คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

พบเชื้อโควิด 19 ในนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในช่วงระยะตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 สถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคยังคงแนะนำให้มารดาที่มีการติดเชื้อโควิด 19 สามารถให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยอาจจะเลือกให้ทารกกินนมแม่จากเต้า หรือใช้การบีบหรือปั๊มนมแล้วนำมาให้ทารก โดยมารดาต้องมีการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือและดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้น้ำนมให้มีความสะอาดปราศจากเชื้อ เนื่องจากยังไม่พบว่ามีข้อมูลการตรวจพบเชื้อโควิดในนมแม่ แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีรายงานการตรวจพบเชื้อโควิดในนมแม่ในมารดาที่มีการติดเชื้อโควิด ซึ่งพบในช่วงสัปดาห์ที่สองของการให้นม1 ขณะนี้จึงเกิดคำถามว่า “หากมีการพบเชื้อโควิดในนมแม่แล้ว มารดายังสามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไปได้หรือไม่?”

คำตอบในเรื่องนี้ คงต้องใช้หลักเปรียบเทียบประโยชน์ของการที่ทารกได้กินนมแม่ เทียบกับความเสี่ยงของทารกที่จะเกิดอันตรายจากการติดเชื้อโควิด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโรคที่เรามีข้อมูลที่มากกว่าสองโรค คือ ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี และมารดาที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งหากแนวโน้มของข้อมูลเป็น

ในกรณีแรกเหมือนมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี จากข้อมูลของการติดเชื้อเอชไอวี ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น การแนะนำจึงแนะนำให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหากอยู่ในพื้นที่ที่สามารถจัดหานงผงได้เพียงพอ ต่อเนื่อง และมีการเตรียมนมผงได้โดยปลอดภัย แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถจัดหานมผงได้อย่างเหมาะสม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็สามารถทำได้

ในกรณีที่สองเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบี จากข้อมูลของไวรัสตับอักเสบบี การที่ให้ทารกกินนมแม่หรือกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การติดเชื้อที่พบในทารกไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ยังคงแนะนำให้ทารกกินนมแม่แม้มารดาเป็นภาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในนมแม่

ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมอาจต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เรามีความเข้าใจในเรื่องของโรคและการติดเชื้อสู่ทารกมากขึ้น แต่ขณะนี้ การแนะนำการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกในพื้นที่ที่สามารถจัดหานมผงได้อย่างเหมาะสมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องให้ข้อมูลเหล่านี้แก่มารดาและครอบครัวเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน และเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ลักษณะของโรคเพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลมารดาและทารกได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.        Gross R, Conzelmann C, Muller JA, et al. Detection of SARS-CoV-2 in human breastmilk. Lancet 2020.

อารมณ์ที่ผิดปกติของมารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระหว่างการตั้งครรภ์มารดาอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายได้ แต่หากมารดามีความผิดปกติทางอารมณ์มาก จะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ สอบถามมารดาเกี่ยวกับอารมณ์ของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์จึงมีส่วนสำคัญในการทำนายถึงความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และทำนายการเกิดภาวะหลังคลอดได้ ซึ่งในมารดาที่มีความเสี่ยงสูงการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับมารดาร่วมกับการเอาใจใส่ของครอบครัวจะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ด้วยดี โดยยังคงประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยในเรื่องการศึกษาของมารดามีผลต่อความสัมพันธ์เหล่านี้1 โดยมารดาที่มีการศึกษาสูงจะไม่พบความสัมพันธ์ของความผิดปกติทางอารมณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจเป็นเพราะการศึกษาอาจมีผลต่อการปรับตัวของมารดาที่เหมาะสมกว่า และมีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Farias-Antunez S, Santos IS, Matijasevich A, de Barros AJD. Maternal mood symptoms in pregnancy and postpartum depression: association with exclusive breastfeeding in a population-based birth cohort. Soc Psychiatry Psychiatr Epidemiol 2020;55:635-43.

ปัจจัยอะไรในระหว่างการคลอดที่ทำให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เป็นที่ทราบกันดีว่า การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะส่งผลดีต่ออัตราและความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วปัจจัยอะไรที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยในระหว่างการคลอดที่มีความสำคัญและพบเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกคือ การผ่าตัดคลอดและการให้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน1 ซึ่งในปัจจุบันพบมีการผ่าตัดคลอดในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น ดังนั้น ควรมีการลดการผ่าตัดคลอด ซึ่งส่วนหนึ่งต้องให้ความรู้ถึงความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดและให้คำปรึกษาถึงข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดแก่มารดา ครอบครัว รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี สำหรับการลดการใช้ยาแก้ปวดในระหว่างการคลอด จำเป็นต้องให้มารดาทราบถึงผลเสียของการใช้ยาแก้ปวด และทางเลือกในการลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยหากลดอุปสรรคเหล่านี้ได้ ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มีการเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปในขณะเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

1.            Fan HSL, Wong JYH, Fong DYT, Lok KYW, Tarrant M. Association Between Intrapartum Factors and the Time to Breastfeeding Initiation. Breastfeed Med 2020.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่ติดเชื้อซิกาแต่กำเนิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การติดเชื้อซิกาได้มีการระบาดมาช่วงหนึ่งแล้ว ซึ่งจะเริ่มจากทวีปแถบแอฟริกาและมีการแพร่ระบาดมาในหลายประเทศ โดยหากมีการติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์สามารถเกิดการติดเชื้อจากมารดาไปสู่ทารกได้ ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติในทารก (congenital Zika syndrome) ซึ่งจะพบทารกมีศีรษะเล็ก (microcephaly) ทารกมีความยากลำบากในการดูดหรือการกลืนนม และพบทารกมีการสำรอกนมจากความผิดปกติของหูรูดกระเพาะที่ต่อกับหลอดอาหาร (gastroesophageal reflux)  ดังนั้นจึงส่งผลต่อการกินนม โดยมีการศึกษาพบว่าทารกที่ติดเชื้อซิกาแต่กำเนิดพบมีภาวะศีรษะเล็กรุนแรงร้อยละ 59.7 พบปัญหาการดูดลำบากร้อยละ 27.8 พบปัญหาการกลืนลำบากร้อยละ 48.0 พบปัญหาการสำรอกนมจากความผิดปกติของหูรูดกระเพาะที่ต่อกับหลอดอาหารร้อยละ 29.2  อย่างไรก็ตาม ทารกที่ติดเชื้อซิกาแต่กำเนิดส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 89.9 สามารถกินนมแม่ได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด1 บุคลากรทางการแพทย์จึงควรให้คำปรึกษาในมารดาที่มีการติดเชื้อซิกาอย่างเหมาะสม และช่วยเหลือทารกในกรณีที่พบปัญหาในการดูด กลืน หรือสำรอกนมให้ทารกสามารถประสบความสำเร็จในการกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Fabia Cabral Cavalcanti A, Aguiar YPC, Oliveira Melo AS, Leite Cavalcanti A, D’Avila S. Breastfeeding Behavior in Brazilian Children with Congenital Zika Syndrome. Int J Dent 2020;2020:1078250.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับความผูกพันระหว่างมารดาและทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะส่งเสริมในเรื่องความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ซึ่งจะช่วยลดการทอดทิ้งทารกได้ โดยกลไกคำอธิบายเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนออกซิโตซิน ที่มีชื่อเล่นว่า love hormone หรือฮอร์โมนแห่งความรัก ซึ่งการดูดนมของทารกจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินและสร้างให้เกิดความรู้สึกผูกพันระหว่างมารดาและทารก ในทางกลับกัน เมื่อเกิดความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกแล้ว เมื่อมารดาคิดถึงลูก เห็นภาพลูก หรือได้กลิ่นลูก ก็จะมีผลกระตุ้นการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินจะมีบทบาทในการหลั่งน้ำนมด้วย ดังนั้น จึงอาจพบมารดามีน้ำนมไหลได้เมื่อมารดาคิดถึงลูก ซึ่งความสัมพันธ์ที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความผูกพันระหว่างมารดาและทารกมีการทบทวนการศึกษาอย่างเป็นระบบที่ยืนยันผลนี้1 โดยความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกจะทำให้มารดารู้สึกต้องปกป้องทารก ทำให้ทารกปลอดภัย และเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยดำรงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Linde K, Lehnig F, Nagl M, Kersting A. The association between breastfeeding and attachment: A systematic review. Midwifery 2020;81:102592.