คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การสื่อสารที่เข้าถึงมารดาช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันการสื่อสารอยู่ในยุคไร้พรมแดน แต่การนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์เพื่อการใช้ประโยชน์ยังมีจำกัด แม้ว่าจะเริ่มมีการนำมาใช้บ้างในทางการดูแลสุขภาพและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตัวอย่างของการนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การสร้างกลุ่มให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ผ่าน line group การสร้างเว็บเพจ หรือเว็บไซด์ที่เผยแพร่ความรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเผยแพร่วิดีโอสอนการเข้าเต้า การสื่อสารด้วยข้อความโต้ตอบระหว่างมารดากับผู้ที่ให้คำปรึกษา1 รูปแบบที่หลากหลายจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อ มีความพอเหมาะ ถูกจริต และมารดาสามารถเข้าถึงได้ด้วยความสะดวกและสบายใจ ดังนั้น สื่อที่จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรมีการผลิตให้มีความหลากหลายเพื่อรองรับการเข้าถึงของมารดาในแต่ละกลุ่มอาชีพ แต่ละกลุ่มการศึกษา และแต่ละกลุ่มความชอบของใช้ เพื่อประโยชน์ที่ได้จากการนำมาประยุกต์ใช้จะมีสูงสุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Martinez-Brockman JL, Harari N, Segura-Perez S, Goeschel L, Bozzi V, Perez-Escamilla R. Impact of the Lactation Advice Through Texting Can Help (LATCH) Trial on Time to First Contact and Exclusive Breastfeeding among WIC Participants. J Nutr Educ Behav 2018;50:33-42 e1.

ระบบพี่เลี้ยงนมแม่ช่วยการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ตัวชี้วัดที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ควรมีการเก็บรวบรวมและนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ผลได้แก่ การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ตัวชี้วัดนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจของมารดาในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอีกส่วนสะท้อนถึงการดูแลและเอาใจใส่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลที่มารดาให้การคลอดบุตรและเลือกไว้ว่าน่าจะเป็นโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงระบบการให้คำปรึกษาที่มีพี่เลี้ยงนมแม่ (peer counselling) ในเรื่องการช่วยการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า การมีพี่เลี้ยงนมแม่ที่คอยช่วยให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวจะช่วยให้อัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นร้อยละ 66 นอกจากนี้ระบบพี่เลี้ยงนมแม่ยังช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนหนึ่งปีได้ถึงร้อยละ 551 ดังนั้น การจัดรูปแบบพี่เลี้ยงนมแม่จะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลมีความพร้อมและสามารถจัดระบบพี่เลี้ยงนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. McCoy MB, Geppert J, Dech L, Richardson M. Associations Between Peer Counseling and Breastfeeding Initiation and Duration: An Analysis of Minnesota Participants in the Special Supplemental Nutrition Program for Women, Infants, and Children (WIC). Matern Child Health J 2018;22:71-81.

ความเข้าใจว่าน้ำนมแม่ไม่เพียงพอยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในมารดาที่มีความสนใจและตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ความวิตกกังวลที่ทำให้มารดาไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนส่วนใหญ่มักเกิดจากความเข้าใจว่านมแม่มีไม่เพียงพอ1 ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าน้ำนมของตนเองไม่เพียงพอเป็นความเข้าใจที่ผิด อาจเป็นจากการที่มารดาปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนมได้น้อย หรือ ทารกที่กินนมแม่ในช่วงใดช่วงหนึ่ง หากทารกร้องกวนบ่อย ๆ มารดาอาจคิดไปก่อนว่าน้ำนมตนเองไม่เพียงพอ และให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพิ่มเติมไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น การที่มารดาพอจะประเมินว่าทารกได้นมเพียงพอได้ด้วยตนเอง หรือการที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถบ่งบอกถึงความเพียงพอของน้ำนมและอธิบายให้มารดาเข้าใจและมั่นใจ จึงเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และอาจช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนระยะเวลาหกเดือนได้

??????????? สำหรับการสังเกตว่าน้ำนมมารดาเพียงพอเบื้องต้น อาจทำได้โดย การสังเกตว่า หากทารกดูดนมจากเต้านมด้านหนึ่ง จะมีน้ำนมจากเต้านมอีกข้างไหล หรือหากบีบน้ำนมด้วยมือแล้วน้ำนมไหลได้ดีหรือพุ่ง หรือจะดูจากทารกปัสสาวะราว 6 ครั้งต่อวันสีเหลืองใสไม่เข้ม และอุจจาระราว 2 ครั้งต่อวัน หรืออาจสังเกตจากหลังจากทารกดูดนมไปแล้วหลับไปนานพอควรคือ 2-3 ชั่วโมง (แต่อย่างไรก็ตาม ทารกอาจมีการร้องกินนมตลอดหรือบ่อยกว่าปกติได้ในช่วงที่ทารกมีการยืดตัว ซึ่งจะเกิดเมื่อทารกอายุใกล้ครบหนึ่งเดือน สองเดือนหรือสามเดือน และการที่ทารกร้องกวนบ่อย ก่อนอื่นต้องตรวจสอบว่าทารกมีอาการใดที่ผิดปกติหรือไม่สบายตัวจากสาเหตุใด ๆ ก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะสรุปว่าทารกหิวนมหรือกินนมไม่พอ) นอกจากนี้ การประเมินว่าทารกน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าการกินนมของทารกเพียงพอ โดยดูเทียบกับกราฟติดตามการเจริญเติบโตของทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Nguyen PTK, Tran HT, Thai TTT, Foster K, Roberts CL, Marais BJ. Factors associated with breastfeeding intent among mothers of newborn babies in Da Nang, Viet Nam. Int Breastfeed J 2018;13:2.

 

เครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น บุคลากรทางการแพทย์จะเป็นเหมือนผู้นำที่ชักจูงและชี้ให้มารดาและครอบครัวรวมทั้งคนในสังคมตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของนมแม่ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งแรกที่จะบ่งบอกและส่งผลต่อความตั้งใจและการตัดสินใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ ขณะที่มารดาคลอดบุตร เมื่อคลอดบุตรในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว มารดาจะได้โอกาสที่จะเรียนรู้และรับรู้ถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่จะส่งเสริม สนับสนุน และทำให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยตัวชี้วัดแรกที่สุดก็คือ การที่มารดาได้เริ่มให้นมลูกในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ตัวชี้วัดเหล่านี้จะได้รับการติดตามในระบบโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อมาเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะขึ้นอยู่กับมารดาและครอบครัวแล้ว ระบบการติดตามและเครือข่ายที่จะช่วยดูแล แก้ไขปัญหา และให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมมีความสำคัญอย่างมาก1 และจะส่งผลต่อตัวชี้วัดถัดไป คือ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ซึ่งตัวเลขนี้ในประเทศไทยยังคงมีอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือร้อยละ 50 ดังนั้น นอกจากจะสนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีนโยบายที่เอื้อต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การพัฒนาเครือข่ายที่จะทำให้การเข้าถึงการแก้ไขปัญหาของมารดาและครอบครัวเป็นสิ่งที่ควรนำมาคิด วางแผน และพัฒนาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งที่จะเอื้อให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ

เอกสารอ้างอิง

  1. Okafor AE, Agwu PC, Okoye UO, Uche OA, Oyeoku EK. Factors Associated with Exclusive Breastfeeding Practice among Nursing Mothers in rural areas of Enugu State and its Implications for Social Work Practice in Nigeria. Soc Work Public Health 2018;33:140-8.

 

ระบบพี่เลี้ยงนมแม่ช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระบบพี่เลี้ยงที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีการจัดให้กับมารดาแต่ละคนมีประโยชน์และช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควร มีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดระบบพื่เลี้ยงที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ระบบพี่เลี้ยงช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหนึ่งเดือนแรกได้ถึงร้อยละ 55 และช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงเดือนที่สองถึงเดือนที่สิบสองได้ถึงร้อยละ 671 อย่างไรก็ตาม การจัดระบบพี่เลี้ยงที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะมีหลักฐานว่ามีประโยชน์ แต่ยังมีข้อจำกัดในการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยในการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพียงพอ ระบบงบประมาณที่จะสนับสนุนให้เกิดการจัดระบบพี่เลี้ยงที่มีความครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาพี่เลี้ยงให้มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การสร้างระบบพี่เลี้ยงที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงจำเป็นต้องมองให้เห็นถึง การสร้างระบบที่จะช่วยสร้าง พัฒนา และธำรงรักษาบุคลากรที่อยู่ในสาขาวิชาชีพนี้ให้คงอยู่ได้ มีความมั่นคงในวิชาชีพในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความยั่งยืนของระบบที่จะเอื้อต่อการพัฒนาตามพื้นฐานของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

เอกสารอ้างอิง

  1. McCoy MB, Geppert J, Dech L, Richardson M. Associations Between Peer Counseling and Breastfeeding Initiation and Duration: An Analysis of Minnesota Participants in the Special Supplemental Nutrition Program for Women, Infants, and Children (WIC). Matern Child Health J 2018;22:71-81.