คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ความสำคัญของความรู้เรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    บุคลากรทางการแพทย์นับเป็นกลไกที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม บุคลากรทำหน้าที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันยังขาดความรู้ที่เพียงพอที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลให้ขาดความมั่นใจ และนำไปสู่การปฏิเสธหรือไม่มีความยินดีที่จะให้คำปรึกษาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าการจัดหลักสูตรหรือการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยยนมแม่ได้1 ประเทศไทยในปัจจุบันมีหลักสูตรเฉพาะทางเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 เดือนของพยาบาล แต่สถาบันที่ทำหน้าที่จัดหลักสูตรหรืออบรมพัฒนาความรู้เรื่องนมแม่ยังมีจำกัด ขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจเกี่ยวกับการอบรมหรือพัฒนาตนเองในเรื่องนี้มีจำนวนมากในแต่ละปี จึงสมควรมีนโยบายในการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดกระบวนการที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และมีความมั่นใจที่จะช่วยให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่บรรลุตามเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายไว้คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประชากรของทั่วโลก ควรมีอัตราร้อยละ 50

เอกสารอ้างอิง

  1. Yang SF, Salamonson Y, Burns E, Schmied V. Breastfeeding knowledge and attitudes of health professional students: a systematic review. Int Breastfeed J 2018;13:8.

บรรยากาศและการฟังเทปสมาธิลดความเครียดระหว่างการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ความเครียดมีผลเสียต่อการให้นมบุตร เนื่องจากจะมีผลลดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่จะช่วยให้การหลั่งไหลของน้ำนมระหว่างทารกดูดนมนั้นง่ายขึ้น ดังนั้น  การลดหรือป้องกันอาการเครียดของมารดาย่อมส่งผลที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงวิธีการที่จะช่วยลดความเครียดของมารดาในระหว่างให้นมลูก พบว่า การฟังเทปช่วยเรื่องสมาธิ การเปิดเพลงที่ผ่อนคลาย และ/หรือการสร้างบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น สบาย แสงสว่างที่พอเหมาะ ไม่สว่างจ้าจนเกินไป จะช่วยลดความเครียดให้กับมารดาระหว่างการให้นมบุตรได้1 จะเห็นว่า หลาย ๆ รูปแบบที่มีส่วนช่วยให้มารดาผ่อนคลายล้วนมีส่วนช่วยให้การให้นมลูกทำได้ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับมารดาและครอบครัว เพื่อร่วมกันช่วยสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีและสร้างครอบครัวที่เป็นมิตรต่อการให้นมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Yu J, Wells J, Wei Z, Fewtrell M. Randomized Trial Comparing the Physiological and Psychological Effects of Different Relaxation Interventions in Chinese Women Breastfeeding Their Healthy Term Infant. Breastfeed Med 2018.

 

การใช้แก๊สดมสลบและลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดไม่มีผลเสียต่อการให้ลูกกินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้ยาระงับความเจ็บปวดระหว่างการคลอดจะมีผลเสียต่อการให้นมแม่ในระยะหลังคลอดโดยมีผลต่อมารดาและทารก ซึ่งยากลุ่มที่ใช้ระงับความเจ็บปวดระหว่างการคลอดที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยากลุ่มมอร์ฟีนที่จะมีฤทธิ์ทำให้มารดาง่วงซึม อ่อนเพลีย และคลื่นไส้อาเจียนได้ และยังมีผลต่อทารกโดยทำอาจกดการหายใจของทารกหากให้ในระยะใกล้คลอดมากหรืออาจพบมีการง่วงซึมของทารกได้ ซึ่งผลเหล่านี้จะทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นเกิดขึ้นด้วยความลำบาก หรือทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจะศึกษาถึงยาระงับความรู้สึกหรือยาลดความเจ็บปวดที่ไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาการใช้แก๊สดมสลบ (Nitrous oxide) เพื่อระงับความสึกและลดความเจ็บปวดในระหว่างการคลอด ผลการศึกษาการใช้แก๊สดมสลบและลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดสามารถช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดได้ดี ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพของจิดใจของมารดา และเมื่อติดตามผลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังการใช้พบว่า มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี1 การใช้แก๊สดมสลบและระงับความรู้สึกจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ลดความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดในมารดาที่มีความรู้สึกเจ็บปวดมากในระหว่างการคลอด ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดจะช่วยสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Volpe F, Parotto M, Giiberti L, Selmin A, Straface G. Nitrous oxide labor analgesia and pain relief memory in breastfeeding women. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:3243-8.

 

 

 

อาหารมารดาที่ดีช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพัฒนาการระบบประสาทของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้ว่าในภาวะที่มีการขาดแคลนหรือวิกฤตภัย การให้ทารกได้กินนมแม่จะมีประโยชน์ ปลอดภัย และป้องกันการเสียชีวิตของทารกได้ ซึ่งหากวิกฤตภัยเกิดขึ้นไม่นานจนทำให้มารดาเกิดการขาดสารอาหารเรื้อรัง จะไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมของมารดา อย่างไรก็ตาม คุณค่าและคุณภาพของน้ำนมแม่ยังมีส่วนที่ขึ้นอยู่กับโภชนาการหรืออาหารของมารดาว่ามีการรับประทานอย่างสมดุลย์หรือเหมาะสมหรือไม่ มีการศึกษาถึงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการจัดรูปแบบการอบรมให้ความรู้เรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสมสำหรับมารดาในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอด พบว่าส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และเมื่อติดตามดูพัฒนาการของทารกที่มารดาได้รับการแนะนำในเรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด พบว่าทารกที่มารดาได้รับคำแนะนำในการดูแลให้ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด เมื่อมีการประเมินผลด้านพัฒนาการที่อายุสองปีครึ่ง ทารกจะมีพัฒนาการของระบบประสาทที่ดีมากกว่า1 ดังนั้น การให้ความรู้และแนวทางในการดูแลเรื่องอาหารที่เหมาะสมแก่มารดาในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอดจึงมีความสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและส่งเสริมให้มีการจัดเนื้อหาในเรื่องเหล่านี้ในการดูแลมารดา เพื่อให้มารดามีความสมบูรณ์พร้อมที่จะให้น้ำนมที่ดี มีสารอาหารที่ครบถ้วนที่ส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก และเพื่อช่วยสร้างต้นทุนของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ดีให้กับประเทศชาติ

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhang Z, Tran NT, Nguyen TS, et al. Impact of maternal nutritional supplementation in conjunction with a breastfeeding support program during the last trimester to 12 weeks postpartum on breastfeeding practices and child development at 30 months old. PLoS One 2018;13:e0200519.

จริงหรือไม่จริงที่ว่า การใช้จุกนมหลอกหรือการดูดนมจากขวดนมเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่เข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่ว่า การใช้จุกนมหลอก (pacifier) และการให้ทารกดูดนมจากขวดนม (bottle nipple) เกิดผลเสียต่อการให้ทารกกินนมแม่ เนื่องจากความวิตกกังวลว่าทารกอาจมีอาการสับสนระหว่างกลไกการดูดนมแม่จากเต้าและกลไกการดูดนมจากขวดนม ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยการเริ่มให้ทารกดูดนมจากขวดนมก่อน ทารกจะคุ้นเคยกับความง่ายในการดูดนมจากขวดนม และต้องใช้เวลาปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูดนมเพื่อปรับมาดูดนมจากเต้านมของมารดาในกรณีใช้จุกนมหลอก ทารกจะดูดจุกนมหลอกที่ไม่มีการได้น้ำนมจากการดูด ทารกที่คุ้นเคยกับการดูดเต้านมหลอก อาจไม่ยอมดูดหรือดูดนมน้อยลงเมื่อดูดนมจากเต้า โดยหากร่วมกับการให้ดูดนมจากขวดนมก่อนร่วมด้วยแล้ว ทารกอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับดูดนมแม่มากขึ้น ซึ่งผลที่พบและคำอธิบายเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดในการศึกษาในกลุ่มทารกที่คลอดปกติปราศจากภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากกลไกการดูดนมแม่จากเต้านั้นมีความซับซ้อน ทารกต้องมีความสมบูรณ์ของกลไกระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่รองรับ ได้แก่ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของเส้นประสาทสมอง 5 เส้น ส่วนประสาทจากส่วนไขสันหลังในหลายส่วน และกล้ามเนื้อ 30 คู่ที่ดูแลเกี่ยวกับทำงานในช่องปาก คอหอย กล่องเสียง และการหายใจ1 ดังนั้น ข้อสรุปที่ดูว่าจะเกิดผลเสียอาจไม่สามารถเหมารวมในทารกทุกกลุ่ม เช่น การใช้จุกนมหลอกอาจใช้เพื่อฝึกทารกให้ระบบการทำงานของทารกในการดูดนมยังไม่มีความพร้อม โดยให้ทารกดูดจุกนมหลอกที่ยังไม่ได้เริ่มให้สารอาหาร (nonnutritive sucking) ก่อนการดูดนมจากเต้าจริง1 เป็นต้น การศึกษาถึงประโยชน์ของจุกนมหลอกหรือการดูดนมจากขวดนมในเฉพาะกลุ่มทารกที่ยังขาดความพร้อมหรือมีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อในด้านต่าง ๆ จึงยังมีความต้องการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Zimmerman E. Pacifier and bottle nipples: the targets for poor breastfeeding outcomes. J Pediatr (Rio J) 2018;94:571-3.