คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

การใช้เครื่องปั๊มนมช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันมีค่านิยมในการใช้เครื่องปั๊มนมกันเป็นอย่างมาก ซึ่งการใช้เครื่องปั๊มนมอาจจะดูว่าเป็นส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่โดยหลักทั่วไปหากมารดาไม่ได้มีการแยกจากทารก การให้ทารกดูดนมจากเต้ามารดาโดยตรง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในกรณีที่มารดาเลือกที่จะใช้เครื่องปั๊มนม มีการศึกษาถึงผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่า การปั๊มนมไม่ได้มีผลต่อการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ทำอยู่แล้วและไม่มีผลต่อเป้าหมายของระยะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้ถึงหลักของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากเต้าก่อน และหากมีความจำเป็นที่มารดาต้องทำงานหรือแยกจากทารก การปั๊มนมจึงจะมีบทบาท โดยไม่ควรมีค่านิยมในการปั๊มหรือเก็บนมแม่แข่งขันหรือเปรียบเทียบกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Fewtrell MS, Kennedy K, Lukoyanova O, et al. Short-term efficacy of two breast pumps and impact on breastfeeding outcomes at 6 months in exclusively breastfeeding mothers: a randomised trial. Matern Child Nutr 2019:e12779.

 

 

 

การใช้ยาเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การดูแลการคลอดในปัจจุบันจะดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์และคลอดตามความเสี่ยงและจะมีการวางแผนการคลอด ซึ่งส่วนใหญ่มักให้คลอดไม่เกินกำหนดของการคลอด ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการกระตุ้นการคลอดด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นหรือเร่งการคลอดที่ใช้บ่อย ได้แก่ ออกซิโทซิน โดยที่ออกซิโทซินที่ใช้กระตุ้นการคลอดจะเป็นออกซิโทซินสังเคราะห์ แม้ว่าในร่างกายของมารดาจะมีฮอร์โมนออกซิโทซินอยู่แล้ว ซึ่งออกซิโทซินในร่างกายของมารดาจะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการคลอดและการดูดนมแม่ของทารก ดังนั้น อาจจะมีข้อคำถามหรือความสงสัยว่าการให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการคลอดหรือเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ มีการศึกษาเพื่อตอบคำถามนี้พบว่า การให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการคลอดไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 แต่หากมารดาจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด ปัจจัยเรื่องการผ่าตัดคลอดจะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่ามารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จากข้อมูลนี้ ในมารดาที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะได้การให้ข้อมูลถึงผลของการใช้ยากระตุ้นคลอดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากมารดามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องกระตุ้นคลอด เพื่อเป็นการลดความวิตกกังวลหรือความเครียดของมารดาและครอบครัวที่อาจไปมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Fernandez-Canadas Morillo A, Duran Duque M, Hernandez Lopez AB, et al. Cessation of breastfeeding in association with oxytocin administration and type of birth. A prospective cohort study. Women Birth 2019;32:e43-e8.

ปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า การคลอดในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดามีโอกาสมากกว่าที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ แต่กระบวนการที่จะสนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจที่จะรณรงณ์ให้เกิดการขับเคลื่อนของการสนับสนุนให้มีระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกควรทำความเข้าใจ1 ได้แก่

  • ปัจจัยเกี่ยวกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ที่สำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
  • ปัจจัยความท้าทายเชิงระบบ การเดินทาง และการเข้าถึงข้อมูลที่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก
  • ปัจจัยในการวางตำแหน่งผู้นำนโยบายอย่างเหมาะสมที่จะเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติทำได้ดีและสะดวก
  • ปัจจัยเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของคณะทำงาน
  • ปัจจัยในการเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม  

             การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในสถานที่จริงที่ต้องการนำระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมาใช้โดยตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้สามารถสร้างแนวทางการรณรงค์ที่ส่งเสริมความสำเร็จของการสร้างระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Carroll G, Atuobi-Yeboah A, Hromi-Fiedler A, Aryeetey R, Safon C, Perez-Escamilla R. Factors influencing the implementation of the becoming breastfeeding friendly initiative in Ghana. Matern Child Nutr 2019:e12787.

 

คอร์ติซอลในมารดาสัมพันธ์กับภาวะเครียดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความเครียดของมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ว่าจะเป็นความเครียดในระยะฝากครรภ์ ระยะคลอด หรือหลังคลอด การที่จะทราบว่ามารดามีภาวะเครียดนั้นส่วนใหญ่จะได้จากการซักประวัติหรือการทำแบบคัดกรองภาวะเครียด แต่หากสนใจถึงกลไกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในสภาวะเครียดจะพบว่าฮอร์โมนคอร์ติซอลจะมีความสัมพันธ์กับภาวะเครียด จึงมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าระดับของคอร์ติซอลในมารดามีความสัมพันธ์กับภาวะเครียดในมารดาและมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ จากการศึกษาพบว่า มารดาที่มีภาวะเครียดจะมีความสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เปลี่ยนแปลงและเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การศึกษากลไกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่สะท้อนภาวะเครียดของมารดาอาจเป็นพื้นฐานในการนำระดับคอร์ติซอลมาเป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองภาวะเครียดของมารดาก็ได้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Bublitz MH, Bourjeily G, Bilodeau C, Stroud LR. Maternal circadian cortisol mediates the link between prenatal distress and breastfeeding. Stress 2019:1-7.

 

 

 

ปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีควรเริ่มทันทีหลังคลอดหากมารดาและทารกไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเริ่มจากการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ทารกปรับตัวอยู่บนอกมารดา คืบคลานเข้าหาเต้านม และเริ่มการดูดนม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ซึ่งการปฏิบัติได้ตามเวลาภายใน 1 ชั่วโมงแรกจะช่วยส่งเสริม เพิ่มอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ มีการศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีพบว่า การคลอดที่สถานพยาบาลที่สนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการให้ความรู้เรื่องนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ สนับสนุนให้มารดาคลอดปกติทางช่องคลอด และลดหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด1 สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีที่จะทำให้การเริ่มต้นการกินนมแม่เกิดภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดและจะเป็นผลส่งต่อถึงการช่วยเพิ่มอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกดัวยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Belachew A. Timely initiation of breastfeeding and associated factors among mothers of infants age 0-6 months old in Bahir Dar City, Northwest, Ethiopia, 2017: a community based cross-sectional study. Int Breastfeed J 2019;14:5.