คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่เกิดขึ้นได้เองจริงหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่นั้น แม้ว่าจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณในช่วงระยะเวลาหลังคลอด ในสมัยก่อน การคลอดเกิดขึ้นที่บ้าน หลังคลอดมารดาก็มักจะนำทารกมาอยู่ที่อกและกระตุ้นให้ลูกได้กินนม โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นด้วยความผ่อนคลายของมารดาหลังคลอดเมื่อผ่านพ้นระยะของการคลอดที่มีอาการเจ็บครรภ์อย่างต่อเนื่อง มีความถี่ของการเจ็บครรภ์และความรุนแรงของการเจ็บครรภ์ที่มีเพิ่มขึ้นตลอดนั้นได้ลดลงแล้ว ?มีการเปิดโอกาสให้ทารกได้อยู่ร่วมกับมารดาในช่วงเวลาหลังคลอดอย่างเต็มที่ที่จะส่งเสริมกระบวนการการปรับตัวของทารกที่จะคืบคลานจากอกแม่ไปสู่เต้านมในบรรยากาศที่สงบและไม่มีการรบกวนมารดาและทารกในระหว่างกระบวนการนี้ บรรยากาศหรือสถานการณ์เหล่านี้ได้สนับสนุนการดูดนมของทารกได้เองตามสัญชาตญาณ แต่ในปัจจุบัน การคลอดที่มีกระบวนการดูแลที่ต้องมีขั้นตอนในการตรวจทารกและดูแลมารดาที่หลากหลาย ส่งผลกระทบหรือรบกวนการเปิดโอกาสที่จะให้ทารกอยู่กับมารดาโดยสงบ ผ่อนคลาย และให้เวลาให้ทารกปรับตัวพร้อมในการดูดนมลดลง ดังนั้น การจัดการที่จะปรับหรือช่วยเหลือกลไกที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ทารกเริ่มกินนมแม่ได้จึงต้องมีการดูแล สรรสร้างความเข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ให้ทั้งมารดาและบุคลากรทางการแพทย์1 เพื่อที่จะการเริ่มต้นการกินนมแม่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พอเหมาะคือในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดโดยจัดความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่ให้มีลำดับความสำคัญมาเป็นลำดับแรกก่อนการให้การดูแลอื่น ๆ ที่สามารถเลื่อนการดูแลออกไปก่อนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Edwards ME, Jepson RG, McInnes RJ. Breastfeeding initiation: An in-depth qualitative analysis of the perspectives of women and midwives using Social Cognitive Theory. Midwifery 2018;57:8-17.

 

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดการเกิดอาการแพ้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้ลูกได้กินนมแม่ เมื่อนมแม่ได้ผ่านเข้าสู่ระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารในลำไส้ของทารกจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารกที่จะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อและควบคุมระบบการทำงานของภูมิคุ้นกันที่จะช่วยในการป้องกันโรคในระบบภูมิแพ้หรือความบกพร่องในระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านตนเอง ดังนั้น จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกทำงานเป็นปกติและมีความเข้มแข็งลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นผลเสียจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดตามผลในระยะยาว เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันอาจมีผลกระทบต่อปัจจัยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นพื้นฐานตั้งต้น มีความพยายามที่จะศึกษาถึงผลของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตย่างเข้าสู่วัยรุ่นพบว่า ทารกที่กินนมแม่เมื่อเจริญย่างเข้าสู่วัยรุ่นพบมีภาวะผิวหนังอักเสบน้อยกว่า แต่ผลในการลดการเกิดหอบหืดนั้นยังไม่ชัดเจน1 ต้องรอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมที่มากพอที่จะให้การสรุปถึงผลที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม จากพื้นฐานที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของทารกจากการกินนมแม่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและควรค่าแก่การลงทุนในด้านสุขภาพให้แก่ทารกแล้วอย่างไม่มีสิ่งใดที่ต้องลังเล

เอกสารอ้างอิง

  1. Flohr C, Henderson AJ, Kramer MS, et al. Effect of an Intervention to Promote Breastfeeding on Asthma, Lung Function, and Atopic Eczema at Age 16 Years: Follow-up of the PROBIT Randomized Trial. JAMA Pediatr 2018;172:e174064.

 

การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจมีผลดีต่อการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเครียดส่งผลเสียต่อการให้นมลูกโดยภาวะเครียดจะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่มีผลในการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินหรือฮอร์โมนแห่งความรักที่มีผลต่อการหลั่งไหลของน้ำนม ดังนั้น การฝึกให้มารดาผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ในระหว่างช่วงระยะเวลาหลังคลอดจึงเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเป็นผลดีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจของสตรีหลังคลอดมีการบำบัดได้หลากหลายวิธีในการแพทย์ทางเลือก ซึ่งไม่ว่าวิธีใด หากทำให้มารดารู้สึกผ่อนคลายของทั้งร่างกายหรือจิตใจก็น่าจะมีผลช่วยต่อการมาของน้ำนม การไหลของน้ำนม และเมื่อมารดามีจิตใจที่ผ่อนคลายและสบาย ปัญหาที่พบได้บ่อยที่เป็นปัญหาในการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควรคือ การรู้สึกว่าน้ำนมไม่เพียงพอ ก็จะพบน้อยลง ความคิดและการที่จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอื่น ๆ ของมารดาก็จะทำได้ดีขึ้น การบรรลุเป้าหมายของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาจึงพบสูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Fotiou C, Siahanidou T, Vlastarakos PV, Tavoulari EF, Chrousos G. The effect of body and mind stress-releasing techniques on the breastfeeding of full-term babies; a critical analysis of published interventional studies. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:98-105.

สตรีที่ไม่มีลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่สูงกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่สตรีไม่มีลูกนั้นมีการศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่สูงกว่าสตรีที่มีลูก1 เนื่องจากความเชื่อที่ว่า การที่สตรีมีการตกไข่ เมื่อมีไข่ตกแล้ว จะมีแผลที่รังไข่ ซึ่งจะมีการซ่อมแซมและรักษาตัวเองของรังไข่ แต่การเกิดการตกไข่ที่เกิดบ่อยกว่าในสตรีไม่มีบุตรรวมทั้งกรณีที่สตรีนั้นไม่ได้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ที่สูงกว่า ดังนั้น ประวัติการตั้งครรภ์หรือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นเสมือนสิ่งที่ป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าชนิดของมะเร็งที่พบที่สัมพันธ์กับประวัติการไม่เคยมีบุตร ได้แก่ มะเร็งรังไข่ชนิด clear cell และ endometrioid จากข้อมูลเหล่านี้ ทำให้การดูแลหรือคัดกรองสตรีในแต่ละคนของแพทย์อาจใช้ประวัติเหล่านี้ร่วมในการวางแผนการคัดกรองมะเร็งรังไข่ในสตรีได้อย่างเหมาะสมตามความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การดูแลมีความจำเพาะและเหมาะสมในการเลือกใช้วิธีคัดกรองมากกว่าการให้คำปรึกษาหรือแนะนำอย่างทั่ว ๆ ไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Gaitskell K, Green J, Pirie K, et al. Histological subtypes of ovarian cancer associated with parity and breastfeeding in the prospective Million Women Study. Int J Cancer 2018;142:281-9.

ความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีความสำคัญ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในมารดาหลังคลอด มารดาที่มีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นจะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานกว่ามารดาที่ขาดความเชื่อมั่นหรือขาดความมั่นใจ ซึ่งมีข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วในมารดาที่คลอดทารกครบกำหนด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการศึกษาถึงความเชื่อมั่นในตนเองของมารดาว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่คลอดทารกก่อนกำหนดในระยะที่ใกล้ครบกำหนด ผลที่พบก็เป็นเช่นเดียวกันกับการคลอดทารกที่ครบกำหนดคือ ส่งผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่า1 ความเชื่อมั่นในตนเองของมารดานั้นจะส่งผลต่อการปฏิบัติของมารดาที่เมื่อเผชิญกับอุปสรรคก็จะมีความพยายามที่จะฟันฝ่าจนผ่านพ้นไป ไม่หยุดหรือเลิกล้มโดยง่าย จึงทำให้โอกาสที่มารดาจะมีระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยาวนานกว่าเพิ่มขึ้น การที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเองของมารดานั้นประกอบไปด้วยการที่มารดามีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องเต้านม การสร้างน้ำนม การเข้าเต้าและการจัดท่าให้นมลูกและการให้มารดาได้ฝึกฝนปฏิบัติการให้นมแม่จนกระทั่งสร้างความมั่นใจให้แก่มารดาว่าให้นมลูกได้ ดังนั้นหากบุคลากรทางการแพทย์ต้องการจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นของมารดา สิ่งที่จำเป็นก็คือ การให้ความรู้พื้นฐานเรื่องเต้านม และฝึกปฏิบัติให้มารดาเข้าเต้าหรือจัดท่าให้นมลูกได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Gerhardsson E, Hildingsson I, Mattsson E, Funkquist EL. Prospective questionnaire study showed that higher self-efficacy predicted longer exclusive breastfeeding by the mothers of late preterm infants. Acta Paediatr 2018.