง3 หรือในกรณีที่เชื่อว่าโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์เป็นโรคเดียวกันกับภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความรุนแรงน้อยกว่า การรักษาอาจมีการใช้ยา MgSO4 และ/หรือร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่น ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถลดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ได้แก่ การตกเลือดหลังคลอด ภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ดี (uterine inertia)  ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (placenta abruption)  การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดคลอด ทารกมีภาวะเครียดในครรภ์ (fetal distress in uterus)  และภาวะทารกเกิดการขาดออกซิเจน (neonatal asphyxia) ได้4,5

เอกสารอ้างอิง

  1. Phoswa WN. Dopamine in the Pathophysiology of Preeclampsia and Gestational Hypertension: Monoamine Oxidase (MAO) and Catechol-O-methyl Transferase (COMT) as Possible Mechanisms. Oxid Med Cell Longev 2019;2019:3546294.
  2. Laine K, Murzakanova G, Sole KB, Pay AD, Heradstveit S, Raisanen S. Prevalence and risk of pre-eclampsia and gestational hypertension in twin pregnancies: a population-based register study. BMJ Open 2019;9:e029908.
  3. ACOG Practice Bulletin No. 202: Gestational Hypertension and Preeclampsia. Obstet Gynecol 2019;133:e1-e25.
  4. Wen J, Li X. Effect of Magnesium Sulfate Combined with Phentolamine and Nifedipine for Gestational Hypertension and Serum Levels of LIF and Apelin. J Coll Physicians Surg Pak 2019;29:231-4.
  5. Wang Y, Zhang X, Han Y, Yan F, Wu R. Efficacy of combined medication of nifedipine and magnesium sulfate on gestational hypertension and the effect on PAPP-A, VEGF, NO, Hcy and vWF. Saudi J Biol Sci 2019;26:2043-7.

โรคความดันโลหิตสูงกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 11

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ยาที่ใช้รับประทานต่อเนื่องในช่วงหลังคลอดเพื่อลดความดันโลหิตที่ใช้บ่อย มีดังนี้

  • Amlodipine เลือกใช้ยาชนิดรับประทาน ระดับของยาในกระแสเลือดของมารดาจะสูง ซึ่งทำให้ยาจะผ่านเข้าสู่น้ำนมได้สูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่รับประทานยา amlodipine ขนาด 2.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน จากการเจาะเลือดตรวจระดับยาในกระแสเลือดทารกพบน้อยกว่า 0.4 ไมโครกรัมต่อลิตร1 ค่าขนาดยาของทารกสัมพัทธ์พบว่ามีค่าน้อยกว่าร้อยละ 102 ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่มีความเสี่ยงต่ำ หากมารดาจำเป็นต้องรับประทานยานี้ไม่ถือเป็นข้อห้ามในการให้นมบุตร
  • Nifedipine เป็นยาชนิดรับประทาน ยังไม่พบรายงานผลเสียจากการให้ลูกกินนมแม่จากมารดาที่ใช้ยานี้3-5 ดังรายละเอียดที่ได้เขียนบรรยายไว้แล้วก่อนหน้านี้

เอกสารอ้างอิง

  1. Aoki H, Ito N, Kaniwa N, et al. Low Levels of Amlodipine in Breast Milk and Plasma. Breastfeed Med 2018;13:622-6.
  2. Naito T, Kubono N, Deguchi S, et al. Amlodipine passage into breast milk in lactating women with pregnancy-induced hypertension and its estimation of infant risk for breastfeeding. J Hum Lact 2015;31:301-6.
  3. Manninen AK, Juhakoski A. Nifedipine concentrations in maternal and umbilical serum, amniotic fluid, breast milk and urine of mothers and offspring. Int J Clin Pharmacol Res 1991;11:231-6.
  4. Penny WJ, Lewis MJ. Nifedipine is excreted in human milk. Eur J Clin Pharmacol 1989;36:427-8.
  5. Ehrenkranz RA, Ackerman BA, Hulse JD. Nifedipine transfer into human milk. J Pediatr 1989;114:478-80.

โรคความดันโลหิตสูงกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 10

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ยาที่ใช้รับประทานต่อเนื่องในช่วงหลังคลอดเพื่อลดความดันโลหิตที่ใช้บ่อย มีดังนี้

  • Metoprolol เป็นยารับประทานอยู่ในกลุ่ม beta-blocker ยาผ่านน้ำนมในปริมาณที่น้อยมาก1,2 ในมารดาที่รับประทานยา metoprolol ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อวัน จากการตรวจหาปริมาณยาในกระแสเลือดทารกพบว่า ขนาดยาที่ตรวจพบน้อยกว่า 2.7 ไมโครกรัมต่อลิตร3 ค่าขนาดยาของทารกสัมพัทธ์เท่ากับ 0.54 ยังไม่มีรายงานถึงผลเสียของการใช้ยานี้ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5

เอกสารอ้างอิง

  1. Liedholm H, Melander A, Bitzen PO, et al. Accumulation of atenolol and metoprolol in human breast milk. Eur J Clin Pharmacol 1981;20:229-31.
  2. Sandstrom B, Regardh CG. Metoprolol excretion into breast milk. Br J Clin Pharmacol 1980;9:518-9.
  3. Kulas J, Lunell NO, Rosing U, Steen B, Rane A. Atenolol and metoprolol. A comparison of their excretion into human breast milk. Acta Obstet Gynecol Scand Suppl 1984;118:65-9.
  4. Ryu RJ, Eyal S, Easterling TR, et al. Pharmacokinetics of metoprolol during pregnancy and lactation. J Clin Pharmacol 2016;56:581-9.
  5. Schimmel MS, Eidelman AI, Wilschanski MA, Shaw D, Jr., Ogilvie RJ, Koren G. Toxic effects of atenolol consumed during breast feeding. J Pediatr 1989;114:476-8.