โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ (gestational hypertension) สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด โดยมีข้อถกเถียงกันว่าโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์เป็นคนละโรคที่แตกต่างกันกับภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเป็นโรคเดียวกันที่มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน1 ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับมารดาครรภ์แรก อายุมาก อ้วน มีประวัติเป็นเบาหวาน2

              การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ วินิจฉัยจากการตรวจพบความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งตรวจไม่พบความผิดปกติของโปรตีนในปัสสาวะ โดยอายุครรภ์ของมารดาตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป

               สำหรับแนวทางการรักษามีตั้งแต่การติดตามอาการในกรณีที่ความดันโลหิตไม่สูงมาก และจะให้ยาลดความดันโลหิตเฉพาะเมื่อมีความดันโลหิตสูงมากคือ ความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 110 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง3 หรือในกรณีที่เชื่อว่าโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์เป็นโรคเดียวกันกับภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความรุนแรงน้อยกว่า การรักษาอาจมีการใช้ยา MgSO4 และ/หรือร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่น ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถลดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ได้แก่ การตกเลือดหลังคลอด ภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ดี (uterine inertia)  ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (placenta abruption)  การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดคลอด ทารกมีภาวะเครียดในครรภ์ (fetal distress in uterus)  และภาวะทารกเกิดการขาดออกซิเจน (neonatal asphyxia) ได้4,5

เอกสารอ้างอิง

  1. Phoswa WN. Dopamine in the Pathophysiology of Preeclampsia and Gestational Hypertension: Monoamine Oxidase (MAO) and Catechol-O-methyl Transferase (COMT) as Possible Mechanisms. Oxid Med Cell Longev 2019;2019:3546294.
  2. Laine K, Murzakanova G, Sole KB, Pay AD, Heradstveit S, Raisanen S. Prevalence and risk of pre-eclampsia and gestational hypertension in twin pregnancies: a population-based register study. BMJ Open 2019;9:e029908.
  3. ACOG Practice Bulletin No. 202: Gestational Hypertension and Preeclampsia. Obstet Gynecol 2019;133:e1-e25.
  4. Wen J, Li X. Effect of Magnesium Sulfate Combined with Phentolamine and Nifedipine for Gestational Hypertension and Serum Levels of LIF and Apelin. J Coll Physicians Surg Pak 2019;29:231-4.
  5. Wang Y, Zhang X, Han Y, Yan F, Wu R. Efficacy of combined medication of nifedipine and magnesium sulfate on gestational hypertension and the effect on PAPP-A, VEGF, NO, Hcy and vWF. Saudi J Biol Sci 2019;26:2043-7.