คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

รูปแบบการให้บริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3711

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

????????? การให้ความรู้ให้มารดาเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เมื่อมารดาตั้งครรภ์ในระหว่างการฝากครรภ์ควรมีการจัดระบบหรือรูปแบบการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก การให้คำปรึกษา หากทำได้ ควรจัดให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่มารดาต้องเผชิญในแต่ละระยะ และอาจต้องเพิ่มในมารดาบางคนที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันหรือมีลักษณะเฉพาะ การให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มมักให้ความรู้ในลักษณะทั่ว ๆ ไปไม่จำเพาะ ดังนั้นในมารดาที่มีความเสี่ยงที่เฉพาะ อาจต้องพิจารณาแยกให้คำปรึกษารายคน โดยการให้คำปรึกษาที่มารดาสามารถพูดคุยตอบโต้ซักถามผู้ให้คำปรึกษาได้ผลดีกว่าการเปิดสื่อวิดีโอ สำหรับช่วงเวลาที่ให้คำปรึกษาควรมีการจัดเป็นระยะทั้งก่อนและหลังคลอดราว 4-8 ครั้ง เพื่อให้มารดาได้รับความรู้ ฝึกทักษะหรือได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา1

เอกสารอ้างอิง

  1. McFadden A, Gavine A, Renfrew MJ, et al. Support for healthy breastfeeding mothers with healthy term babies. Cochrane Database Syst Rev 2017;2:CD001141.

 

การรับประทาน DHA ในระหว่างการตั้งครรภ์

IMG_3739

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

????????? มารดาต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์ในระหว่างการตั้งครรภ์โดยต้องมีความหลากหลาย ครบถ้วนและเพียงพอ ซึ่งจะเป็นประโยน์แก่ทารก เมื่อมารดารับประทานอาหารที่ดี ไม่มีภาวะขาดสารอาหาร ย่อมส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของทารก โดยทั่วไป ในมารดาที่ปกติ การแนะนำการรับประทานอาหาร จะแนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และแบ่งมื้อรับประทานอาหารให้บ่อยขึ้น โดยมีมื้ออาหารว่างระหว่างมื้ออาหารปกติ แต่การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อจะน้อยลง จะทำให้มารดารับประทานอาหารได้ดี ไม่แน่นท้อง การย่อยและการดูดซึมสารอาหารก็ทำได้ดีด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มในการแนะนำให้รับประทาน DHA และวิตามินดีในระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีข้อมูลว่า อาหารที่รับประทานโดยทั่วไปของมารดามีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารเหล่านี้ แต่หากมารดาไม่มีการขาดสารอาหาร การรับประทาน DHA อาจไม่มีส่วนช่วย ซึ่งมีการศึกษาเปรียบเทียบมารดาที่รับประทาน DHA เทียบกับยาหลอก พบว่าทารกไม่ได้มีไอคิวเฉลี่ยแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่มที่ศึกษาเมื่อทารกอายุ 7 ปี1 สำหรับในประเทศไทย มีข้อมูลว่า มารดามีความเสี่ยงในการขาดไอโอดีน ธาตุเหล็ก และมีแนวโน้มจะขาดวิตามินดีเช่นเดียวกัน เนื่องจากค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการใช้ครีมกันแดด และหลีกเลี่ยงการออกแดดหรือทำงานกลางแจ้งกันมากขึ้น การเสริมในส่วนที่ขาดน่าจะยังมีความจำเป็นขึ้นอยู่กับข้อมูลในแต่ละพื้นที่และแต่ละภาคของประเทศไทยด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Gould JF, Treyvaud K, Yelland LN, et al. Seven-Year Follow-up of Children Born to Women in a Randomized Trial of Prenatal DHA Supplementation. JAMA 2017;317:1173-5.

 

การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ของครรภ์แฝด

IMG_1480

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ โดยภาวะครรภ์แฝดทำให้มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้หลายอย่าง ได้แก่ อาการแพ้ที่อาจพบรุนแรงมากกว่า ท้องใหญ่มากกว่าทำให้มารดาอึดอัด พบภาวะเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด รกเกาะต่ำ ทารกน้ำหนักตัวน้อยได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการคลอด โดยพบว่าต้องมีการผ่าตัดทำคลอดสูงกว่าครรภ์ปกติ และหลังคลอด ยังพบความเสี่ยงในการตกเลือดหลังคลอดได้มากกว่าด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลและเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ในมารดาครรภ์แฝดมีความสำคัญและยังมีความจำเป็น แม้ว่ามีการศึกษาว่าอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดก็ตาม1 เนื่องจากการให้คำปรึกษา จะทำให้มารดาทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่พบมากกว่า ทำให้การเตรียมตัวเตรียมใจของมารดาทำได้ดีกว่า แม้ว่าหากเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ต้องแยกจากทารก คือ ทารกอาจจำเป็นต้องเข้าตู้อบและเลี้ยงดูอยู่ที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต อย่างน้อยการเตรียมพร้อมของมารดาก็ทำให้มารดาเผชิญหน้ากับภาวะแทรกซ้อนที่พบและมีความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความเข้าใจ ลดความเครียด และปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากภาวะแทรกซ้อนของครรภ์แฝดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mikami FC, de Lourdes Brizot M, Tase TH, Saccuman E, Vieira Francisco RP, Zugaib M. Effect of Prenatal Counseling on Breastfeeding Rates in Mothers of Twins. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2017.

 

การอยู่ในชุมชนชนบทอาจจะผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3515

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?สังคมเมืองกับสังคมในชนบทมีความแตกต่างกัน โดยในสังคมเมืองมักมีการแข่งขันกันมาก ค่าครองชีพสูง สตรีต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้น ทำงานทั้งในและนอกบ้าน โดยต้องมีส่วนในการรับผิดชอบในการช่วยหารายได้มากขึ้นและต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งมีผลทำให้ต้องแยกจากทารกและเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะที่สตรีที่อยู่ในชนบท มักทำงานอยู่กับบ้าน ทำอาชีพเกษตรกรรม หรือทำกิจการที่เป็นส่วนตัว ไม่ได้รับจ้างหรือเป็นลูกจ้างที่ต้องเข้าทำงานตามเวลาที่มีเวลาในการลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูกจำกัด ทำให้ขาดอิสระในการที่จะให้เวลาอยู่กับลูกและให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การใช้ชีวิตในชนบทที่มีลักษณะ slow life อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Mehta AR, Panneer S, Ghosh-Jerath S, Racine EF. Factors Associated With Extended Breastfeeding in India. J Hum Lact 2017;33:140-8.

นมแม่มีผลดีต่อทารกที่แพ้โปรตีนนมวัว

IMG_1663

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?มารดาบางคนอาจมีความสงสัยว่า หากทารกมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวจะกินนมแม่ได้หรือไม่ มีการศึกษการกินนมแม่อย่างเดียวของทารกที่มีอาการแพ้โปรตีนนมวัว สามารถกินได้ โดยการกินนมแม่อย่างเดียวจะช่วยลดและป้องกันการแพ้โปรตีนนมวัวได้1 ซึ่งสิ่งนี้ น่าจะบ่งบอกและชี้ชัดว่า นมแม่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้เลี้ยงดูทารกแรกเกิดมากที่สุด แม้ในทารกที่มีภูมิแพ้ นมแม่ก็ช่วยลดอาการและความรุนแรงลงได้ ดังนั้น ในทารกที่มีประวัติหรือความเสี่ยงที่จะเป็นภูมิแพ้ การที่มารดาเลือกที่จะให้ลูกได้กินนมแม่จึงเสมือนการให้วัคซีนที่ป้องกันและลดความเสี่ยงที่เกิดภูมิแพ้ในลูก นอกจากจะให้สารอาหารที่ครบถ้วน ความเฉลียวฉลาด และพัฒนาการที่ดีที่สุดแล้ว นั่นคือ การหวนกลับสู่ธรรมชาติที่ลูกก็ควรจะกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่องนานเท่านานเท่าที่พึงพอใจ ตามพื้นฐานของมนุษย์ที่ยังเป็นประเภทหนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เอกสารอ้างอิง

  1. Manti S, Lougaris V, Cuppari C, et al. Breastfeeding and IL-10 levels in children affected by cow’s milk protein allergy: A restrospective study. Immunobiology 2017;222:358-62.