คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การสนับสนุนของเครือข่ายทางสังคมช่วยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ค่านิยม ความเชื่อและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาและครอบครัวส่วนใหญ่จึงมักจะทำตามความเชื่อและค่านิยมที่มีอยู่ในสังคมนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายทางสังคม ได้แก่ องค์กรหรือสมาคมอิสระ กลุ่มมารดาอาสา อาสาสมัครสาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีส่วนช่วยมารดาและครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาที่พบว่า หากเครือข่ายทางสังคมมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 ดังนั้น การสร้างให้เกิดเครือข่ายทางสังคมที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นแก่ระบบเครือข่ายทางสังคม จึงควรมีการสนับสนุนเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายทางสังคมเพื่อช่วยให้การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประสิทธิภาพที่ดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Okafor AE, Agwu PC, Okoye UO, Uche OA, Oyeoku EK. Factors Associated with Exclusive Breastfeeding Practice among Nursing Mothers in rural areas of Enugu State and its Implications for Social Work Practice in Nigeria. Soc Work Public Health 2018;33:140-8.

การหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดในระหว่างการคลอดช่วยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การเจ็บครรภ์คลอดเป็นสิ่งที่สร้างความกลัวและวิตกกังวลให้แก่มารดาโดยเฉพาะในมารดาครรภ์แรก เนื่องจากการรับรู้หรือการได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับความรุนแรงของการเจ็บครรภ์และความทรมานที่มารดาอาจได้รับจากการเจ็บครรภ์ก่อนที่จะเกิดการคลอดมีมานานและมีการบอกต่อกันในสังคมจนเกิดเป็นความเชื่อ แม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการลดความเจ็บปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดหลากหลายวิธี ได้แก่ การให้ยาแก้ปวด การใช้ยาระงับความรู้สึกฉีดเข้าบริเวณไขสันหลัง การนวดบริเวณหลัง การสร้างความผ่อนคลายให้แก่มารดาโดยการฟังเพลง การใช้กลิ่นหรือการเต้นเพื่อการผ่อนคลาย การคลอดในน้ำ และการฝังเข็ม อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า การที่มารดาได้รับยาแก้ปวดหรือการใช้ยาระงับความรู้สึกเข้าไขสันหลังมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยหากหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สามเดือนหลังคลอดราว 2 เท่าได้1 บุคลากรทางการแพทย์ควรสร้างความเข้าใจให้กับมารดาให้รับรู้ถึงข้อมูลเหล่านี้ แต่ก็ไม่ควรลืมหรือละเลยที่จะอธิบายถึงทางเลือกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดให้กับมารดาเพื่อสร้างความเข้าใจ เนื่องจากหากมารดามีความวิตกกังวลหรือความเครียดในระหว่างการคลอดมากย่อมเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. O’Connor M, Allen J, Kelly J, Gao Y, Kildea S. Predictors of breastfeeding exclusivity and duration in a hospital without Baby Friendly Hospital Initiative accreditation: A prospective cohort study. Women Birth 2018;31:319-24.

ทักษะในการดูแลการคลอดมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นับเป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญ เพราะหากมารดาสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดจะมีผลดีต่อระยะเวลาและอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า นโยบายของสถานพยาบาลและการให้การดูแลระหว่างการคลอดที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว โดยในสถานพยาบาลที่มีนโยบายส่งเสริมสายสัมพันธ์แม่ลูก จะมีนโยบายที่เอื้อต่อให้มารดาและบุคลากรสามารถจะบรรลุความตั้งใจและประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ทักษะในการดูแลมารดาและทารกในระหว่างการคลอดก็มีความสำคัญเช่นกัน1 เพราะหากบุคลากรมีทักษะที่ดี ก็จะทำให้การเริ่มต้นการให้นมลูกประสบความสำเร็จและปราศจากอุปสรรคที่ขาดขวางการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Oakley L, Benova L, Macleod D, Lynch CA, Campbell OMR. Early breastfeeding practices: Descriptive analysis of recent Demographic and Health Surveys. Matern Child Nutr 2018;14:e12535.

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัชบ้ากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้ ในขณะที่สังคมไทย การควบคุม ดูแล จำกัดโรคพิษสุนัขบ้ายังกระทำได้โดนลำบาก เนื่องจากมีการขาดการดูแลสุนัขจรจัดและยังการให้อาหารโดยไม่มีการรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของ ดังนั้น จะเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในแต่ละปียังมีจำนวนที่สม่ำเสมอ ขณะที่บางปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากการถูกกัดหรือได้รับบาดแผลจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ที่ถูกกัดตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ จะเกิดความวิตกกังวลว่าจะมีผลเสียต่อทารกหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังการถูกกัดในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรในเวียดนามในปี 2558 พบมารดาที่ตั้งครรภ์จำนวน 4 ราย และมารดาที่ให้นมบุตรจำนวน 2 รายได้รับการให้ยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ทั้งหมดเสียชีวิต โดยเชื่อว่าการลังเลหรือล่าช้าในการรักษาน่าจะเป็นสาเหตุทำให้มารดาที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรเสียชีวิต ดังนั้น การให้ยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังเป็นข้อแนะนำ แต่เนื่องจากหลักฐานข้อมูลที่มียังมีความจำกัด การติดตามเก็บข้อมูลที่เพียงพอเพื่อให้ได้ข้อสรุปยังมีความจำเป็นในอนาคต

1เอกสารอ้างอิง

  1. Nguyen HTT, Tran CH, Dang AD, et al. Rabies Vaccine Hesitancy and Deaths Among Pregnant and Breastfeeding Women – Vietnam, 2015-2016. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2018;67:250-2.