คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ของครรภ์แฝด

IMG_1480

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ โดยภาวะครรภ์แฝดทำให้มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้หลายอย่าง ได้แก่ อาการแพ้ที่อาจพบรุนแรงมากกว่า ท้องใหญ่มากกว่าทำให้มารดาอึดอัด พบภาวะเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด รกเกาะต่ำ ทารกน้ำหนักตัวน้อยได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการคลอด โดยพบว่าต้องมีการผ่าตัดทำคลอดสูงกว่าครรภ์ปกติ และหลังคลอด ยังพบความเสี่ยงในการตกเลือดหลังคลอดได้มากกว่าด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลและเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์ในมารดาครรภ์แฝดมีความสำคัญและยังมีความจำเป็น แม้ว่ามีการศึกษาว่าอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดก็ตาม1 เนื่องจากการให้คำปรึกษา จะทำให้มารดาทราบถึงภาวะแทรกซ้อนที่พบมากกว่า ทำให้การเตรียมตัวเตรียมใจของมารดาทำได้ดีกว่า แม้ว่าหากเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ต้องแยกจากทารก คือ ทารกอาจจำเป็นต้องเข้าตู้อบและเลี้ยงดูอยู่ที่หอทารกแรกเกิดวิกฤต อย่างน้อยการเตรียมพร้อมของมารดาก็ทำให้มารดาเผชิญหน้ากับภาวะแทรกซ้อนที่พบและมีความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความเข้าใจ ลดความเครียด และปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากภาวะแทรกซ้อนของครรภ์แฝดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mikami FC, de Lourdes Brizot M, Tase TH, Saccuman E, Vieira Francisco RP, Zugaib M. Effect of Prenatal Counseling on Breastfeeding Rates in Mothers of Twins. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2017.

 

การอยู่ในชุมชนชนบทอาจจะผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3515

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?สังคมเมืองกับสังคมในชนบทมีความแตกต่างกัน โดยในสังคมเมืองมักมีการแข่งขันกันมาก ค่าครองชีพสูง สตรีต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้น ทำงานทั้งในและนอกบ้าน โดยต้องมีส่วนในการรับผิดชอบในการช่วยหารายได้มากขึ้นและต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งมีผลทำให้ต้องแยกจากทารกและเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะที่สตรีที่อยู่ในชนบท มักทำงานอยู่กับบ้าน ทำอาชีพเกษตรกรรม หรือทำกิจการที่เป็นส่วนตัว ไม่ได้รับจ้างหรือเป็นลูกจ้างที่ต้องเข้าทำงานตามเวลาที่มีเวลาในการลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูกจำกัด ทำให้ขาดอิสระในการที่จะให้เวลาอยู่กับลูกและให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การใช้ชีวิตในชนบทที่มีลักษณะ slow life อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Mehta AR, Panneer S, Ghosh-Jerath S, Racine EF. Factors Associated With Extended Breastfeeding in India. J Hum Lact 2017;33:140-8.

นมแม่มีผลดีต่อทารกที่แพ้โปรตีนนมวัว

IMG_1663

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?มารดาบางคนอาจมีความสงสัยว่า หากทารกมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวจะกินนมแม่ได้หรือไม่ มีการศึกษการกินนมแม่อย่างเดียวของทารกที่มีอาการแพ้โปรตีนนมวัว สามารถกินได้ โดยการกินนมแม่อย่างเดียวจะช่วยลดและป้องกันการแพ้โปรตีนนมวัวได้1 ซึ่งสิ่งนี้ น่าจะบ่งบอกและชี้ชัดว่า นมแม่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้เลี้ยงดูทารกแรกเกิดมากที่สุด แม้ในทารกที่มีภูมิแพ้ นมแม่ก็ช่วยลดอาการและความรุนแรงลงได้ ดังนั้น ในทารกที่มีประวัติหรือความเสี่ยงที่จะเป็นภูมิแพ้ การที่มารดาเลือกที่จะให้ลูกได้กินนมแม่จึงเสมือนการให้วัคซีนที่ป้องกันและลดความเสี่ยงที่เกิดภูมิแพ้ในลูก นอกจากจะให้สารอาหารที่ครบถ้วน ความเฉลียวฉลาด และพัฒนาการที่ดีที่สุดแล้ว นั่นคือ การหวนกลับสู่ธรรมชาติที่ลูกก็ควรจะกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและต่อเนื่องนานเท่านานเท่าที่พึงพอใจ ตามพื้นฐานของมนุษย์ที่ยังเป็นประเภทหนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เอกสารอ้างอิง

  1. Manti S, Lougaris V, Cuppari C, et al. Breastfeeding and IL-10 levels in children affected by cow’s milk protein allergy: A restrospective study. Immunobiology 2017;222:358-62.

ภาพลักษณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสายตาผู้ชาย

img_2132

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ภาพลักษณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมุมมองของแต่ละคนจะสะท้อนทัศนคติที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย มีการศึกษาถึงภาพลักษณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของผู้ชายในสังคมอเมริกัน ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมีภาพลักษณ์ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำกัดอยู่ที่บ้านในที่ส่วนตัว ส่วนน้อยที่มีความเห็นว่าสามารถให้ในที่สาธารณะได้1 สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการสนับสนุนต่อมุมมองหรือทัศนคติของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่สาธารณะและการที่จะยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่แปลกหรือแตกต่าง ดังนั้น หากต้องการที่จะให้มารดาสามารถมีอิสระในการให้นมลูกในที่สาธารณะ ต้องมีการรณรงค์สร้างภาพลักษณ์หรือมุมมองของสังคมต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่จะช่วยสร้างค่านิยมที่ให้อิสระแก่มารดาที่จะให้นมลูกด้วยความสบายใจ ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะลดข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่มารดาต้องเผชิญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Magnusson BM, Thackeray CR, Van Wagenen SA, Davis SF, Richards R, Merrill RM. Perceptions of Public Breastfeeding Images and Their Association With Breastfeeding Knowledge and Attitudes Among an Internet Panel of Men Ages 21-44 in the United States. J Hum Lact 2017:890334416682002.

 

ร้านขายยาที่เป็นมิตรต่อนมแม่

IMG_1208

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?เราอาจทราบหรือรู้จักกันดีกับโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Baby friendly hospital ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการดูแลที่ส่งเสริมการคลอดที่มีความปลอดภัยของมารดาและการดูแลทารกที่คลอดให้มีคุณภาพ โดยจะรวมถึงการให้ทารกได้รับสารอาหารที่ดีและครบถ้วนหลังคลอดที่ได้แก่ การกินนมแม่ หลักเกณฑ์ในการประเมินการเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกในปัจจุบันจะรวมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เข้าไปด้วย ซึ่งสถานจะเป็นแกนหลักสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดากลับบ้านไปอยู่ในชุมชน เมื่อเจ็บป่วย การซื้อยาส่วนใหญ่ยังมีการซื้อยารับประทานกันเองจากร้านขายยา โดยหากปราศจากการไถ่ถามของเภสัชกร มารดาที่ให้นมบุตรอาจได้รับยาที่มีผลต่อการให้นมลูก โดยอาจทำให้น้ำนมลดลง ขณะที่ยาบางตัวอาจผ่านไปยังทารก ทำให้เกิดผลเสียต่อทารกทั้งผลทางตรง หรือผลทางอ้อมที่ทำให้ทารกง่วง ซึม หงุดหงิด หรือไม่ยอมดูดนม ดังนั้น การสร้างระบบร้านขายยาที่เป็นมิตรต่อทารกหรือเป็นมิตรต่อนมแม่(breastfeeding friendly pharmacies)1 ก็เป็นสิ่งที่ควรสร้างระบบให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีของมารดาและทารกที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Llewellyn R, Berger S, Carty S, Randall P, Jahnke K, Thompson L. Breastfeeding friendly pharmacies: a setting with potential. Aust N Z J Public Health 2017.