คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินบีหนึ่งหรือไม่

IMG_1672

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินบีหนึ่งต้องการวันละ 1.4 มิลลิกรัมต่อวัน การขาดวิตามินบีหนึ่งจะทำให้เกิดโรคเหน็บชา ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ บวม และหัวใจวายได้ การที่มารดาขาดวิตามินบีหนึ่ง จะส่งผลต่อระดับของวิตามินบีหนึ่งในน้ำนมลดลงและจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีหนึ่งในทารกด้วย การเสริมวิตามินบีหนึ่งระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะเพิ่มระดับของวิตามินบีหนึ่งในน้ำนมแม่ได้1 อย่างไรก็ตาม การแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่งสูง ได้แก่ อาหารจำพวกธัญพืช เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่วต่างๆ ในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรน่าจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินบีหนึ่งในทารกได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ระดับของวิตามินบีหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามระดับของวิตามินบีหนึ่งของมารดา ดังนั้น มารดาที่ต้องการให้ทารกได้รับวิตามินบีหนึ่งที่เพียงพอ ควรรับประทานอาหารให้ครบหมู่ตามสัดส่วนอย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินเอหรือไม่

IMG_1676

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินเอต้องการวันละ 975 ไมโครกรัมต่อวัน มารดาที่ขาดวิตามินเอหลังคลอด จะแนะนำให้รับประทานวิตามินเอถึง 200000 หน่วย (60060 ไมโครกรัม) เพื่อช่วยรักษาอาการขาดวิตามินเอในมารดาและลดการขาดวิตามินเอในทารกโดยเฉพาะหลังจากหกเดือนแรก แต่ในมารดาที่ไม่ขาดวิตามินเอ ยังไม่มีข้อมูลว่า การให้วิตามินเอแก่มารดาจะช่วยป้องกันหรือลดความเจ็บป่วยในมารดาและทารก แม้ว่ามีแนวโน้มว่าอาจจะมีประโยชน์ แต่มีข้อมูลว่าการให้วิตามินเอเสริมแก่มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีระหว่างการตั้งครรภ์ช่วยลดภาวะซีดและลดการติดเชื้อในมารดาได้1 ดังนั้น จากข้อมูลที่มี แนะนำให้เสริมวิตามินเอในมารดาเฉพาะในมารดาที่มีการขาดวิตามินเอเท่านั้น มารดาทั่วไปควรรับประทานอาหารให้ครบหมู่ตามสัดส่วนที่เหมาะสมก็เพียงพอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

การกินนมแม่ช่วยลดระดับน้ำตาลในมารดาที่เป็นเบาหวาน

IMG_1682

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?ในมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่จำเป็นต้องใช้อินซูลินในการรักษา ขณะที่ให้ทารกดูดนมจะมีระดับของน้ำตาลในเลือดต่ำลง แต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ1 ซึ่งระดับน้ำตาลของมารดาจะต่ำโดยส่วนใหญ่เมื่อทารกกินนมแม่ ปกติทารกจะกินนมแม่วันละ 8-12 ครั้ง ดังนั้น ระดับของน้ำตาลของมารดาจะลดต่ำลงเป็นระยะทุก 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณยาฉีดอินซูลินที่จำเป็นต้องให้ขณะมารดาให้นมบุตร ซึ่งความต้องการอินซูลินจะน้อยลงเมื่อเทียบกับมารดาที่ให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ดังนั้น การใส่ใจซักถามเกี่ยวกับการให้นมบุตรของมารดาที่เป็นเบาหวานมีความจำเป็น เพื่อประเมินความจำเป็นในการเลือกขนาดของยาให้เหมาะสม และลดภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำตาลในเลือดต่ำได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Achong N, McIntyre HD, Callaway L, Duncan EL. Glycaemic behaviour during breastfeeding in women with Type 1 diabetes. Diabet Med 2016;33:947-55.

ผลดีของการกินนมแม่ในระยะยาว

IMG_1504

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?การให้ลูกได้กินนมแม่ นอกจากประโยชน์ของนมแม่ในเรื่องป้องกันการติดเชื้อ ลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของทารกแล้ว ผลดีของการกินนมแม่ในระยะยาวยังมีประโยชน์ต่อความเฉลียวฉลาดของทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ความสำเร็จในการเรียน และการทำงานหารายได้ล้วนแล้วมีมากกว่าทั้งสิ้นเมื่อทารกได้กินนมแม่นานโดยเฉพาะนานกว่า 12 เดือนหรือ 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคอ้วนและเบาหวานที่ซึ่งจะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ในอนาคต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจ และยังมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมในมารดาจากกลไกการป้องกันการตกไข่1 ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในสตรี ซึ่งปัจจุบัน มีแนวโน้มการพบมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในสตรี ลดลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Binns C, Lee M, Low WY. The Long-Term Public Health Benefits of Breastfeeding. Asia Pac J Public Health 2016;28:7-14.

การสร้างคนจากยุทธศาสตร์การกินนมแม่

IMG_1489

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?เป้าหมายของประเทศชาติต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ พื้นฐานของการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ คือ การที่มีสุขภาพแข็งแรง มีความเฉลียวฉลาด และความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นรากฐานในการสร้างทารกที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในการสร้างและพัฒนางาน อันเป็นกำลังของประเทศ1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระแสของโลกเป็นสังคมสูงอายุ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับทารกที่เกิดขึ้นจำนวนน้อย ซึ่งควรเป็นทารกที่ได้รับการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีจากการเริ่มต้นด้วยการกินนมแม่ องค์การอนามัยโลก องค์กรยูนิเซฟ หรือแม้แต่ธนาคารโลก ปัจจุบันได้กำหนดและถือให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในพันธกิจที่ต้องบรรลุ เพื่อช่วยสร้างคนที่ดีและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Binns C, Lee M, Low WY. The Long-Term Public Health Benefits of Breastfeeding. Asia Pac J Public Health 2016;28:7-14.