คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ทัศนคติที่ดีต่อการให้นมลูกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการที่มารดาจะให้นมลูกนั้น ความรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่นั้นมีความสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องมีตามมาคือ ทัศนคติที่ดีต่อการให้นมลูก ซึ่งจะปัจจัยที่จะทำนายผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาที่มีทัศนคติที่ดีต่อการให้นมลูกจะมีอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-301 ดังนั้น ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรให้ความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการตระหนักถึงความสำคัญของนมแม่ ร่วมกับการให้คำปรึกษาที่เป็นมืออาชีพที่จะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการให้นมลูก โดยเมื่อสร้างให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อการปฏิบัติในการเริ่มต้นและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Amiel Castro RT, Glover V, Ehlert U, O’Connor TG. Antenatal psychological and socioeconomic predictors of breastfeeding in a large community sample. Early Hum Dev 2017;110:50-6.

สื่อในสังคมมีบทบาทต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สื่อที่มีบทบาทในสังคมมีหลายสื่อที่ตอบสนองต่อคนในแต่ละยุคสมัย คนในยุค Generation X มักติดกับสื่อที่ออกทางทีวี แต่คนในยุค Generation Y มักติดกับการใช้หรือเสพสื่อจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีการศึกษาพบว่า สื่อต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมของคนในสังคมรวมทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย แม้ว่าสื่อจะออกมาในแนวทางส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ก็พบว่าจำนวนสื่อที่พูดถึงอุปสรรคต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมากกว่าสื่อที่พูดเรื่องความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งก็เป็นจะเป็นเรื่องที่น่าวิตกอยู่เหมือนกันว่า การสื่อสารไปในแนวทางนี้อาจมีผลลบต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การรณรงค์การพูดถึงเรื่องดีดีและความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรได้รับการปลุกกระแส เพื่อช่วยในมุมมองที่ดีและส่งเสริมความตั้งใจของมารดาและครอบครัวที่จะมีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Hitt R, Zhuang J, Anderson J. Media Presentation of Breastfeeding Beliefs in Newspapers. Health Commun 2017:1-9.

พบซิกาไวรัสในน้ำนม แต่การติดเชื้อผ่านการให้นมแม่ไม่ยืนยัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? โรคที่เกิดจากซิกาไวรัสในสตรีตั้งครรภ์อาจเป็นทำให้เกิดความผิดปกติในสมองและทารกมีศีรษะเล็กได้ พาหะของโรคคือยุง แม้ว่าในประเทศไทยไม่พบระบาด แต่ปัจจุบันการเดินทางเคลื่อนย้ายคนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งมีสูง ดังนั้น ควรจะมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ด้วย ตัวไวรัสซิกาในมารดาที่ติดเชื้อ สามารถตรวจพบเชื้อในสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของมารดาได้รวมทั้งในนมแม่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันว่า ทารกของมารดาที่ติดเชื้อซิกาไวรัสจะติดเชื้อจากการกินนมแม่ เพราะการติดเชื้อของทารกอาจเกิดในครรภ์หรือระหว่างการคลอดจากการผ่านสารคัดหลั่งในช่องคลอดที่มีเชื้อซิกาก็เป็นได้1 การติดตามข้อมูลใหม่ ๆ จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถให้คำแนะนำมารดาและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Colt S, Garcia-Casal MN, Pena-Rosas JP, et al. Transmission of Zika virus through breast milk and other breastfeeding-related bodily-fluids: A systematic review. PLoS Negl Trop Dis 2017;11:e0005528.

มารดาอาจรู้สึกหงุดหงิดใจเมื่อต้องงดอาหารบางประเภทระหว่างให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ค่านิยมและวัฒนธรรมมีผลต่อการรับประทานอาหารของมารดาระหว่างการให้นมลูก ซึ่งมารดาส่วนใหญ่จะถูกบังคับให้งดการรับประทานอาหารบางชนิดที่มารดาคุ้นเคยหรือชอบที่จะรับประทานก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ โดยมีการศึกษาในประเทศเกาหลีใต้พบว่า ระหว่างการให้นมลูก อาหารที่มารดาถูกบอกให้งดมากที่สุด ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารรสเผ็ด อาหารดิบ และอาหารที่เย็น ซึ่งมารดารู้สึกไม่สะดวกใจที่ต้องหยุดหรืองดอาหารเหล่านี้ และการงดนี้ไม่สัมพันธ์กับว่ามารดาจะได้รับความรู้เรื่องอาหารหรือไม่1 หากพิจารณาดูอาหารที่มารดางด ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นและสามารถให้ได้ระหว่างการให้นมลูก สำหรับในประเทศไทย ค่านิยมในการงดอาหารรสจัดหรือรสเผ็ดก็ยังพบอยู่ แต่ยังขาดการศึกษาถึงขนาดปัญหา ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมควรได้รับการส่งเสริม เพื่อการรณรงค์สื่อค่านิยมที่ดีและเหมาะสมสำหรับอาหารที่ดีในคนไทยที่จะให้นมลูก

เอกสารอ้างอิง

  1. Jeong G, Park SW, Lee YK, Ko SY, Shin SM. Maternal food restrictions during breastfeeding. Korean J Pediatr 2017;60:70-6.

หากทารกอยู่ที่อกแม่ ทารกจะดูดนมได้ด้วยตนเอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยทั่วไปลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีสัญชาตญาณในการที่จะสามารถเข้าไปหาและดูดนมแม่ได้เอง สัญชาตญาณเหล่านี้จะช่วยในการอยู่รอดของลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน แต่กลไกทางด้านสังคมที่เปลี่ยนแปลงมีผลทำให้เกิดช่องว่างในการแยกทารกออกจากมารดาหลังคลอด ซึ่งจะมีผลทำให้ลดสัญชาตญาณในการดูดนมที่ช่วยในการอยู่รอดเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น การที่จะคงสัญชาตญาณนี้ควรวางทารกไว้ที่อกของมารดาในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สัญชาตญาณการอยู่รอดนี้ทำงาน ทารกจะปรับตัวและใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงที่คืบคลาน เคลื่อนเข้าหาเต้านม และดูดนมได้ด้วยตนเอง หากให้เวลาและสัมผัสที่อยู่บนอกมารดาโดยไม่มีการรบกวน กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ด้วยการส่งเสริมการกระตุ้นสัญชาตญาณพื้นฐานเบื้องต้นของสิ่งมีชีวิตที่ขึ้นชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์ เพื่อการอยู่รอดและมีพัฒนาการที่ดีสืบไป