คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

หมอเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ขณะนั่งทบทวนอ่านบทความและรายงานวิจัย ก็เกิดคำถามอย่างหนึ่งคือ อาชีพแพทย์หรือหมอที่มีความรู้เรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพเป็นอย่างดี และทราบถึงคุณค่าและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในการปฏิบัติ จริง ๆ แล้วหมอสามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกได้มากน้อยแค่ไหน ลองค้นช้อมูลในการศึกษาในประเทศไทยพบว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงค้นในวิจัยต่างประเทศโดยเป็นการศึกษาในประเทศตรุกีพบว่า แพทย์มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้นานเฉลี่ย 4.8 เดือนและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องได้นานเฉลี่ย 15.8 เดือน ปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลุกด้วยนมแม่คือ การกลับไปทำงานและอยู่เวรของแพทย์ และการขาดสิ่งที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน นอกจากนี้ จากข้อมูลในรายงาน พบร้อยละ 43.6 ของแพทย์ที่ไม่สามารถใช้สิทธิการลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มที่1 โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าจะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูง แต่ก็ยังมีอุปสรรคในเรื่องการงานและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน ดังนั้น การที่จะช่วยให้แพทย์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นจำเป็นต้องมีนโยบายการสนับสนุนให้แพทย์ลาพักสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้โดยลดปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์ที่ต้องรีบกลับมาปฏิบัติงานทั้ง ๆ ที่ยังลาพักไม่ครบ และการสนับสนุนให้โรงพยาบาลมีห้องพร้อมอุปกรณ์ที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์สามารถจะใช้บีบหรือปั๊มเก็บนมแม่ได้อย่างสะดวกและมีความเพียงพอ      

เอกสารอ้างอิง

1.        Ersen G, Kasim I, Agadayi E, Demir Alsancak A, Sengezer T, Ozkara A. Factors Affecting the Behavior and Duration of Breastfeeding Among Physician Mothers. J Hum Lact 2020:890334419892257.

การให้อาหารเสริมทารกเร็วอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้ทารกกินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น เหตุผลอย่างหนึ่งในการอธิบายเรื่องนี้ คือ ทารกที่กินนมแม่จะควบคุมการกินอาหารได้ดีกว่าทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงคำอธิบายอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยพบว่า แบคทีเรียในลำไส้จะมีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกายของทารกเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น1 ซึ่งลักษณะของแบคทีเรียในลำไส้จะมีความสัมพันธ์กับการกินนมแม่และการเริ่มให้อาหารเสริมแก่ทารก ซึ่งหากมีการให้อาหารเสริมแก่ทารกเร็วก่อนทารกอายุ 4 เดือนจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้ ดังนั้น การที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในทารก ควรแนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน แล้วจึงให้อาหารเสริมตามวัยแก่ทารก

เอกสารอ้างอิง

1.            Differding MK, Doyon M, Bouchard L, et al. Potential interaction between timing of infant complementary feeding and breastfeeding duration in determination of early childhood gut microbiota composition and BMI. Pediatr Obes 2020:e12642.

ทักษะในการให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

 การให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวมีความสำคัญ ซึ่งหากบุคลากรทางการแพทย์ขาดความเชื่อมั่นในการให้คำปรึกษาก็จะมีผลต่อการตัดสินใจและการดูแลให้ทารกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง การจัดการอบรมให้ความรู้ และการฝึกให้บุคลากรมีทักษะในการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยเสริมพลังและสร้างความมั่นใจในการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี1 ซึ่งจะเป็นข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากในพื้นที่ที่มารดาอยู่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ AFASS ขององค์การอนามัยโลกได้ ซึ่งย่อมาจาก Acceptable, Feasible, Affordable, Sustainable และ Safe คือ การมีนมผงดัดแปลงที่เหมาะสมยอมรับได้สำหรับทารก และมีความเป็นไปได้ที่จะจัดหาเพียงพอโดยสามารถเตรียมนมชงได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรูปแบบการเรียนในปัจจุบัน การเรียนการสอนออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น จึงควรมีการศึกษาถึงวิธีที่จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพดีและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้

เอกสารอ้างอิง

1.            Doherty T, Horwood C, Haskins L, et al. Breastfeeding advice for reality: Women’s perspectives on primary care support in South Africa. Matern Child Nutr 2020;16:e12877.

ภาวะลิ้นติดเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ความตื่นตัวในเรื่องภาวะลิ้นติดเริ่มมีในหลายประเทศ ซึ่งล่าสุดมีการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศบราซิล โดยพบอุบัติการณ์ของภาวะลิ้นติดร้อยละ 2.6-11.7 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการวินิจฉัย และพบว่าภาวะลิ้นติดมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยากขึ้นประมาณ 2 เท่า1 สำหรับในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ร้อยละ 13.4  ซึ่งจะพบทารกที่มีการเข้าเต้ายากในกลู่มที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางถึงรุนแรงที่พบประมาณครึ่งหนึ่งของอุบัติการณ์2  โดยหากมีการให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและทารกอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้                                                                                                                                                 

เอกสารอ้างอิง

1.            do Rego Barros de Andrade Fraga M, Azoubel Barreto K, Barbosa Lira TC, Aparecida de Menezes V. Is the Occurrence of Ankyloglossia in Newborns Associated with Breastfeeding Difficulties? Breastfeed Med 2020;15:96-102.

2.            Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในยุคที่มารดาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปการแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขององค์การอนามัยโลกคือ แนะนำให้นมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกหลังคลอด จากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาหรือทารก ขณะที่การลาพักหลังคลอดของข้าราชการ ลูกจ้างหรือกลุ่มแรงงานจะลาพักหลังคลอดได้โดยมีการจ่ายเงินเดือน 90 วัน โดยขณะที่มารดามีความจำเป็นต้องกลับมาทำงานยังอยู่ในช่วงที่แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว ดังนั้น หากในครอบครัวขาดคนที่จะช่วยเหลือดูแลให้ทารกกินนมแม่ที่ได้จากการบีบเก็บหรือปั๊มนม การที่มารดาต้องนำทารกไปฝากคนอื่นดูแลหรือฝากศูนย์เด็กเล็ก ส่วนใหญ่ทารกจะได้รับการป้อนนมจากนมผงดัดแปลงสำหรับทารก  ดังนั้น ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมควรร่วมกันสื่อสาร จัดนโยบายและระบบให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 เพื่อให้ทารกได้รับประโยชน์สูงสุดจากการได้กินนมแม่ที่เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับทารก                                                                                                                                                                  

เอกสารอ้างอิง

1.            Dieterich R, Caplan E, Yang J, Demirci J. Integrative Review of Breastfeeding Support and Related Practices in Child Care Centers. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2020;49:5-15.