คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

แม่อ้วนส่งผลต่อสุขภาพทารกเมื่อโตขึ้นได้

img_2098

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การที่มารดามีภาวะอ้วนส่งผลเสียต่อทั้งตัวมารดาเอง การตั้งครรภ์ การคลอด และทารกที่จะเกิดขึ้นมาด้วย โดยที่ผลที่เกิดแก่ทารกนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นเห็นผลได้ทันทีจากการคลอดยาก ทารกได้รับบาดเจ็บระหว่างการคลอด ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ น้ำนมมารดามาช้าทำให้ลดโอกาสที่ทารกจะได้รับน้ำนมแม่ที่มีประโยชน์และช่วยในเรื่องสุขภาพหลายด้าน ทารกมีโอกาสเกิดโรคอ้วน และโรคเรื้อรังเมื่อเจริญเติบโตขึ้นในอนาคตสูงกว่า1

? ? ? ? ? ? ? ? จากการศึกษาได้อธิบายผลของการที่มารดาอ้วนที่มีต่อทารกในระยะยาวว่า การที่มารดาอ้วนจะมีผลทำให้เทโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อยู่บริเวณปลายของโครโมโซมที่เป็นสารพันธุกรรม โดยจะทำให้โครโมรโซมมีเสถียรภาพที่ดี ความยาวของเทโลเมียร์ในมารดาที่อ้วนจะสั้นลง ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมและเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในอนาคตขึ้น ดังนั้น การที่มารดามีภาวะอ้วนนั้นจะเป็นการวางความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ในสารพันธุกรรม ซึ่งจะกำหนดสุขภาพทารกเมื่อเจริญเติบโตขึ้น หากรู้เช่นนี้แล้ว การสื่อสารให้มารดาทราบถึงความเสี่ยงเหล่านี้ น่าจะสร้างแรงบันดาลใจที่จะดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักทำให้น้ำหนักของมารดาอยู่ในดัชนีมวลกายปกติ และมีผลลัพธ์ที่ดีต่อทารก-ลูกของมารดาที่จะเกิดมาในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Martens DS, Plusquin M, Gyselaers W, De Vivo I, Nawrot TS. Maternal pre-pregnancy body mass index and newborn telomere length. BMC Med 2016;14:148.

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

img_2116

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ในการที่มารดาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือก ปฏิบัติ และมีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่หลากหลาย ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีทั้งปัจจัยด้านมารดาและทารก ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนและเป็นอุปสรรคขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านและรวมถึงเมื่อมารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงานด้วย

? ? ? ? ? ? มีการศึกษาถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การที่มารดามีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมปลาย การสูบบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์ การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาล ความตั้งใจจะใช้จุกนมหลอก การไม่ได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก และการขาดการให้ความรู้เรื่องนมแม่ระหว่างการฝากครรภ์ การคลอดและหลังคลอด1 แม้ว่า การศึกษานี้จะเป็นการศึกษาในต่างประเทศ แต่ก็สามารถสื่อถึงความสำคัญถึงการให้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นแก่มารดาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลือกนมแม่ที่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด รวมทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่เริ่มต้นในขณะอยู่ที่โรงพยาบาลจนได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งการเริ่มต้นที่ดีนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zakarija-Grkovic I, Segvic O, Vuckovic Vukusic A, et al. Predictors of suboptimal breastfeeding: an opportunity for public health interventions. Eur J Public Health 2016;26:282-9.

มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มที่จะรับประทานแคลเซียมมากขึ้น

img_2189

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรับประทานอาหารของมารดาระหว่างการให้นมบุตรในปัจจุบันมีมากขึ้น มารดาส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยหวังว่าคุณค่าของอาหารนั้นจะส่งผ่านไปที่ลูก ซึ่งความจริงก็มักเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น แคลเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในนมแม่ ในมารดาคนไทยที่ให้นมบุตรมีความต้องการวันละ 800-1000 มิลลิกรัม แคลเซียมที่ได้จากอาหารโดยทั่วไปพบว่าได้รับราว 400 มิลลิกรัมต่อวัน จึงมักมีความจำเป็นต้องสำหรับมารดาที่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงหรือรับประทานแคลเซียมชนิดเม็ดเพื่อเสริมให้ได้ตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน มีการศึกษาพบว่ามารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการรับประทานแคลเซียมสูงกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึง 4 เท่า1 ซึ่งสิ่งนี้น่าจะแสดงถึงความใส่ใจในเรื่องสุขภาพและการรับประทานอาหารของมารดาที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้ถึงความจำเป็นของสารอาหารต่างๆ ในแต่ละชนิดแก่มารดาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและเลือกการรับประทานได้อย่างเหมาะสมยังคงมีความจำเป็น เพื่อให้เข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างภูมิคุ้มกันจากการให้ความรู้มารดาที่ทำให้สามารถเลือกปฏิบัติตัวได้อย่างสมเหตุสมผล

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhao J, Zhao Y, Binns CW, Lee AH. Increased Calcium Supplementation Postpartum Is Associated with Breastfeeding among Chinese Mothers: Finding from Two Prospective Cohort Studies. Nutrients 2016;8.

การสนับสนุนของครอบครัวส่งผลดีกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

img_2095

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? แน่นอนในปัจจุบัน มารดาทุกคนต้องการให้ลูกได้กินนมแม่ เนื่องจากมีการทราบถึงคุณประโยชน์ที่หลากหลายของการที่ลูกได้กินนมแม่ อย่างไรก็ดี การสนับสนุนของครอบครัวมีส่วนช่วยส่งเสริมมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 นอกจากนี้ มารดาที่มีแม่เคยเล่าเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ฟัง จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า2

? ? ? ? ? ?สำหรับประเทศไทย ในชนบทยังเป็นครอบครัวขยาย ปู่ย่าตายายซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกด้วย โดยความคิดเห็นของยายมีผลต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา3 แต่ในบางประเทศ ยายจะมีอิทธิพลต่อการให้น้ำหรือชาสมุนไพรในระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่4 เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่ย่าหรือยาย มักมีอิทธิพลต่อการให้อาหารเสริมอื่นนอกเหนือจากนมแม่ในช่วงหกเดือนแรก ซึ่งอาจเป็นคำแนะนำที่ได้จากประสบการณ์ดั้งเดิมของย่าหรือยายที่เคยเลี้ยงดูลูกอย่างนี้มาก่อน แต่ขนาดของปัญหา ยังขาดการวิจัยศึกษา อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้เรื่องความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ควรครอบคลุมถึงคนในครอบครัวและบุคคลที่มีอิทธิพลที่จะมีผลต่อการเลือกให้อาหารแก่ทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhu X, Liu L, Wang Y. Utilizing a Newly Designed Scale for Evaluating Family Support and Its Association with Exclusive Breastfeeding. Breastfeed Med 2016.
  2. Ekstrom A, Widstrom AM, Nissen E. Breastfeeding support from partners and grandmothers: perceptions of Swedish women. Birth 2003;30:261-6.
  3. Odom EC, Li R, Scanlon KS, Perrine CG, Grummer-Strawn L. Association of Family and Health Care Provider Opinion on Infant Feeding with Mother’s Breastfeeding Decision. J Acad Nutr Diet 2014;114:1203-7.
  4. Giugliani ERJ, do Esp?rito Santo LC, de Oliveira LD, Aerts D. Intake of water, herbal teas and non-breast milks during the first month of life: Associated factors and impact on breastfeeding duration. Early Human Development 2008;84:305-10.

ปัจจัยทางสังคมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

img_2195

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนรวมทั้งปัจจัยทางด้านสังคม ได้แก่ อายุมารดาที่ตั้งครรภ์ การศึกษา การแต่งงานหรือการอยู่กับคู่ครอง โดยมารดาที่มีอายุน้อย การศึกษาของมารดาที่ต่ำกว่าระดับมัธยมปลาย การที่มารดาไม่ได้แต่งงานหรือไม่ได้อยู่กับคู่ครองมีแนวโน้มที่จะเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและมีระยะเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนน้อยกว่า ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยเรื่องการศึกษาเป็นปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนมากที่สุด1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ใส่ใจกับข้อมูลเบื้องต้นของมารดาที่มีความเสี่ยง และให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ติดตามและดูแลมารดาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด น่าจะช่วยเพิ่มการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhu Y, Hernandez LM, Mueller P, Dong Y, Hirschfeld S, Forman MR. Predictive Models for Characterizing Disparities in Exclusive Breastfeeding Performance in a Multi-ethnic Population in the US. Matern Child Health J 2016;20:398-407.