คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การแพทย์ทางเลือกช่วยส่งเสริมนมแม่

IMG_1696

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การเลือกการดูแลรักษาด้วยการแพทย์สนับสนุน (complementary medicine) หรือการแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) มีเพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย แนวโน้มของกระแสการดูแลด้วยการใช้การแพทย์ผสมผสานที่ใช้ทั้งศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับการใช้สมุนไพร การผ่อนคลาย ก็มีมากขึ้น ร่วมกับมีการใช้การแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ให้เป็นทางเลือกในการดูแลรักษาก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน มีการศึกษาว่า การใช้การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือกช่วยในการกระตุ้นนมแม่ในมารดาที่คลอดใกล้ครบกำหนดหรือเพิ่งเริ่มครบกำหนดว่ามีความปลอดภัยและอาจช่วยกระตุ้นนมแม่ได้

? ? ? ? ? ? ? สำหรับสมุนไพรไทย ได้แก่ ขิง ก็พบว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่า โดยพบว่าสามารถช่วยกระตุ้นนมแม่ได้ในระยะแรกหลังคลอดได้1 นอกจากนี้ การประคบเต้านมด้วยลูกประคบ การนวดเต้านมและ/หรือการบีบน้ำนมด้วยมือยังช่วยในการลดการตึงคัดเต้านมได้2 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลยการให้ความสนใจในศาสตร์ของการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก ที่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือมารดาให้สามารถให้นมแม่ได้ และควรส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ในศาสตร์เหล่านี้เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Paritakul P, Ruangrongmorakot K, Laosooksathit W, Suksamarnwong M, Puapornpong P. The Effect of Ginger on Breast Milk Volume in the Early Postpartum Period: A Randomized, Double-Blind Controlled Trial. Breastfeed Med 2016;11:361-5.
  2. Witt AM, Bolman M, Kredit S. Mothers Value and Utilize Early Outpatient Education on Breast Massage and Hand Expression in Their Self-Management of Engorgement. Breastfeed Med 2016;11:433-9.

 

มารดารู้สึกไม่ดีที่ต้องให้ลูกกินนมผง

img_2125

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การที่ทารกได้กินนมแม่ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างกว้างขวาง และเป็นกระแสสังคมที่รับทราบอย่างทั่วกันถึงคุณค่าของนมแม่ มีการศึกษาถึงความรู้สึกของมารดาที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก พบว่า มารดาที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกรู้สึกผิด ไม่พึงพอใจ และเป็นตราบาปติดตัวที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมารดา1 ดังนั้น การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรควรมีความเข้าใจถึงสิ่งนี้ การตำหนิมารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่ควรมองปัญหาให้รอบด้าน ช่วยสนับสนุนมารดาให้ได้ให้นมแม่บนพื้นฐานของบริบทของแต่ละคน และยอมรับหากมีความจำเป็นต้องใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งจะไม่เป็นการซ้ำเติมความรู้สึกผิดหรือไม่ดีที่มารดาไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Fallon V, Komninou S, Bennett KM, Halford JC, Harrold JA. The emotional and practical experiences of formula-feeding mothers. Matern Child Nutr 2016.

สิทธิของทารกที่จะได้กินนมแม่

img_2199

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? อย่างที่ทราบกันแล้วว่า นมแม่มีประโยชน์ต่อทั้งมารดาและทารก โดยการกินนมแม่ช่วยชีวิตทารกมากกว่า 800000 รายต่อปี และช่วยมารดาให้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม 20000 รายต่อปีทั่วโลก1 องค์การสหประชาชาติจึงถือว่าเป็นสิทธิของทารกที่จะมีชีวิต อยู่รอด และมีพัฒนาการที่ดีผ่านอาหารที่ทรงคุณค่าและมีความปลอดภัย คือ การได้รับนมแม่ ดังนั้น จึงเสนอว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องสิทธิของทารกนี้ โดยการให้การดูแลบริการให้ทารกได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สนับสนุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการให้นมแม่ รวมทั้งปกป้องการรับรู้ที่อาจบิดเบือนข้อเท็จจริงจากการตลาดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิการได้กินนมแม่เป็นสิทธิที่แท้จริงที่ได้ให้แก่ทารกแรกเกิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Victora CG, Bahl R, Barros AJ, et al. Breastfeeding in the 21st century: epidemiology, mechanisms, and lifelong effect. Lancet 2016;387:475-90.

25 ปีของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก

img_2120

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 25 ปีของการเริ่มนวัตกรรมของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งเวลา 25 ปีถือว่าเป็นเวลานานพอควร องค์การอนามัยโลกในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลและเป็นผู้นำในเรื่องสุขภาพได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนบทเรียนในการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดขึ้นได้ดี แต่ยังต้องการการสนับสนุนให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในประเทศไทย อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังต่ำคือร้อยละ 12 และปัจจัยเรื่องมารดากลับไปทำงานเป็นสาเหตุหลักในการที่มารดาไม่สามารถให้นมลูกอย่างเดียวจนครบหกเดือนได้1 ดังนั้น การส่งเสริมให้มีสวัสดิการทางสังคมที่ช่วยให้มารดาสามารถลาเลี้ยงดูบุตร ให้นมแม่อย่างเดียวจนถึงหกเดือนได้ โดยมีการจ่ายเงินเดือนหรือสวัสดิการสังคม จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของไทยได้ ซึ่งคิดเป็นการลงทุนทางด้านสุขภาพที่คุ้มค่าที่สุดในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.

อุปสรรคในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

img_2127

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีจะนำไปสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การที่มารดาสามารถเริ่มการให้นมลูกได้ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจึงมีความสำคัญ มีการศึกษาถึงสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเริ่มต้นการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การให้ความรู้แก่มารดาระหว่างฝากครรภ์ การผ่าตัดคลอด และการจัดให้มารดาและทารกอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมงในระยะหลังคลอด1 จะเห็นว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการขัดขวางการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นการให้บริการการดูแลการฝากครรภ์และการคลอดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การใส่ใจและให้ความสำคัญกับการจัดบริการการให้ความรู้มารดาในระหว่างฝากครรภ์ การหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และการจัดให้มารดาได้อยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมงหลังคลอด จะช่วยให้มารดาสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Bandeira de Sa NN, Gubert MB, Santos WD, Santos LM. Factors related to health services determine breastfeeding within one hour of birth in the Federal District of Brazil, 2011. Rev Bras Epidemiol 2016;19:509-24.