คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ภาพลักษณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสายตาผู้ชาย

img_2132

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ภาพลักษณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมุมมองของแต่ละคนจะสะท้อนทัศนคติที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย มีการศึกษาถึงภาพลักษณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของผู้ชายในสังคมอเมริกัน ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมีภาพลักษณ์ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำกัดอยู่ที่บ้านในที่ส่วนตัว ส่วนน้อยที่มีความเห็นว่าสามารถให้ในที่สาธารณะได้1 สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการสนับสนุนต่อมุมมองหรือทัศนคติของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่สาธารณะและการที่จะยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่แปลกหรือแตกต่าง ดังนั้น หากต้องการที่จะให้มารดาสามารถมีอิสระในการให้นมลูกในที่สาธารณะ ต้องมีการรณรงค์สร้างภาพลักษณ์หรือมุมมองของสังคมต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่จะช่วยสร้างค่านิยมที่ให้อิสระแก่มารดาที่จะให้นมลูกด้วยความสบายใจ ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะลดข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่มารดาต้องเผชิญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Magnusson BM, Thackeray CR, Van Wagenen SA, Davis SF, Richards R, Merrill RM. Perceptions of Public Breastfeeding Images and Their Association With Breastfeeding Knowledge and Attitudes Among an Internet Panel of Men Ages 21-44 in the United States. J Hum Lact 2017:890334416682002.

 

ร้านขายยาที่เป็นมิตรต่อนมแม่

IMG_1208

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?เราอาจทราบหรือรู้จักกันดีกับโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Baby friendly hospital ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการดูแลที่ส่งเสริมการคลอดที่มีความปลอดภัยของมารดาและการดูแลทารกที่คลอดให้มีคุณภาพ โดยจะรวมถึงการให้ทารกได้รับสารอาหารที่ดีและครบถ้วนหลังคลอดที่ได้แก่ การกินนมแม่ หลักเกณฑ์ในการประเมินการเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกในปัจจุบันจะรวมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เข้าไปด้วย ซึ่งสถานจะเป็นแกนหลักสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดากลับบ้านไปอยู่ในชุมชน เมื่อเจ็บป่วย การซื้อยาส่วนใหญ่ยังมีการซื้อยารับประทานกันเองจากร้านขายยา โดยหากปราศจากการไถ่ถามของเภสัชกร มารดาที่ให้นมบุตรอาจได้รับยาที่มีผลต่อการให้นมลูก โดยอาจทำให้น้ำนมลดลง ขณะที่ยาบางตัวอาจผ่านไปยังทารก ทำให้เกิดผลเสียต่อทารกทั้งผลทางตรง หรือผลทางอ้อมที่ทำให้ทารกง่วง ซึม หงุดหงิด หรือไม่ยอมดูดนม ดังนั้น การสร้างระบบร้านขายยาที่เป็นมิตรต่อทารกหรือเป็นมิตรต่อนมแม่(breastfeeding friendly pharmacies)1 ก็เป็นสิ่งที่ควรสร้างระบบให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีของมารดาและทารกที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Llewellyn R, Berger S, Carty S, Randall P, Jahnke K, Thompson L. Breastfeeding friendly pharmacies: a setting with potential. Aust N Z J Public Health 2017.

การกระตุ้นและชักจูงให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3659

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? มารดาแต่ละคน อาจมีความคิดเห็นในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติและการปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่หลากหลายที่ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อายุของมารดา ลำดับครรภ์ วิธีการคลอดบุตร รวมทั้งการให้ความรู้กับมารดาในระหว่างการฝากครรภ์ การคลอด และหลังคลอด เป็นต้น ดังนั้น หากมีบุคลากรจำกัด การกระตุ้นหรือชักจูงให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาจพิจารณาเลือกกระตุ้นหรือชักจูงมารดาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ให้ลูกกินนมแม่หรือหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว ซึ่งมักจะได้แก่ มารดาที่อายุน้อย ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมหรือต่ำกว่า และมารดาที่ผ่าตัดคลอด1 โดยในกลุ่มเหล่านี้ การจัดการอบรมให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์จะช่วยชักจูงให้มารดามีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Lange A, Nautsch A, Weitmann K, Ittermann T, Heckmann M. Breastfeeding motivation in Pomerania: Survey of neonates in Pomerania (SNiP-Study). Int Breastfeed J 2016;12:3.

การดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_1221

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? อาการเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในสตรีให้นมบุตร ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ เต้านมอักเสบ และฝีที่เต้านม อุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมขึ้นอยู่กับนิยามของการเจ็บหัวนมและช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล แต่หากยึดนิยามของการเจ็บหัวนมที่บ่อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งของการให้นมในแต่ละวัน และนานจนถึงปลายสัปดาห์แรก จะพบอุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมในประเทศไทยราวร้อยละ 10 สำหรับสาเหตุของการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70 เกิดจากการจัดท่าและเข้าเต้าไม่เหมาะสม พบประมาณร้อยละ 20 เกิดจากภาวะลิ้นติดของทารก ที่เหลือเกิดจากภาวะอื่น ๆ ได้แก่ น้ำนมมากเกินไป การเอาใจใส่และให้การดูแลแก้ไขการเจ็บหัวนมตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกหลังคลอดจะแก้ไขปัญหาการเจ็บหัวนมของมารดาได้ส่วนใหญ่ภายใน 1 สัปดาห์และทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์1 ซึ่งหลังจากการแก้ไขแล้ว ไม่พบความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างกลุ่มที่เคยมีอาการเจ็บหัวนมและกลุ่มที่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม ซึ่งก็คือ การเน้นการเอาใจใส่ดูแลปัญหาของมารดาและทารกตั้งแต่สัปดาห์แรก ยังถือว่าเป็นสัปดาห์ทองในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017.

 

การใช้เครื่องปั๊มนมอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก

IMG_3470

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การให้ลูกดูดนมจากเต้านมโดยตรงจะส่งผลดีที่สุด ขณะที่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องปั๊มนมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเหตุและผลแล้ว การใช้เครื่องปั๊มนมควรใช้เมื่อไม่สามารถให้ลูกดูดนมโดยตรงจากเต้านมได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่มารดาต้องออกไปทำงาน หรือต้องแยกจากทารก1 ในกลุ่มนี้ การเก็บน้ำนมเพื่อมาให้แก่ทารกเทียบกับการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกน่าจะเป็นประโยชน์กว่า แต่หากมีการใช้ตามค่านิยม ก็อาจไม่เกิดประโยชน์ ดังจะเห็นว่า มีการศึกษาการใช้เครื่องปั๊มนมซึ่งพบว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหนึ่งเดือนถึงสามเดือนครึ่ง2 ซึ่งอยู่ในระยะแรก หากมารดาอยู่กับทารกอยู่แล้ว ประโยชน์ของการปั๊มนมเก็บก็จะมีน้อย จึงควรเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามความจำเป็นและอย่างสมเหตุผล

เอกสารอ้างอิง

  1. Johns HM, Amir LH, McLachlan HL, Forster DA. Breast pump use amongst mothers of healthy term infants in Melbourne, Australia: A prospective cohort study. Midwifery 2016;33:82-9.
  2. Data from http://online.liebertpub.com/doi/pdfplus/10.1089/bfm.2016.0160 (accessed at March 19, 2017).