คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ทารกที่กินนมแม่ลดความเสี่ยงต่อการถูกทิ้งหรือการล่วงละเมิดทางเพศ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ทารกที่กินนมแม่จากเต้าหากได้เริ่มต้นตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดและให้นมแม่เป็นเวลานานจะมีความผูกพันระหว่างมารดากับทารกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลไกของความผูกพันระหว่างมารดาและทารกจะผ่านการทำงานของฮอร์โมนหลักคือ ออกซิโทซิน ที่ถูกเรียกว่าเป็น ?ฮอร์โมนแห่งความรัก? มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการเลี้ยงดูทารกที่ไม่ดีพบว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสถูกทอดทิ้งน้อยกว่าร้อยละ 46 และเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดทางเพศน้อยกว่าร้อยละ 531 สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่ตอกย้ำถึงผลของความรักความผูกพันที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการกินนมแม่ ทำให้เกิดการดูแลเอาใจใส่ทารก รักและใส่ใจ ทะนุถนอม จนมีผลในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเลี้ยงดูทารกไม่ดี เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งและล่วงละเมิดทางเพศได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kremer KP, Kremer TR. Breastfeeding Is Associated with Decreased Childhood Maltreatment. Breastfeed Med 2018;13:18-22.

 

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันแล้วว่า การโอบกอดเนื้อแนบเนื้อมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ กระตุ้นการพัฒนาการของทารกผ่านระบบสัมผัสของมารดา ช่วยให้ทารกรู้สึกสงบ ปลอดภัย อบอุ่น ป้องกันอาการตัวเย็นของทารก ช่วยป้องกันการเกิดอาการน้ำตาลต่ำจากการตื่นตระหนกของทารก ทำให้มีการใช้พลังงานมากส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ นอกจากนี้ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบนอกมารดาหลังคลอดทันทียังช่วยในกระบวนการการปรับตัวของทารกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกและมีความพร้อมที่จะคืบคลานเข้าหาเต้านมมารดา เพื่อการเริ่มต้นการดูดกินนมแม่1 ซึ่งการเริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้น ส่งผลต่ออัตราการลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้น สถานพยาบาลควรมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมหรือทำให้เกิดการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อหลังคลอดทันทีและควรให้เวลากับกระบวนการนี้อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงเพื่อการกระตุ้นกระบวนการดังกล่าวเหล่านี้จะกระทำได้สมบูรณ์และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เอกสารอ้างอิง

  1. Lau Y, Tha PH, Ho-Lim SST, et al. An analysis of the effects of intrapartum factors, neonatal characteristics, and skin-to-skin contact on early breastfeeding initiation. Matern Child Nutr 2018;14.

 

การจัดรูปแบบการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ทารกที่คลอดก่อนกำหนดถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยทำให้มีความยากลำบากในการที่จะให้นมแม่แก่ทารก ความยากลำบากนี้มักขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ โดยหากทารกคลอดก่อนกำหนดมาก การพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการดูดและกินนมแม่อาจยังไม่สมบูรณ์ การเชื่อมโยงของระบบประสาทและฮอร์โมนอาจจะยังไม่ดีด้วย ดังนั้น การที่จะช่วยให้ทารกได้กินนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดจึงต้องมีกระบวนการการวางแผนที่เฉพาะสำหรับคู่มารดาและทารกแต่ละคู่ที่มีความพร้อมในการกินนมแม่จากเต้าที่แตกต่างกัน1 รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนในระบบอื่น ๆ ของทารกที่อาจทำให้ทารกบางคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งการวางแผนการให้นมแม่อาจเริ่มต้นด้วยการเพียงแต่มีการป้ายปากทารกด้วยนมแม่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จนกระทั่งทารกเริ่มกินได้ อาจจะมีการป้อนนมด้วยถ้วยก่อนจนทารกมีความพร้อมที่จะกินนมได้จากเต้าของมารดาโดยตรง ซึ่งการวางแผนในการให้นมแม่แก่ทารกควรมีการให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวให้มีความเข้าใจเพื่อจะได้ให้ความร่วมมือในการที่จะช่วยให้ทารกกินนมแม่ได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Lau C. Breastfeeding Challenges and the Preterm Mother-Infant Dyad: A Conceptual Model. Breastfeed Med 2018;13:8-17.

การใช้นมแม่ช่วยรักษาทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยที่แพ้นมวัว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นมผงที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่จะผลิตจากนมวัว ซึ่งแม้ส่วนมากทารกจะสามารถกินนมวัวที่ผลิตมาเป็นนมผงเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มีทารกส่วนหนึ่งที่มีอาการแพ้ ที่ไม่สามารถจะรับนมวัวได้ ซึ่งมักจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการดูแลรักษาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยมีความต้องการหรือความจำเป็นที่จะได้รับสารอาหารที่มีความจำเพาะที่จะช่วยในการเจริญเติบโตในทารกที่คลอดออกมาก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยและมีความไม่สมบูรณ์ของระบบย่อยและดูดซึมสารอาหาร การเติมสารที่จำเป็นลงไปในน้ำนมที่ใช้เลี้ยงทารกจึงต้องมีการเสริมสารอาหารลงไปอย่างเหมาะสมและตามความต้องการของทารกในแต่ละขนาดของน้ำหนักตัว แต่หากมารดาของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกมีน้ำหนักตัวน้อยสามารถกระตุ้นน้ำนม และมีการบีบเก็บน้ำนมให้ทารกได้ น้ำนมของมารดาที่คลอดทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น จะมีสัดส่วนของสารอาหารที่มีการปรับให้เหมาะสมกับทารกที่คลอดก่อนกำหนดอยู่แล้ว โดยมีความจำเป็นต้องเสริมสารอาหารบางชนิดอยู่บ้าง แต่ก็มีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับการใช้นมผงที่ต้องเสริมสารอาหารที่จะทำให้เกิดความเหมาะสมสำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม บางกรณีมารดาไม่สามารถกระตุ้นเก็บน้ำนมให้เพียงพอได้ การมีธนาคารนมแม่ที่ได้รับน้ำนมมาจากมารดาที่ผ่านการตรวจคัดกรองมาร่วมบริจาค การที่จะให้นมแม่จากธนาคารนมแม่นี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นน้ำนมของตัวแม่ที่คลอดเองที่มีความเหมาะสมสำหรับทารกที่สุด แต่นมแม่ที่เป็นนมของมนุษย์เช่นกันก็สามารถใช้ในการดูแลรักษาในทารกที่มีอาการแพ้หรือไม่สามารถรับนมวัวได้1 การพัฒนาหรือสร้างระบบการบริจาคในรูปแบบธนาคารนมแม่จึงควรมี ที่ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจและสื่อสารกับคนในสังคมให้ทราบถึงประโยชน์ในกรณีที่มีความจำเป็นดังตัวอย่างที่กล่าวไปแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Sandhu A, Fast S, Bonnar K, Baier RJ, Narvey M. Human-Based Human Milk Fortifier as Rescue Therapy in Very Low Birth Weight Infants Demonstrating Intolerance to Bovine-Based Human Milk Fortifier. Breastfeed Med 2017;12:570-3.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเด็กอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้ว่าค่านิยมของคนในสังคมจะมองดูว่าชอบ ?ทารกที่อ้วน? แต่ในความเป็นจริงด้านสุขภาพแล้ว ทารกที่อ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพสูงกว่าทารกปกติตั้งแต่แรกเกิด ทารกที่มารดามีน้ำหนักขึ้นระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าปกติจะมีความเสี่ยงที่จะมีทารกตัวโต และทารกตัวโตจะมีความเสี่ยงต่อการคลอดยาก การคลอดทารกที่ติดไหล่ และอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้น หลังคลอดแล้ว หากทารกยังเลือกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนในวัยเด็กและเสี่ยงต่อเบาหวานและโรคทางเมตาบอลิกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เมื่อทราบข้อมูลดังนี้แล้ว ทางที่จะบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอ้วนจากการที่มารดาน้ำหนักขึ้นมากกว่าปกติระหว่างการตั้งครรภ์คือ ?การให้ลูกได้กินนมแม่? ซึ่งจะสามารถลดหรือป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอ้วนได้1 และควรมีการเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องที่ ?ทารกอ้วนน่ารักและอยากให้ลูกอ้วน? ควรเปลี่ยนไปเป็นอยากให้ ?ทารกหรือลูกรูปร่างพอเหมาะและมีสุขภาพดี? มากกว่าที่จะอ้วนและเสี่ยงต่อโรคร้ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Liu JX, Xu X, Liu JH, Hardin JW, Li R. Association of maternal gestational weight gain with their offspring’s anthropometric outcomes at late infancy and 6 years old: mediating roles of birth weight and breastfeeding duration. Int J Obes (Lond) 2018;42:8-14.