คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การใส่ห่วงอนามัยแบบมีฮอร์โมนตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การใส่ห่วงอนามัยสามารถทำได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดก่อนมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านโดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมักจะแนะนำให้มารดาใส่ห่วงเลยในกรณีที่ต้องการการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ยาวนาน 5-10 ปี โดยตัวอย่างที่มีการเลือกใช้ห่วงอนามัยตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ได้แก่ มารดาวัยรุ่นที่การติดตามการรักษาทำได้ยากลำบากหรือขาดการร่วมมือในการมาติดตามการรักษา อีกทางเลือกหนึ่งของวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมในกรณีนี้คือ การใส่ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดเช่นกัน โดยทั้งสองวิธีไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การใส่ห่วงอนามัยตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้น อาจพบการหลุดของห่วงบ่อยมากกว่า นอกจากนี้ การใช้ห่วงอนามัยแบบที่มีฮอร์โมนก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันโดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Tromp I, Kiefte-de Jong J, Raat H, et al. Breastfeeding and the risk of respiratory tract infections after infancy: The Generation R Study. PLoS One 2017;12:e0172763.

ทารกที่ผ่าตัดคลอดมักเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า ในกระบวนการการผ่าตัดคลอด บุคลากรทางการแพทย์มักจะวิตกกังวลในการให้การดูแลมารดาและทารกมากกว่าการคลอดปกติ เนื่องจากโอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดคลอดนั้นสูงกว่า ทำให้โอกาสที่ทารกจะได้อยู่ใกล้ชิดกับมารดาตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดน้อยลง ทารกมักถูกแยกจากมารดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมารดาที่ต้องดมยาสลบด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งหลังการผ่าตัดมารดาอาจยังรู้สึกตัวไม่ดี การเริ่มกระตุ้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและการให้ทารกได้เริ่มดูดนมจะทำได้ช้า ซึ่งเป็นผลทำให้การกระตุ้นสายสัมพันธ์ของมารดาและทารกเริ่มได้ช้าไปด้วย การมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการเริ่มต้นที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์จะมีส่วนที่จะช่วยในการวางแผนกระบวนช่วยเหลือให้การเริ่มต้นสายสัมพันธ์ทำได้แม้มารดาผ่าตัดคลอด หากมารดาได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาเข้าไขสันหลัง มารดาจะรู้ตัวดี การให้มารดาโอบกอดทารกตั้งแต่ในระยะแรกสามารถทำได้เหมือนมารดาที่คลอดปกติ แต่หากมารดาต้องใส่ท่อช่วยหายใจในการดมยาสลบ ทางเลือกอาจทำการให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของทารกบนอกมารดาภายใต้การเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด หรืออาจใช้ทางเลือกโดยให้บิดามีส่วนร่วม ช่วยดูแล หรือช่วยโอบกอดเนื้อแนบเนื้อก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และช่วยกระตุ้นสายสัมพันธ์เช่นกัน

 

น้ำนมเริ่มสร้างตั้งแต่เมื่อไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? น้ำนมจะเริ่มสร้างตั้งแต่ในระยะที่มารดาตั้งครรภ์ในช่วงราว 16-20 สัปดาห์ โดยจะมีการขยายของต่อมน้ำนม ซึ่งมารดาจะรู้สึกว่าเต้านมขยายและตึงคัดมากขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สอง การที่มารดารู้สึกใส่ชุดชั้นในขนาดเดิมแล้วรู้สึกอืดอัด ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการขยายของเต้านมด้วย เต้านมของมารดายังคงสร้างน้ำนมและขยายขนาดไปจนถึงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีการขยายขนาดของเต้านมราว 200-500 กรัม ในมารดาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมเลยพบได้น้อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูพัฒนาการของเต้านม เพื่อการวางแผนในการแก้ไขและเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมลูกเมื่อถึงระยะหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม;

การตรวจเต้านมระหว่างการฝากครรภ์ จำเป็นหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระหว่างการฝากครรภ์ โดยทั่วไปจะมีการตรวจเต้านม ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คือ ตรวจดูพัฒนาการของเต้านมว่ามีการพัฒนาการที่เหมาะสมหรือไม่ มีก้อนหรือความผิดปกติใด ๆ ที่เต้านมหรือหัวนมไหม ซึ่งหากมีความผิดปกติ บุคลากรทางการแพทย์จะได้วางแผนการดูแลรักษาตั้งแต่ในระยะแรก เช่น การตรวจพบก้อนที่สงสัยมะเร็งเต้านมที่แม้จะพบได้น้อย แต่หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ผลการรักษาก็จะมีพยากรณ์โรคที่ดี สำหรับการตรวจดูความยาวหัวนมนั้น แม้จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ความยาวหัวนมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่ามารดาจะให้นมได้หรือไม่ ดังนั้น หากตรวจพบความยาวของหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือหัวนมบุ๋ม การให้คำปรึกษาแก่มารดาที่เหมาะสมว่า การดูดนมแม่นั้น ทารกจะอมหัวนมและลานนมไปด้วยขณะดูดนม สิ่งที่ตรวจพบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นตัวตัดสินใจว่าลูกจะกินนมแม่ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องอธิบายให้มารดาเข้าใจเสมอ เพื่อลดความวิตกกังวลของมารดาในระยะฝากครรภ์และหลังคลอดที่อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม;

 

ปัญหาที่ยังคงพบในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ปัญหาที่ยังคงพบที่เป็นสาเหตุในการหยุดการให้นมแม่ก่อนเวลาที่ควรจะเป็น ในส่วนของมารดาและทารก ได้แก่ การเจ็บเต้านมและหัวนม ความเจ็บป่วยของมารดาและทารก การรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะให้นมในที่สาธารณะ และปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่งที่พบมากขึ้นในยุคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน คือ ปัญหาการกลับไปทำงานของมารดา

? ? ? ? ? ?สำหรับปัญหาในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่พบ ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในการให้คำปรึกษากับมารดาและครอบครัว บุคลากรที่ทำงานอยู่ขาดความมั่นใจในการให้การดูแลส่งเสริมมารดาและทารกในการกินนมแม่ทั้งในทารกปกติและในทารกที่ป่วย การขาดการสร้างเครือข่ายที่จะส่งต่อหรือดูแลความต่อเนื่องในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

? ? ? ? ? ? ?นอกจากนี้ การขาดการสนับสนุนจากสามีและคนในครอบครัว การสนับสนุนเชิงนโยบายของสถานประกอบการ สังคม และรัฐบาลที่ยังไม่สามารถจะให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ความหวังในอนาคตที่ยังคงต้องการการสนับสนุนเพื่อการปกป้องนมแม่ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ที่จะช่วยสร้างทารกที่มีคุณภาพที่นำไปสู่ผลประโยชน์ที่ดีที่จะได้จากการที่มีนโยบาย ?มีลูกเพื่อชาติ?

เอกสารอ้างอิง

  1. Bellu R, Condo M. Breastfeeding promotion: evidence and problems. Pediatr Med Chir 2017;39:156.

?